คนเจ้าชู้มากรัก...รู้จักไว้บ้างก็ดี

คนเจ้าชู้มากรัก...รู้จักไว้บ้างก็ดี

คนเจ้าชู้มากรัก...รู้จักไว้บ้างก็ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์

ปัญหาที่แฟนๆ คอลัมน์สอบถามกันมามากเรื่องหนึ่งคือเรื่องความรัก เรื่องครอบครัว ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความผิดหวังในชีวิตคู่ และจะมีวิธีการรับมือได้อย่างไรถ้าแฟนนอกใจ มีคนจำนวนมากไม่ว่าทั้งชายและหญิงมักประสบปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตคู่ ต้องอยู่ด้วยความหวาดผวาและหวาดระแวงว่าคู่ของตนจะนอกใจอยู่ร่ำไป ส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหา และมักจะลงเอยคล้ายๆ กัน เช่น การใช้ความรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้ง สุดท้ายจบลงด้วยน้ำตาแห่งความผิดหวัง



ตั้งแต่ต้นปี คอลัมน์ Mental Health ของเราได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรักๆ ใคร่ๆ กันมามากพอสมควร เดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนแห่งเทศกาลวันครอบครัวนี้ก็ยังอยากส่งเสริมความสุขความรัก ความเข้าใจกันในครอบครัวและชีวิตคู่ จึงขอนำเสนอเรื่องราวความรักอีกมุมหนึ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง ให้คุณรู้จักคนหลายใจ เจ้าชู้มากรัก ที่หลายคนชอบเอาชีวิตคู่เข้าไปเสี่ยงจนในที่สุดก็ต้องเสียใจกันไปไม่น้อย ถ้าเป็นไปได้ก่อนจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ควรจะได้รู้จัก ทำความเข้าใจกับคนลักษณะนี้ เพื่อป้องกันไว้ดีกว่าคอยตามแก้ปัญหาทีหลังซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปสำหรับสังคมปัจจุบัน

คนมากรัก...กับคนเจ้าชู้
ความจริงแล้ว ความหมายของ 2 คำนี้ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร คนที่เคยมีประสบการณ์จะรู้ว่ามีคำเรียกคนเจ้าชู้อีกหลายคำ เช่น “หลายใจ” “มากรัก” หรืออาจแย่ไปถึงคำว่า “สำส่อน” ก็ได้ ซึ่งล้วนหมายถึงคนที่ชอบหว่านเสน่ห์ คาดหวังกับการได้รับการชื่นชมกลับมาด้วยวิธีการต่างๆ ของตนเอง มักจะอ้างแบบข้างๆ คูๆ ว่าหลงรักคนโน้น คนนี้เข้าแล้ว ประมาณว่าแจกรักไปทั่ว ซึ่งคำว่า “รัก” ที่คนเหล่านี้มีมากมายเผื่อแจกคนอื่นนั้น เป็นเพียงความรักจอมปลอมมากกว่า เป็นคำอ้างเพื่อหวังจะได้ความสุขหรือความพึงพอใจของตนเอง หาใช่เป็นการมอบความรักหรือความสุขให้แก่คนอื่นด้วยความ
จริงใจไม่

ทำไมคนจึงเจ้าชู้มากรัก?
คนเจ้าชู้ หรือคนที่ไม่รู้จักพอในเรื่องความรักไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โดยทั่วไปเรามักจะโยนความไม่ดีตรงนี้ไปให้ฝ่ายชายทั้งที่ความจริงแล้วหญิงเจ้าชู้มากรักก็มีไม่น้อย คนเหล่านี้เป็นคนที่ต้องการความรักจากคนจำนวนมาก มีคู่คนเดียวไม่พอหรืออย่างไร? เป็นประเด็นที่น่าขบคิดและน่าทำความเข้าใจ คงไม่ใช่เจ้าชู้เพราะทำตามค่านิยมของสังคมอย่างเดียว หากแต่มีสาเหตุทางจิตวิทยาด้วยว่า ความรู้สึกแบบนี้มันมีที่มาอย่างไร ตัวอย่างเช่น

• เกิดและเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบนี้ มีคนในครอบครัวทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเป็นประจำ แม้ว่าตอนเด็กๆ อาจจะไม่ชอบหรือรังเกียจพฤติกรรมนี้ แต่เมื่อโตขึ้นกลับทำตามเพราะเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่าใครๆ เขาก็ทำกันไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด จนในที่สุดก็มองพฤติกรรมเจ้าชู้มากรักเป็นเรื่องธรรมดา ลักษณะแบบนี้พบได้บ่อยในครอบครัวที่พ่อหรือแม่เป็นคนเจ้าชู้ หรือสำส่อน ขาดระเบียบวินัยในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อน บางครอบครัวที่พ่อหรือแม่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มักเป็นครอบครัวที่ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขาดคุณธรรม เห็นแก่ตัว และมีความมักมากในกามคุณ

• มองความเจ้าชู้มากรักเป็นเรื่องธรรมดาๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นค่านิยมที่ใครๆ ก็ทำกัน สร้างความกระชุ่มกระชวยหัวใจ จึงทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเจอสถานการณ์หรือคนมากระตุ้นก็อดใจไม่ไหว มีการตอบสนอง และมองว่าถ้าไม่ได้ทำคงไม่สบายใจ เหมือนคนที่มีความต้องการทางเพศซึ่งมักคิดว่าต้องได้รับการตอบสนองทันท่วงที จึงทำบ่อยจนเคยชิน พบมากในกลุ่มคนที่มีนิสัยคล้ายๆ กันมาคบหาสมาคมกัน ใช้ชีวิตเสเพลแบบเดียวกัน

• เป็นคนใจอ่อน ชอบสงสารผู้อื่น (แม้จะไม่สร้างสรรค์ก็ตาม) อยากให้เขาสมหวังมากกว่าผิดหวัง ไม่กล้าปฏิเสธเมื่อมีคนมาหลงรักหรือชอบ จนอาจไม่สามารถแยกแยะระหว่าง “การให้” คือการช่วยเหลือแบบไม่หวังสิ่งตอบแทน กับการต้องยอมตามความต้องการของคนอื่นและตนเอง ในที่สุดจึงนำไปสู่การนอกใจคนรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยทั่วไปคนแบบนี้มักถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่ทำให้ไม่กล้าคิดกล้าตัดสินใจ และเมื่อมีปัญหาก็ใช้วิธีหลีกหนีปัญหาหรือเฉไฉไปเรื่อย จนสุดท้ายปัญหาคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข

• ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ข้อนี้น่าจะสำคัญที่สุด เพราะถือว่าเป็นต้นตอของพฤติกรรมมากรักหรือเจ้าชู้ เช่น ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง รอคอยการยอมรับจากคนอื่น ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะดีพอ และมักมองว่าการที่ตัวเองดีพอหรือไม่ขึ้นอยู่กับการที่มีคนมาสนใจหรือให้ความสำคัญกับตนเองเท่านั้น วิธีการพิสูจน์ตัวเองที่คนประเภทนี้คิดว่าดี ก็คือการทำอย่างไรให้เห็นว่าตนเองมีค่า ด้วยการหว่านเสน่ห์ไปเรื่อยๆ เช็คเรตติ้งว่ามีใครมาสนใจหรือไม่ จนในที่สุดกลายเป็นคนที่มีแฟนหรือมีกิ๊กเต็มไปหมด ปัญหาก็อาจจะยุ่งเหยิงอีรุงตุงนัง ยิ่งแก้ยิ่งพันกันมั่ว

• สาเหตุทางจิตใจอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อย คือ เคยมีประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี และเก็บสะสมเรื่องเหล่านี้ไว้ในใจ เช่น เคยถูกลวนลามทางเพศ โดยสถานการณ์ตอนนั้นทำให้ทุกข์ทรมานใจไม่สามารถแก้ไขได้ มักมองตนเองเป็นคนผิดที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน เปลี่ยนคู่บ่อยๆ จึงทำให้รู้สึกว่าตนอยู่เหนือคนอื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทดแทนปมด้อยในอดีต อยากให้ตนเองมีอำนาจควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องที่ตนเองเคยทำไม่ได้ เป็นการย้ายความโกรธจากสถานการณ์หนึ่งในอดีตมาแก้แค้นผ่านคนอื่นหลายๆ คน (ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับในอดีตเลย) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่ไม่เหมาะสม

ต่อกรกับคนเจ้าชู้อย่างไรดี?
วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับคนเหล่านี้ คือ

• ค่อยๆ ทบทวนว่ามีสาเหตุมาจากที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็ควรแก้ไขให้ตรงสาเหตุ ดีกว่าใช้อารมณ์ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

• ไม่สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในครอบครัวหรือชีวิตคู่ แม้กระทั่งในสังคม เช่น สมาชิกในครอบครัวควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าไม่ยอมรับพฤติกรรมเจ้าชู้ รวมถึงสื่อต่างๆ ไม่ควรนำเสนอเรื่องราวของคนเจ้าชู้ว่าเป็นความเท่ทันสมัยยอมรับได้ หรือเป็นเรื่องตลกขบขันสบายๆ เพราะในความเป็นจริงคนที่เจอปัญหาแบบนี้กับตัวเองคงไม่มีวันสบายใจได้เป็นแน่

• วิธีการที่ดีที่สุด คือ การปรับใจยอมรับคนที่เป็นแบบนี้ และหาทางแก้ไข โดยทำให้คนที่มีพฤติกรรมเจ้าชู้เหล่านั้นตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา การเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเขาน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแม้จะไม่ง่ายนัก อาจปรึกษากับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัดร่วมด้วย แต่หากพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วคนเหล่านั้นยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนที่เป็นคู่ก็ไม่ควรทนแบกรับความทุกข์ต่อไป การเลิกรากันคงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

• ในกรณีที่การกระทำเกิดจากนิสัยที่เห็นแก่ตัว ขาดศีลธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น มักแก้ไขได้ยากเกินเยียวยา ใครที่เป็นคู่คนแบบนี้คงต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เปลี่ยนที่ตัวเองให้ตัดใจเสียดีกว่าทนอยู่ต่อไป มิเช่นนั้นคงต้องเจอกับปัญหาอีกมากมายไม่รู้จบให้เสียสุขภาพจิตอย่างแน่นอน

คนเจ้าชู้อาจจะไม่ใช่คนที่เลวร้าย น่ากลัวเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เป็นแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีบางท่านกล่าวว่าโลกนี้อาจจะไม่มีคนเจ้าชู้มากรักก็เป็นได้ มีแต่คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเสียมากกว่า เมื่อเจอคนแบบนี้ หรือคุณเองที่เป็นคนแบบนี้ การกล่าวโทษ การรังเกียจเดียดฉันท์ หรือการใจอ่อนยอมทนอยู่กับคนเหล่านี้ คงไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมสักเท่าไร

การทำความเข้าใจ รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเองหรือใครบางคนที่เป็นแบบนี้ จะช่วยให้ยอมรับและให้อภัยได้ อีกทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเพื่อชีวิตคู่ที่มีความสุขอย่างแท้จริง มิต้องมานั่งหวาดระแวง หงุดหงิดอารมณ์เสียกับความคาดหวังในผู้อื่นที่มีข้อจำกัดมาก ซึ่งมักจะลงเอยด้วยความช้ำใจในที่สุด ในเดือนแห่งการส่งเสริมสถาบันครอบครัว บทความนี้คงช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นสื่อประสานความสัมพันธ์ในครอบครัวของคุณ อย่างน้อยการเริ่มรู้จักและเข้าใจคนประเภทนี้คงจะช่วยให้การแก้ปัญหาสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้วครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook