ไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้เช่นกัน ในประเทศไทยพบได้น้อยกว่าไวรัสตับอักเสบบีมาก อุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีจากข้อมูลของผู้ที่บริจาคโลหิต ประมาณกันว่าในโลกนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 3 ของประชากรโลก (ประมาณ 170 ล้านคน) ในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 1-5 แตกต่างกันตามภูมิภาค ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะพบได้มากกว่าภาคอื่น คือ ประมาณร้อยละ 5-8 ไวรัสตับอักเสบซีแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีตรงที่ไวรัสตับอักเสบซีนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี
สามารถติดต่อได้โดย
1. การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะมีการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบซีในเลือดของผู้บริจาค คือ ก่อนปี 2533
2. การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การเจาะหู เขียนคิ้วถาวร โดยผู้ที่ขาดความรู้ และเครื่องมือไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง
3. การใช้ยาเสพติดฉีดผ่านทางผิวหนัง
4. การฟอกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
5. การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารก ซึ่งการเข้าสู่ร่างกายของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยวิธีนี้พบได้น้อยมากแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบี

เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยที่ส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 10-15 จะเกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเอง

เมื่อเกิดภาวะตับอักเสบซีเฉียบพลัน ประมาณ ร้อยละ 10-15 จะหายขาดจากโรค แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะเกิดภาวะตับอักเสบแบบเรื้อรัง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพังผืด หรือแผลเป็นในตับ โดยที่ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง จะเกิดภาวะตับแข็งภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 20 ปี ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ อ้วน เพศชาย หรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่วมด้วยจะเกิดภาวะตับแข็งได้เร็วขึ้น ภายหลังการเกิดภาวะตับแข็งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น น้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน ตัวเหลือง ตาเหลือง เลือดออกในทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อลีบ และมะเร็งตับ การตรวจพบและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้หายขาดจากโรคได้ แตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งโอกาสหายขาดจากการรักษานั้นน้อยมาก

การตรวจเลือดในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบซี
ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีการตรวจค่าการทำงานของตับ (Liver function test)อาจพบว่าปกติ หรือผิดปกติได้ การตรวจ Anti-HCV จะบอกว่าผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อมาก่อนหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นผลบวก แพทย์จะต้องทำการตรวจดูว่าพบเชื้ออยู่ในเลือดหรือไม่ โดยการตรวจหาปริมาณของไวรัส (HCV Viral load) ซึ่งจะบอกว่าผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในร่างกายหรือหายขาดจากโรคแล้ว การตรวจนี้ราคาค่อนข้างสูง

ถ้าตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การตรวจหาสายพันธุ์ (Genotype) จะช่วยกำหนดแนวทางในการรักษาและช่วยทำนายโอกาสหายหากได้รับการรักษา แพทย์อาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอื่น ๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการติดต่อของเชื้อทำนองเดียวกัน เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
เป้าหมายของการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสซีให้หมดไปจากร่างกายของผู้ป่วย ทำให้ลดการอักเสบของตับ ลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ สามารถทำได้โดยใช้ยาฉีดในกลุ่มเพ็คกิเลเต็ดอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated Interferon) ร่วมกับยากินไรบาไวริน (Ribavirin) โดยที่ระยะเวลาของการรักษาตั้งแต่ 24 ถึง 48 สัปดาห์ แตกต่างกันตามชนิดสายพันธุ์ (Genotype) และโอกาสการหายขาดก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน

อาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา ได้แก่ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ท้องเสีย ซีด ผิวหนังแห้ง นอนไม่หลับ ผลร่วง ซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน โดยที่ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะต้องหยุดการรักษาก่อนกำหนดเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงเหล่านี้ได้

การปฏิบัติของผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบซี
1. รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินมากจนเกินไป
2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเด็ดขาด
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
4. ลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน และของมันมากจนเกินไปจะทำให้อ้วนและไขมันสะสมตับ ทำให้ตับอักเสบมากขึ้น
5. หลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาลูกกลอน และอาหารเสริม
6. งดการบริจาคโลหิต
7. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่ผลการตรวจเลือดบ่งชี้ว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน กล่าวคือ ผลการตรวจกรองเลือดทั้ง 3 อย่าง (HBsAg, Anti-HBc และ Anti-HBs) ให้ผลลบ
8. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวน์ตับเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้ว

นพ. พงษ์ภพ อินทรประสงค์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
รพ. พญาไท 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook