พัฒนาสมองทารกในครรภ์ ที่คุณแม่สามารถทำได้ด้วย เสียงเพลง
เป็นที่ทราบกันดีว่าเสียงดนตรีหรือเสียงเพลงนั้นสามารถช่วยให้ความผ่อนคลายและความเพลิดเพลินได้กับทุกช่วงวัย รวมถึงการช่วย พัฒนาสมองทารกในครรภ์ วันนี้ Hello คุณหมอ มีแนวทางมาแนะนำและความรู้ มาฝากคุณแม่ๆ ได้ไปลองทำกัน
การพัฒนาสมองทารกในครรภ์
ก่อนอื่นต้องพาคุณแม่มารู้จักกับส่วนต่างๆ ในสมองของทารกที่สำคัญกันก่อน ซึ่งประกอบไปด้วย
ซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมอง ทำหน้าที่ในเรื่องของการจดจำและรู้สึก ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งอยู่ใต้ซีรีบรัม ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันกับร่างกาย ก้านสมอง (Brainstem) ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง สมองใหญ่ กับ ไขสันหลัง ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) มีขนาดรูปร่างคล้ายกับถั่ว ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโต รวมถึงระบบการเผาผลาญอาหาร และอื่น ๆ ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก การนอนหลับ-ตื่น การหิว การอิ่ม
การพัฒนาสมองทารกในครรภ์ นั้นแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้
ไตรมาสแรก : หลังจากการปฏิสนธิ ทารกในครรภ์เริ่มพัฒนานิวรัล เพลต (neural plate) เป็นเนื้อเยื่อของตัวอ่อนชั้นนอกสุด ต่อมานิวรัล เพลต จะพับขึ้นและเกิดเป็นท่อเรียกว่า นิวรัล ทูบ (neural tube) จากนั้นจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ สมอง (อยู่ด้านหัว) และไขสันหลัง ที่(อยู่ด้านหาง) สมองจะถูกพัฒนาเป็นสมองส่วนหน้า และก้านสมอง ขณะเดียวกันเซลล์สมองของทารกมีการแบ่งตัวและถูกสร้างขึ้นเป็นล้านๆ เซลล์ เพื่อผลิตกล้ามเนื้อ แขน ขา ออกมา ส่งผลให้ทารกพัฒนาเรื่องของการสร้างประสาทสัมผัสในช่วงท้ายของไตรมาสแรก
ไตรมาสที่สอง : สมองของทารกจะควบคุมกระบังลมและการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าอกอย่างสม่ำเสมอเป็นการฝึกระบบหายใจ ในช่วงอายุครรภ์ 16 – 21 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดูดกลืนน้ำคล่ำ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยของคุณมีพัฒนาทางด้านการรับรส เมื่ออายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ ทารกสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ ลูกน้อยจะเริ่มเคลื่อนไหว ดิ้น หรือเตะท้องคุณเพื่อตอบสนองในสิ่งที่เขาได้ยินหรือรู้สึก ในช่วงปลายไตรมาสที่สองนี้ก้านสมองของทารกพัฒนาเกือบสมบูรณ์ ทำให้ทารกสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังจากภายนอกท้องของแม่ และสามารถหันหาเสียงของแม่ได้
ไตรมาสที่สาม : สมองของทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า และยังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเซลล์ประสาทและยิ่งไปกว่านั้นสมองของลูกน้อยที่เคยมีพื้นผิวเรียบกลับปรากฏรอยหยัก และเริ่มคล้ายกับรูปสมองที่เคยเห็นกัน นั่นเป็นสัญญาณที่บอกถึงความเฉลียวฉลาดของทารก ในขณะเดียวกันซีรีบลัมในสมองมีการพัฒนาไปพร้อมกันช่วยให้กระตุ้นในเรื่องของการจดจำ อารมณ์ ความรู้สึก การพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ยังขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร หลักโภชนาการ หรือการใช้ทักษะอื่นๆเสริม เช่น การเปิดเพลงในด้านภาษาให้ลูกน้อยได้จดจำ การพูดคุยให้รู้ถึงเสียงของพ่อและแม่ ตั้งแต่อยู่ในท้อง
เสียงเพลง มีผลดีอย่างไรต่อสมองของทารกในครรภ์
การเปิดเสียงดนตรีให้ลูกน้อยได้ฟังเป็นการช่วยพัฒนาสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และยังได้ผลดีเหล่านี้ตามมา
ทารกจะรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิ สงบขึ้น สามารถเพิ่มพัฒนาการด้านความจำ และลำดับความคิดทางสมองได้เป็นอย่างระเบียบ กระตุ้นการพัฒนาทางการได้ยินให้มีประสิทธิภาพ รับรู้ถึงสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น เสียงของคุณพ่อและคุณแม่
นักวิจัยท่านหนึ่งสังเกตว่าหลังจากลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว หากเปิดเพลงซ้ำกับที่เคยเปิดตอนยังอยู่ในครรภ์ ลูกน้อยจะแสดงถึงกิริยาคล้ายคลึงกับตอนที่เขาอยู่ในท้องของคุณแม่ เช่น อาการนิ่งสงบ แจ่มใส หลับง่าย เป็นการบ่งบอกถึงการพัฒนาของสมองที่มีต่อระบบความจำด้วย เสียงเพลง
เสียงเพลง แบบไหนที่ควรเปิดให้ลูกน้อยในครรภ์ฟัง
ในกลุ่มคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นิยมเปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงกล่อมเด็ก เพราะเสียงเพลงเหล่านี้มีความอ่อนโยน นุ่มนวล สามารถกล่อมลูกน้อยให้เคลิ้มหลับไปกับเสียงเพลง ไม่ดิ้นรุนแรงจนรบกวนคุณแม่ในขณะการพักผ่อนได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กเชื่อว่าการให้ทารกในครรภ์ฟังเสียงเพลงแนวคลาสสิก ยังสามารถกระตุ้นสมองของเขาในการเพิ่มไอคิว (IQ) และเสริมสร้างทางด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามฟังเพลงอื่นๆ คุณแม่ยังสามารถให้ลูกน้อยฟังเพลงที่คุณแม่อาจชอบได้ตามปกติ เพียงแต่ลดระดับเสียงให้อยู่ในระดับ 50-60 เดซิเบล หรือเทียบเท่ากับระดับเสียงพูดแบบปกติ เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนคลื่นเสียงที่ออกมาไปกระทบกับทารกในครรภ์
เคล็ดลับเพิ่มเติม สำหรับการดูแลทารกในครรภ์
คุณแม่ควรกำจัดความเครียดหรือลดความวิตกกังวลเพราะเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองของเด็กทารก ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เลือกอาหารที่สร้างเสริมสุขภาพและโภชนาการเพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือมลภาวะเป็นพิษ เช่น การย้อมผม สูดดมควันรถ ออกกำลังกายอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรออกกำลังกายผาดโผนหรือหนักจนเกินไปอาจทำให้คุณเกิดภาวะแท้งบุตรได้ พูดคุยกับลูกน้อยของคุณอยู่บ่อยๆ เพื่อกระตุ้นความจำ เสริมสร้างทักษะไอคิว (IQ) ด้วยการเปิดเพลงช้าๆ สบายๆ งดแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่สำหรับคุณแม่สายปาร์ตี้
Hello Health Groupไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด