ขนมหวานเทียม ช่วยพาร์กินสัน?

ขนมหวานเทียม ช่วยพาร์กินสัน?

ขนมหวานเทียม ช่วยพาร์กินสัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

โรคพาร์กินสัน แม้จะมีคนเป็นไม่มากเท่าสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ แต่มีชะตากรรมเหมือนกัน โดยที่ยังไม่มียาใดๆ ที่จะชะลอ หรือยับยั้งได้ ในโรคพาร์กินสัน อาการเชื่องช้า แข็งเกร็ง โดยอาจจะมีสั่นร่วมด้วย จะค่อยๆ ลุกลามรุนแรงขึ้นตามลำดับ แม้ว่ายาจะเสมือนดูเก่งในระยะแรก แต่ในที่สุด การตอบสนองต่อยาจะเริ่มลดลงตามลำดับ จากขนาดที่...กินบ้าง ลืมบ้าง ยังอยู่ได้ กลายเป็นกินยาทุก 3 ชั่วโมง เรื่อยไป ยังไม่ค่อยได้ผล และกลับมีผลแทรกซ้อน คือเกิดอาการทางจิต ประสาทหลอน หวาดระแวง มีอาการเขย่า สั่น มากขึ้น ทั้งนี้ โดยที่การโหมให้ยามากๆ ตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆ ให้คนป่วยติดใจ วิ่งได้ฉิวเต็ม 100 จะมีส่วนให้โรคนี้ไปเร็วและยาไม่ได้ผลเร็วขึ้น

ล่าสุดมีรายงานสุดยอดมาใหม่ (14 มิถุนายน 2556) วารสารทางเคมีชีวภาพ (2013; 288:17579-88) ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการพิสูจน์ในระดับเซลล์ และแมลงวัน แต่ผลที่ได้ประทับใจในการทำให้โรคดีขึ้นและลดการสะสม การเกาะรวมตัวเป็นตะกอนของ alpha synuclein ซึ่งเป็นสารพิษในโรคพาร์กินสัน ทั้งนี้ การใช้น้ำตาลเทียม mannitol ซึ่งยังมีคุณสมบัติในการเปิดผนังเส้นเลือดในสมองได้อีก mannitol นี้ ผลิตจากรา แบคทีเรีย และสาหร่าย และเป็นส่วนผสมที่ให้รสหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ในหมากฝรั่ง หรือขนมหวาน ในทางการแพทย์เราใช้ mannitol ในการลดความดันของสมอง เพื่อช่วยชีวิตเวลาสมองบวม โดยมีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย

หลังจากพิสูจน์คุณสมบัติในเซลล์ทดลอง ก็ยังได้พบต่อไปว่า แมลงวัน (fruit flies) ที่ตบแต่ง ตัดต่อพันธุกรรมให้มี alpha synuclein สามารถปีนป่ายเกาะผนังหลอดแก้วได้เพียงร้อยละ 38 (ปกติ ร้อยละ 78) แต่หลังจากได้อาหารที่มี mannitol ไป 27 วัน กลับสามารถปีนป่ายได้เก่งเท่าเดิม และพบว่ามีการลดลงถึงร้อยละ 70 ของการเกาะรวมตัวของสารพิษ การทดลองในหนูที่ตัดแต่งพันธุกรรม ได้ผลน่าชื่นใจเช่นกัน โดยหนูมีปริมาณ alpha synuclein ลดลงในสมองหลายตำแหน่งหลังจากรักษาไป 4 เดือน ซึ่งอาจเป็นเครื่องแสดงว่า manitol สามารถชะล้างโปรตีนพิษจากเซลล์ประสาท และปกป้องสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไปในโรคพาร์กินสัน ส่วนที่น่าดีใจคือ หนูทดลองไม่มีอาการเจ็บป่วยหลังได้รับ mannitol

อย่างไรก็ตาม ผลของการศึกษานี้ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำมารักษาหรือป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพในคนได้ แต่เป็นก้าวสำคัญที่ต้องติดตาม เนื่องจาก...ถ้าได้ผลจริง ควรจะนำมาใช้ได้ในโรคสมองอื่นๆ รวมทั้งสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ว่าแต่ว่า...ตอนนี้ หมอเริ่มเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล แต่หวานจาก mannitol แล้ว อย่าหาว่าไม่สุภาพนะครับ! ถ้า...เคี้ยวไปตรวจคนไข้ไป หรือบรรยายไปด้วย

หน้า 7,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2556

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook