“ผึ้ง สาลินี” ผู้หญิงที่ (ว่ายน้ำ) เคียงข้าง “โตโน่ ภาคิน” ในวันที่เขากำลังทำเพื่อโลก

“ผึ้ง สาลินี” ผู้หญิงที่ (ว่ายน้ำ) เคียงข้าง “โตโน่ ภาคิน” ในวันที่เขากำลังทำเพื่อโลก

“ผึ้ง สาลินี” ผู้หญิงที่ (ว่ายน้ำ) เคียงข้าง “โตโน่ ภาคิน” ในวันที่เขากำลังทำเพื่อโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับภารกิจสุดท้าทายนี้นอกจากโตโน่แล้ว ยังมีทีมงานที่เข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ “ผึ้ง-สาลินี เขมจรัส” หรือโค้ชผึ้ง ครูผู้ฝึกสอนการว่ายน้ำให้กับโตโน่ ที่จะว่ายน้ำเคียงข้างไปกับโตโน่เกือบตลอดระยะทาง 82 กิโลเมตร สำหรับโค้ชผึ้งนั้นอีกบทบาทหนึ่งเธอคือผู้กำกับที่เคยฝากผลงานไว้มากมายไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์โฆษณา หรือมิวสิกวิดีโอของศิลปินมีชื่อทั้ง Bodyslam, Big Ass หรือ Scrubb

แต่สำหรับในช่วงเวลาตลอดโครงการนี้โค้ชผึ้งคือ “ผู้หญิง” ที่จะอยู่เคียงข้าง และคอยซัพพอร์ตโตโน่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เขามุ่งมั่นตั้งใจทำให้สำเร็จ

จุดเริ่มต้นที่โค้ชผึ้งเข้าร่วมโครงการ ONE MAN & THE SEA ครั้งนี้

ทางโตโน่ติดต่อเข้ามา เมื่อได้คุยกันเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำสอดคล้องกับเป้าหมายของเรา รวมทั้งสิ่งที่เขาจะทำเราก็ถนัดหมด เพราะเดิมผึ้งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย (เหรียญทองซีเกมส์) จนวันหนึ่งมาเล่นไตรกีฬาว่ายน้ำระยะไกลขึ้น อีกด้านหนึ่งเราเป็นจิตอาสาช่วยสัตว์ทะเลอยู่แล้ว รวมทั้งโปรเจคนี้อยู่ภายใต้ทีม “ก้าว” ที่เคยทำงานให้ตอน “ตูน บอดี้สแลม” วิ่ง ซึ่งผึ้งก็รู้จักกันเพราะเราเคยทำมิวสิกวิดีโอให้เขา ทุกอย่างจึงลงตัวและลิงก์กันหมด

เมื่อต้องทำโปรเจคร่วมกับโตโน่ ต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

เราเจอเขาครั้งแรกตอนเดือนตุลาคม เหมือนเป็นการดูตัว และเขาก็ให้คิวเราได้น้อยมากเพราะเขายังถ่ายละครอยู่ เราไม่สามารถเอาเขาไปทะเลได้เพราะเดี๋ยวสีผิวเปลี่ยน แล้วการว่ายน้ำของเขาก็ยังไม่ผ่าน ตอนนั้นคิดว่าไม่ไหว และตัวเราเองเวลาสอนเราจะดุ เหวี่ยง ถ้าทำไม่ได้ เราก็คิดว่าเขาจะรับการสอนของเราได้หรือเปล่า ช่วงแรกเขาก็งอแง มีช่วงที่เขาเสียสมาธิ จากการที่มีคนคอยเพ่งเล็งในสิ่งที่เขาทำ

บางวันเขามาซ้อม ช่วงกลางการซ้อม เขาไม่มีสมาธิ สอนแล้วไม่พัฒนา ครูทัพที่เป็นครูด้านคายัคกับเราก็จับมือคุยกันแล้วบอกเขาว่า “ตอนนี้มันกำลังวิกฤต คุณอาจจะทำไม่ได้ ถ้าพัฒนาการเป็นแบบนี้” เขาฟังแล้วก็สามารถผ่านไปได้

บางทีเขาก็บอกว่าวันนี้เขาพอแล้ว เราก็บอกว่า “โน่ ไม่ได้ เราขออีกหน่อย” หลังจากนั้นพอเรากำหนดไว้เท่าไร เขาต้องทำให้ได้ ปรากฏว่าตอนท้ายของการซ้อม เรากำหนดไว้ 4 กิโลเมตร แต่เขายิงยาวไป บางวันไปถึง 9 กิโลเมตร

