อุ้มท้องสู้ไทรอยด์เป็นพิษ

อุ้มท้องสู้ไทรอยด์เป็นพิษ

อุ้มท้องสู้ไทรอยด์เป็นพิษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผอมจังเลย อดอาหารหรือเปล่า"
ตั้งแต่เด็กจนโตใครๆก็ทักไอด้า (ไอรดา ศิริวุฒิ อายุ 25 ปี) อย่างนี้ค่ะ เพราะรูปร่างผอมและมีอาชีพเป็นนางแบบ คนทั่วไปจึงตั้งข้อสงสัยว่าอดอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก ทว่า ที่จริงแล้วไอด้าอยากมีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน รูปร่างสมส่วนและผิวพรรณมีน้ำมีนวลมากกว่านี้

ตั้งแต่เด็กจึงพยายามเพิ่มน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยการกินอาหารปริมาณมากๆ แต่ไม่เคยสำเร็จสักที เพราะน้ำหนักตัวไม่เคยแตะถึง 40 กิโลกรัม ทั้งที่สูงถึง 165 เซนติเมตร ส่วนสุขภาพก็ไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก มักวูบเป็นลมอยู่บ่อยๆ

อาการนี้เป็นสืบเนื่องมาจนโต โดยเฉพาะวันที่ต้องถ่ายแบบหรือถ่ายทำรายการนอกสถานที่ จะหน้ามืดและวูบเกือบทุกครั้ง ทว่า ตัวเองกลับไม่เคยคิดว่าร่างกายผิดปกติ เพราะเป็นคนอยู่ไม่สุข ชอบทำงาน และรู้สึกว่าตัวเองมีพลังตลอดเวลา จึงไม่เคยตรวจสุขภาพ

กระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ.2555 น้ำหนักลดลงไปอยู่ที่ 36 กิโลกรัม เรียกว่ารูปร่างผอมจนมองเห็นกระดูกชัดเจน ถ่ายแบบออกมาดูไม่สวย พี่ๆช่างภาพและสไตลิสท์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร่างกายผิดปกติแน่นอน คราวนี้จูงมือสามี(แอมมี่- ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์)ไปตรวจร่างกายเป็นเพื่อนด้วย

ความคิดที่ว่า "ฉันเป็นคนผอมจึงร่างกายอ่อนแอ" ถูกหักล้างไปหมดสิ้นเพราะคุณหมอวินิจฉัยว่าไอด้าไม่ใช่คนผอมแต่เป็นผู้ป่วยค่ะ

สามโรครุมเร้า เราสอง
"เป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์และไทรอยด์เป็นพิษนะครับ โรคนี้ส่งผลถึงลูกด้วย" คุณหมอกล่าว ไอด้าและสามี มองหน้ากันอย่างงุนงง ความตั้งใจแรกของเราสองคนคือ มาตรวจร่างกายและหาสาเหตุว่า ทำไมน้ำหนักตัวไอด้าลดลงอย่างรวดเร็ว ทันทีที่คุณหมอบอกว่าเป็นโรคไทรอยด์ก็เข้าใจทันที เพราะคุณลุงและคุณอาเป็นโรคไทรอยด์เช่นกันแต่เป็นชนิดไฮโปไทรอยด์คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยผิดปกติ ทำให้น้ำหนักตัวมาก ตัวบวมฉุ เฉื่อยชา เป็นต้น แต่ไอด้าเป็นตรงกันข้ามคือ ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ ทำให้น้ำหนักตัวลด นอนไม่หลับ ใจสั่น และอยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น แต่คำวินิจฉัยประโยคหลังของคุณหมอ ทำให้ไอด้าและสามีนิ่งอึ้งไปสักพัก คุณหมอขยายความอย่างตรงไปตรงมาว่า

"อายุครรภ์ประมาณหนึ่งเดือน ปกติผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถมีลูกได้จนกว่าหลังจากรักษาโรคให้หายขาด 2 ปี เพราะโรคนี้ส่งผลให้หัวใจของแม่ทำงานหนัก สุขภาพของแม่และลูกจะแย่ทั้งคู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทรอยด์มีค่าความเป็นพิษสูงมากเช่นนี้ จะยิ่งอันตราย"

เมื่อถามถึงวิธีรักษา คุณหมอกล่าวว่าโรคไทรอยด์เป็นพิษไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดหรือกลืนรังสีได้ ต้องกินยาควบคุมอาการและดูแลสุขภาพให้ครบด้าน ร่างกายจึงจะดีขึ้น วันนั้นไอด้าจึงได้ยามากินพร้อมกับการบ้านที่ต้องเก็บมาคิดว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้คุณแม่ของแอมมี่ยังเตือนให้ไปตรวจเลือด เนื่องจากคุณแม่และพี่สาวแอมมี่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เราสองคนรีบทำตาม ผลคือเลือดของแอมมี่ปกติแต่ของไอด้าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย เราสองคนแปลกใจกับผลตรวจเลือดมาก จึงตรวจเลือดอีกครั้งกับโรงพยาบาลแห่งใหม่ ผลออกไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลแห่งแรก เราสองคนยังไม่ปักใจเชื่อเดินทางไปตรวจโรงพยาบาลแห่งที่สามแต่ผลการตรวจเลือดยังยืนยันออกมาว่าของแอมมี่ปกติ ส่วนไอด้าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้จะไม่มีอาการป่วย แต่จะมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น เลือดจาง ในที่สุด เราสองคนต้องยอมรับว่าการตั้งท้องครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกสูงมาก ทว่า คุณหมอแนะนำว่ายังมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะปลอดภัยทั้งแม่และลูก หากดูแลสุขภาพและกินยาควบคุมอาการไทรอยด์อย่างเคร่งครัด

เมื่อรู้ว่ายังมีความหวัง ไอด้าก็ลุกขึ้นมาปฏิวัติสุขภาพทันทีอย่างแรกคือ หักดิบการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่ะ งานนี้ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เพราะชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตั้งแต่เด็กๆ นอกจากเลิกกินของชอบแล้วยังต้องทำใจกินอาหารที่ไม่ชอบด้วย เพราะไม่กินผักมาตั้งแต่เด็ก แรกๆต้องกลั้นใจกิน แต่ระยะหลังก็สามารถกินได้โดยไม่รู้สึกทรมาน เพราะเพื่อสุขภาพตัวเองและลูก ไม่มีคำว่าทำไม่ได้ค่ะ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม น้ำหนักตัวขณะตั้งท้องยังต่ำกว่าเกณฑ์มาก เชื่อไหมคะขนาดท้องแปดเดือนไอด้ายังถ่ายแบบได้ตามปกติ เพราะรูปร่างเหมือนเดิม ไม่มีหน้าท้องยื่นออกมาเหมือนคนท้องอื่นๆ

คุณหมอประจำตัวเห็นอย่างนั้นก็รู้ทันทีว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี จึงให้เพิ่มน้ำหนักตัวให้มากที่สุด ตอนนั้นเกือบจะถอดใจแล้ว เพราะพยายามบำรุงทุกทางน้ำหนักตัวก็ยังไม่ขึ้น แต่บอกตัวเองให้ฮึดเฮือกสุดท้าย หยุดทำงาน พักผ่อนเต็มที่ ไม่เครียด และกินอาหารมีประโยชน์บำรุงร่างกาย

ความตั้งใจสำเร็จได้ด้วยดี เมื่อน้ำหนักก่อนคลอดพุ่งขึ้นจาก 40 กิโลกรัมเป็น 55 กิโลกรัม คราวนี้หน้าท้องยื่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด ผลที่ตามมาคือ ปวดหลังมาก เพราะต้องแบกน้ำหนักตัวที่มากขึ้นอย่างกะทันหัน ทว่า ไม่นานก็ถึงเวลาผ่าคลอด เวลาที่เราจะได้พบกับคนที่สู้เพื่อเขามาตลอดเก้าเดือน

ไทรอยด์เป็นพิษ VS พฤติกรรมทำพิษ
เมื่อถึงวันนั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไอด้าและสามีเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อผ่าคลอดหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ คุณหมอทำการผ่าตัดนำเด็กผู้หญิงตัวน้อย รูปร่างจ่ำม้ำ น้ำหนักแรกเกิดกว่าสามพันกิโลกรัมออกมา สามีตั้งชื่อไว้ให้เธอว่า ลัลลาเบล แก้ววิบูลย์พันธุ์

คุณหมอตรวจร่างกายให้เธอโดยตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับไทรอยด์ ผลคือมีความผิดปกติเล็กน้อย เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่ ขณะตั้งครรภ์ อาจฟังดูเป็นข่าวร้าย แต่ข่าวดีคือ เมื่อเธอโตขึ้นร่างกายจะปรับและแข็งแรงขึ้นจนเป็นปกติ ส่วนโรคธาลัสซีเมียนั้นต้องตรวจเมื่อทารกน้อยโตกว่านี้

ทุกอย่างดูเรียบร้อย ทว่า หลังคลอดเพียงสองวัน ไอด้าปวดหัวมาก มากเหมือนจะแตกออกเป็นเสี่ยง คุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าน้ำในไขสันหลังรั่ว พบได้ในผู้ที่บล็อคหลังเพื่อผ่าคลอด แต่มีโอกาสเกิดน้อย ส่งผลให้ปวดหัวมาก

วิธีรักษามีสองทางคือ ฉีดน้ำเข้าไขสันหลังกลับเข้าไปหรือดื่มน้ำเข้าไปอย่างน้อยวันละสามลิตรเพื่อทดแทนน้ำในไขสันหลัง

คุณอาซึ่งเป็นคุณหมอทำคลอดแนะนำให้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทน เพราะเป็นวิธีที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงอีก ห้าวันหลังคลอดไอด้าจึงต้องนอนราบยี่สิบสี่ชั่วโมงและดื่มน้ำให้ได้อย่างต่ำสามลิตร นับเป็นความทรมานจริงๆ

เมื่ออาการปวดหายไป ไอด้ากลับมาทำหน้าที่คุณแม่ เพราะตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะให้นมและเลี้ยงลูกเอง โชคดีที่ลัลลาเบลเป็นเด็กเลี้ยงง่าย อารมณ์ดี และแข็งแรง (ถ้าไม่นับโรคไทรอยด์ที่สามารถหายเองเมื่อโต) ตรงกันข้ามกับไอด้าที่โรคไทรอยด์กำเริบอีกครั้ง

คราวนี้เรียกได้ว่าเป็นเพราะความลืมตัว เนื่องจากสนุกกับการเลี้ยงลูก บวกกับเริ่มกลับมาทำงานในวงการอีกครั้ง ร่างกายที่ยังไม่ทันฟื้นฟูเต็มที่ก็ทรุดลง โดยแสดงออกชัดเจนผ่านอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต และผื่นบริเวณลำคอ จากประสบการณ์รู้ดีว่าสองอาการหลังไม่ใช่อาการของโรคไทรอยด์แน่นอน ซึ่งผลตรวจร่างกายก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเป็นอาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุเกิดจากพักผ่อนน้อยและกินอาหารไม่เป็นเวลา

เมื่อร่างกายส่งสัญญาณเตือน ไอด้าจึงย้อนวงจรการใช้ชีวิตกลับสู่ช่วงตั้งท้องอีกครั้ง คือ กินอาหารสุขภาพและพักผ่อน ครั้งนี้พิเศษกว่าเดิมตรงที่ออกกำลังกายด้วยค่ะ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่เคยออกกำลังกายเลย ทุกเช้าไอด้าจะตั้งนาฬิกาปลุกแต่เช้า เพื่อตื่นไปออกกำลังกายพร้อมกับสามี ที่สวนหน้าหมู่บ้าน ไอด้าเลือกปั่นจักรยาน เพราะช่วยให้ได้ออกแรงและสูดอากาศบริสุทธิ์ เชื่อไหมคะว่าช่วยให้รู้สึกดีและกระชุ่มกระชวยมาก อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการกินอาหารโดยเฉพาะผัก อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเป็นคนไม่ชอบกินผัก ทว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อลูกตลอดเวลา

เก้าเดือน ทำให้ไอด้าค้นพบว่าพืชผักต่างๆล้วนมีส่วนช่วยซ่อมแซมและสร้างสุขภาพจริงๆ
ไอด้านึกไม่ออกเลยว่า หากช่วงตั้งท้องเก้าเดือนไม่กินผักและอาหารมีประโยชน์ สุขภาพของตัวเองและลูกจะเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากเลือกกินเพียงแค่เก้าเดือนและกลับไปตามใจปากเหมือนเคย รูปร่างและผิวพรรณคงแย่กว่านี้ เนื่องจากโรคไฮเปอร์ไทรอยด์จะทำให้ผิวพรรณหม่นหมองและตาโปน นอกจากนี้การกินผักยังช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยมากขึ้นด้วย ความอดทนและมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพที่ผ่านมา จึงไม่เพียงส่งผลดีต่อลูกเท่านั้นแต่ส่งผลดีต่อตัวไอด้าเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เพราะสิ่งที่ต้องต่อสู้อย่างแท้จริงไม่ใช่โรคภัย แต่เป็นพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพต่างหากค่ะ

"คุณหมอกล่าวว่าโรคไทรอยด์เป็นพิษไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดหรือกลืนรังสีได้ ต้องกินยาควบคุมอาการและดูแลสุขภาพให้ครบด้าน ร่างกายจึงจะดีขึ้น วันนั้นไอด้าจึงได้ยามากินพร้อมกับการบ้านที่ต้องเก็บมาคิดว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่"

"หลังคลอดเพียงสองวัน ไอด้าปวดหัวมาก มากเหมือนจะแตกออกเป็นเสี่ยง คุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าน้ำในไขสันหลังรั่ว ... คุณหมอทำคลอดแนะนำให้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทน เพราะเป็นวิธีที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงอีก ห้าวันหลังคลอดไอด้าจึงต้องนอนราบยี่สิบสี่ชั่วโมงและดื่มน้ำให้ได้อย่างต่ำสามลิตร นับเป็นความทรมานจริงๆ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook