อีดิธ วินด์เซอร์ "หญิงรักหญิง" กับวันนี้ที่รอคอย!!!
การที่คณะตุลาการศาลฎีกาสหรัฐมีมติเสียงข้างมากออกมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยมีสาระสำคัญ 2 ข้อ หนึ่งได้แก่การที่ศาลฎีกามีมติเสียงข้างมาก 5-4 ยกเลิกกฎหมายสิทธิการแต่งงาน หรือ "โดมา" (DOMA ย่อมาจาก Defense of Marriage Act) ที่ระบุว่า การแต่งงานเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น และการประกาศเพิกถอนญัตติหมายเลข 8 ที่ระบุห้ามคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานในรัฐแคลิฟอร์เนีย นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างความยินดีให้แก่ กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และองค์กรอิสระที่รณรงค์เรื่องสิทธิคนรักเพศเดียวกันอย่างท่วมท้น แต่สำหรับ อีดิธ วินด์เซอร์ หญิงชราวัย 84 ปี คำตัดสินของศาลฎีกาในวันนั้น มีความหมายต่อเธอมากกว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เพราะจะว่าไปแล้ว เธอก็นับเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
อีดิธ กับ เซีย สไปเยอร์ คู่ชีวิต (ซ้าย)
อีดิธ วินด์เซอร์ มีคู่ชีวิตเป็นหญิงชื่อว่า เธีย สไปเยอร์ ซึ่งอยู่ร่วมทุกข์สุขกันมาถึง 40 ปี กระทั่งเธียเสียชีวิตจากไปด้วยโรคเส้นเลือดตีบ เมื่อปี 2552 โดยทิ้งมรดกของเธอให้แก่อีดิธ แต่เพราะการแต่งงานของพวกเธอ ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้อีดิธถูกเรียกเก็บภาษีมรดกเป็นเงิน 363,053 ดอลลาร์ หรือราว (11,254,643 บาท) เป็นสาเหตุให้อีดิธ ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ โดยเป็นโจทก์ฟ้องสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2553 ว่ากฎหมายแต่งงานของประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำฟ้องร้องของเธอ ได้รับชัยชนะถึง 2 ศาล โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2555 ศาลแขวงนครนิวยอร์ก มีคำพิพากษาเข้าข้างเธอ พอคดีถูกส่งต่อไปยังศาลอุทธรณ์ คณะลูกขุนก็ตัดสินให้เธอชนะด้วยเสียง 2-1
แต่ด้วยมติเสียงข้างมากของศาลฎีกาที่มีคำตัดสินยกเลิกกฎหมายสิทธิแต่งงาน ก็ได้ส่งผลให้อีดิธมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืน พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ในวันที่ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของชาวเกย์ อีดิธนั่งติดตามข่าวอยู่ที่บ้านทนายความของเธอ ท่ามกลางครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ต่างส่งเสียงตะโกนร้องด้วยความดีใจ หลังได้ยินข่าวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสิ้นสุดลง
และในวันนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับอีดิธด้วย
"สวัสดีค่ะ ฉันกำลังพูดอยู่กับใครคะ โอ้... บารัค โอบามา หรือ? ฉันอยากขอบคุณจริงๆ ฉันคิดว่าการที่คุณก้าวออกมาเพื่อพวกเรา ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศ" อีดิธคุยกับผู้นำสหรัฐ
ด้านอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ผู้ลงนามผ่านร่างกฎหมายแต่งงาน DOMA เป็นกฎหมายบังคับใช้เมื่อปี 2539 และนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ภริยา ก็มีแถลงการณ์ร่วมออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของศาลฎีกาว่า
"การยกเลิกกฎหมายสิทธิการแต่งงาน ซึ่งศาลยอมรับว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้ทำให้พวกเราทุกคนหันมาร่วมใจกันพยายามทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เราทั้งสองยังสนับสนุน อยากให้สิทธิความเท่าเทียมในการสมรส หวนคืนสู่รัฐแคลิฟอร์เนียในเร็ววัน และเราขอชื่นชมการทำงานหนักของเหล่านักกฎหมายที่ต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อจนมีวันนี้ และขอแสดงความยินดีกับ อีดิธ วินด์เซอร์ ต่อชัยชนะซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของเธอด้วย"
อย่างไรก็ตาม อีดิธได้กล่าวอย่างถ่อมตัวในงานแถลงข่าวที่นครนิวยอร์ก ที่ตัวเธอถูกมองเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิคนรักร่วมเพศ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า "มันเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ฉันมายืนตรงจุดนี้ ถ้าหากเธีย คือ ธีโอ (ผู้ชาย) เหตุการณ์ต่างๆ ก็จะต่างไปจากนี้แน่นอน"
หน้า 25,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2556