รวมระยะเวลาแล้วเจอกันประมาณเดือนตุลาคม แต่เริ่มมาจริงจังตอนเดือนมกราคมถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง

ที่ผ่านมาครูผึ้งรู้สึกท้อบ้างไหม

ทุกอย่างดีหมด แต่มันมีสโตรคที่ทำให้โตโน่บาดเจ็บบริเวณไหล่เมื่อเขาว่ายในท่านั้นซ้ำๆ แล้วมันแก้ไขไม่ได้ ปัญหานี้ทำให้เรารู้สึกกังวลว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ตอนนั้นเราพาเขาไปที่อุโมงค์น้ำตรงจุฬาฯ แล้วเอามือขวางเขา ไม่ให้เขาเอามือมาโดนมือเรา ตอนนั้นซีเรียสมาก มีทั้งช่วงที่จะแก้ไขได้ แต่พอเขาไม่มีสมาธิก็กลับมาทำไมได้อีก จนเริ่มเจ็บอย่างหนัก เมื่อเขาเริ่มรู้ คิดตาม แล้วพอเขาฝืนทำ พอทำได้ เขาบอกเลยว่า “ครูมันเจ็บน้อยลง” เราก็บอกกับเขาว่า “เออ กูอยากได้ยินคำนี้มานานแล้ว”

โค้ชผึ้งวางแผนการว่ายน้ำครั้งนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ตอนเช้าเราจะว่ายน้ำให้ได้ระยะทางมากที่สุด ตั้งใจว่าจะว่ายประมาณ 4-5 กิโลเมตร ส่วนตอนเย็นอาจจะว่ายแค่ประมาณ 2 -2.5 กิโลเมตร ทำแบบนี้ทุกวัน เพราะตอนเช้าคลื่นลมโอเค และร่างกายเรายังสดอยู่ บางวันอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ หรือเวลาที่เราลงไปว่าย เมื่อว่ายไป 4 วันต่อเนื่องเราจะหยุดพัก 1 วันเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องว่ายแบบเลี่ยงอาการบาดเจ็บทั้งหมด ว่ายแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่ง เพราะเราต้องเผชิญกับสถานการณ์กระแสน้ำ ผ่านเกาะ ปกติทะเลมีคลื่นอยู่แล้ว ยิ่งเป็นช่องน้ำยิ่งแรงนอกจากนั้นอีกสิ่งที่กังวลคือสัตว์ทะเลมีพิษ อย่างแมงกะพรุนทะเลที่เราไม่รู้ว่าจะมีชนิดที่มีพิษทำให้ถึงแก่ชีวิตหรือเปล่า แต่ก็มีเรือทีมแพทย์ ผู้ดูแล ทีมกายภาพต่างๆ ทุกคนจะช่วยกันดูแล

สิ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และน่ากังวลสำหรับการว่ายน้ำในทะเลคืออะไร

สัตว์ทะเลมีพิษ แม้จะอยู่ในแผนแต่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด แต่เราก็มีน้ำส้มสายชูเตรียมพร้อมไว้ในเรือของคุณหมอที่พายไปควบคู่กับทีม นอกจากนี้ความเค็มของน้ำทะเลสามารถกัดเนื้อเยื่อในปากได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้แม้กระทั่งโค้ชเองก็แก้ไขไม่ได้ แต่เราก็ได้ทดลองให้โตโน่ว่ายน้ำไปสัก 500 เมตรแล้วจิบน้ำจืดบ้วนปากเพื่อปรับสภาพความเค็มในปาก ซึ่งก็ช่วยได้

อะไรคือความแตกต่างระหว่างการว่ายน้ำในสระ กับการว่ายน้ำในทะเล

ว่ายน้ำสระเป็นการว่ายแบบอัดอย่างเดียว การว่ายน้ำในทะเลมันเป็นคนละทักษะ เรื่องการคำนวณกับเรื่องจิตใจมันเป็นคนละแบบ ว่ายน้ำในทะเลแบบนี้มันเป็นทีม มันต้องมีความเข้าใจกัน มันเป็นการว่ายน้ำแบบคาราวาน ไม่ใช่ต่างคนต่างว่าย ส่วนการว่ายน้ำในสระมันต้องทำตามเวลาที่กำหนด

หลังผ่านการซ้อมกันมาอย่างหนัก มีเรื่องราว และปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในตัวโค้ชผึ้ง

เยอะมาก เราเป็นทีมชาติ แต่เราไมได้เป็นครู เราเป็นลูกศิษย์ที่ได้เหรียญ เราแค่รู้ว่าครูเคยสอนอะไร เรารู้ว่าว่ายแบบไหนถึงจะถูก ใครว่ายแล้วควรจะแก้ไขอย่างไร ต่อมาเราได้สอนทีมนักกีฬา แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน วิธีแก้ไม่เหมือนกัน คุยกันคนละแบบ บางคนบอกเป็นองศาได้ บางคนบอกเป็นภาษาบ้านๆ ทุกคนให้ความรู้เราหมด อย่างโน่มีปัญหาเจ็บไหล่ซ้าย เราต้องไปดูเรื่องอนาโตมี (กายวิภาค) ของการว่ายน้ำ มันต้องแก้แบบนี้ แล้วพอมันใช่ เราดีใจมาก เดิมเราคงไม่ขวนขวายดู แต่พอเกิดปัญหาเราก็ต้องเข้ามาดูแล

สำหรับโครงการนี้แม้โตโน่จะเป็นหลัก แต่สำหรับครูผึ้งมีเป้าหมายอย่างไร

การทำให้น้องว่ายน้ำจบแบบไม่เจ็บตัว นั่นคือเป้าหมายหลัก เราอยากให้เขาทำสำเร็จ อยากให้ประชาชนเข้าใจวัตถุประสงค์ ไม่ใช่ว่าว่ายสำเร็จเพราะอีโก้ แต่มันเป็นการว่ายเพื่อให้คนเห็นคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล

วันนี้อะไรคือสิ่งที่  “โค้ชผึ้ง” มองเห็นเพิ่มขึ้น “โตโน่” คนเดิม

เขาเริ่มต้นด้วยความหวังดีกับโลกใบนี้ ซึ่งมันส่งผลต่อคนทั้งหมด แม้เขาจะเพิ่งเข้ามาในเรื่องของทะเล จากเดิมที่เคยโฟกัสเรื่องขยะ แต่เราเห็นพัฒนาการของข้อมูล วันแรกคุยกันเราเห็นปลายทางลางๆ ว่าจุดที่เราต้องการเดินไปถึงมันคือจุดเดียวกัน แต่เส้นทางและภาพที่มองเห็นมันยังไม่ตรงกันซะทีเดียว ระหว่างทางเราปรับจูนกัน ตัวเขามีข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำให้เราเห็นว่าเขาเองก็กว้างขึ้น เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งมันช่วยให้สิ่งที่เขาตั้งใจจะทำชัดขึ้น และเรารู้สึกว่ามันดีมาก

โครงการนี้จะเสร็จสิ้นในวันที่ 5 เมษายน 2563 (ตามกำหนดเดิม) โดยตลอดกิจกรรมการว่าย ขอเชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินและสมทบทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ เพื่อมอบให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต, ส่วนงานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง และ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จังหวัดระยอง รวมไปถึง โรงพยาบาลริมชายฝั่ง

โดยสามารถบริจาคผ่านทางบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ชื่อบัญชี: มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ (TRRM FOR TAEJAI) เลขบัญชี 043-272833-9 หรือทาง Sms ครั้งละ 25 บาท พิมพ์ T ส่งมาที่ 4545909 (ทุกเครือข่าย) ทั้งนี้สามารถส่งหลักฐานการบริจาค เพื่อขอลดหน่อยภาษีได้ที่ Line @taejaidotcom และสามารถติดตามและให้กำลังใจโตโน่ พร้อมรับชมการว่ายน้ำตลอดกิจกรรมผ่านการ Live สดทาง Facebook แฟนเพจ เก็บรักษ์รวมถึงติดตามรายละเอียดของโครงการได้ทาง Facebook แฟนเพจ เก็บรักษ์  และทาง Instagram เก็บรักษ์

 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ “ผึ้ง สาลินี” ผู้หญิงที่ (ว่ายน้ำ) เคียงข้าง “โตโน่ ภาคิน” ในวันที่เขากำลังทำเพื่อโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook