หมอเสาวภาเตือน "เด็กเล็ก" ไม่ควรนั่งนิ่งเกิน 1 ชม.ต่อวัน และควรออกกำลังกาย 1 ชม.ต่อวัน
คุณหมอเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เจ้าของแฟนเพจ "หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก" ได้ออกมาเตือนคุณพ่อ คุณแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในช่วงเวลาที่อยู่บ้านยาวๆ เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี สมวัยที่สุดค่ะ
โดยคุณหมอออกมาเตือน บนเพจ "หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก" ดังนี้
ขอนำมาเตือนอีกครั้ง....
เด็กอนุบาล ไม่ควรนั่งนิ่งนานเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรออกกำลังกายมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันด้วย
ในช่วงนี้ หากมีกิจกรรมออนไลน์ ไม่แนะนำเรียนแบบนั่งดูฝ่ายเดียว (one way) แต่ขอให้เรียนแบบโต้ตอบได้ (interactive learning)
ลองดูของเมืองนอกที่ AAP แนะนำ เช่น PBS Kids ตามนี้ https://www.pbs.org/parents
แต่.. อย่าลืมกฎสำคัญ เด็กวัยอนุบาล ไม่นั่งนิ่งเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ถึงจะออนไลน์แบบโต้ตอบไปมา ก็อย่านั่งต่อกันนาน 1 ชั่วโมงนะคะ
และเด็กน้อยกว่า 2 ปีไม่ควรอยู่หน้าจอเลย
สิ่งสำคัญมากกว่าคือ ตอนไม่ออนไลน์ #ลูกควรได้ทำกิจกรรมกับพ่อแม่... หากใครหมดมุก ลองดูใน PBS Kids มีแนะนำไอเดียใหม่ๆ ทุกวัน
#เด็กน้อยกว่า 5 ปี ควรออกกำลัง-ดูจอ-และนอนแค่ไหนดี?
WHO มีคำแนะนำถึงปริมาณเวลาที่เด็กควรใช้ในกิจกรรมต่างๆต่อวันรวมทั้งเวลานอนด้วย หมอคิดว่ามีประโยชน์มากๆ จึงได้เขียนโพสต์ก่อนที่พูดถึงเด็กวัย 1-3 ปีไปแล้ว วันนี้จะพูดถึงเด็กโตขึ้น
WHO แบ่งกิจกรรมเป็น 3 หมวดหมู่ดังนี้
physical activity กิจกรรมที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวและเผาผลาญพลังงานในระดับที่สูงกว่า sedentary behavior ได้แก่ กิจกรรมว่ายน้ำ, วิ่ง, เต้นรำ เดินและวิ่งไปมาในบ้านฯ
sedentary behavior พฤติกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก เผาผลาญพลังงานน้อยมากๆ เช่น การนั่งฟังนิทาน, การนั่งดูการ์ตูน ฯ
sleep การนอน
#เด็กอายุ 3-5 ปี แนะนำให้แบ่งสัดส่วนแบบนี้
physical activity ต้องมีอย่างน้อย 180 นาที /วัน (3 ชั่วโมง!) และบังคับให้มีกิจกรรมที่มีระดับความเหนื่อยตั้งแต่กลางถึงมาก 60 นาทีอยู่ในนี้ (ของเด็ก 1-3 ปี ไม่ได้บังคับเพียงแต่เสนอแนะ)....และเหมือนเดิม ถ้าจะทำมากกว่า 180 นาทีต่อวันก็ยิ่งดี
กิจกรรมที่มีระดับความเหนื่อยตั้งแต่กลางถึงหนัก (moderate- to vigorous-intensity physical activity) ได้แก่ วิ่ง, กระโดด, เตะบอล, ว่ายน้ำ, เต้นรำ, ขี่จักรยานฯ สังเกตจาก เด็กจะตัวอุ่นขึ้นและหายใจเหนื่อยขึ้น คล้ายๆ หายใจไม่ทัน
แต่การเดินไปมาในบ้าน นั่งเล่นทรายในกระบะ หรือ วิดน้ำออกจากอ่าง แม้จะดีกว่านั่งเฉยๆ แต่อยู่ในกลุ่มออกกำลังระดับเบานะคะ (Light-intensity physical activity)
ดังนั้น หากบ้านไหนลูกชอบเล่นแต่ทราย นั่งระบายสี..อย่าลืมหากิจกรรมให้ลูกได้ออกกำลังแบบกลางถึงหนักด้วย เพราะต้องมีถึง 1 ชั่วโมงใน 3 ชั่วโมงนี้
sedentary behavior
WHO เขาแนะนำว่า อย่าให้เด็กอยู่กับที่นานเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง เช่น การอยู่ในรถเข็น หรือการนั่งเล่นอยู่กับพื้นนานเป็นชั่วโมงๆ หมอพบประเด็นนี้บ่อยมากขึ้นในบ้านเรา...เด็กถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณที่แคบ เช่น ในออฟฟิส หรือการนั่งเรียนในห้องเรียน ฮือๆๆ...ไม่อยากให้โรงเรียนบ้านเราเป็นแบบนี้เลย
อย่าให้เกินครั้งละ 1 ชั่วโมงเลยนะคะ ให้พาเด็กออกกกำลังกายในพื้นที่โล่งเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและสร้างพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและสติปัญญาของเด็กด้วยค่ะ
คำแนะนำข้อนี้เหมือนเด็ก 1-3 ปี มีต่างตรงที่เพิ่มให้ sedentary time พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรปฏิสัมพันธ์กับลูก จะเล่านิทานและโต้ตอบไปมา หรือจะชวนคุยเรื่องที่กำลังทำอยู่ก็ได้ ประเด็นคือ ควรมีปฏิสัมพันธ์กัน อย่าให้เป็นรูปแบบเด็กนั่งฟังอย่างเดียว หรือ ทำคนเดียวค่ะ
ฮือๆ อีกรอบ นักเรียนบ้านเรานั่งฟังอย่างเดียว พ่อแม่คงต้องลงแรงเอง...พูดคุยกับลูกบ่อยๆ นะคะ
ส่วน Sedentary screen time ให้ใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมง เลือกสื่อเหมาะกับเด็ก และพ่อแม่นั่งอยู่ด้วยเพื่อกระตุ้นการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับลูก
ข้อนี้เหมือนของเด็กเล็กที่เขียนไปเมื่อโพสต์ก่อน...หมอเห็นด้วยกับ WHO มาก เพราะคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ฯไทยและอเมริกา เขาให้ได้ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน...ซึ่งหมอไม่คิดว่า การอยู่หน้าจอเยอะจะดีกับเด็ก ดังนั้นถ้าทำได้..ขอน้อยๆจะดีที่สุดค่ะ
sleep
เด็กต้องมีเวลานอนที่มีคุณภาพ 10–13 ชั่วโมงต่อวัน (รวมหลับกลางวัน)...และควรเป็นรูปแบบการนอน-การตื่นที่สม่ำเสมอ
ข้อนี้ ต่างจากโพสต์ก่อน คือจำนวนชั่วโมงน้อยลงตามวัย ซึ่งถือว่าปกติ และคุณพ่อคุณแม่อย่าห่วงแต่จำนวนชั่วโมง จนลืมสร้างกิจวัตรประจำวันการนอนด้วยนะคะ...เพราะคุณภาพของการนอนมักสัมพันธ์กับกิจวัตรที่เราสร้างให้ลูกเรียนรู้
หมอขอสรุปสำหรับวัย 3-5 ปี เป็น 4 ข้อ
1. นอนให้พอ และเป็นการนอนที่มีคุณภาพ 10–13 ชั่วโมงต่อวัน โดยพ่อแม่ต้องสร้างกิจวัตรให้ลูก (จำนวนชั่วโมงนอน น้อยลงตามวัย)
2. อย่าให้เด็กอยู่นิ่งๆ หรืออยู่ที่แคบๆ นานเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง..ควรพาเด็กทำกิจกรรมออกแรงอย่างอื่นแทน และกิจกรรมที่ลูกอยู่นิ่งๆ พ่อแม่ควรจะเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น เล่านิทานและโต้ตอบไปมา หรือ ชวนลูกคุยพร้อมระบายสีไปด้วย (อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ไม่มีคนมาปฏิสัมพันธ์บ่อยๆ)
3. ใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมง เลือกสื่อที่ดีและพ่อแม่นั่งอยู่ด้วยเพื่อกระตุ้นการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (จำนวนชั่วโมงที่ให้ดูเหมือนของเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป)
4. เล่นออกแรงให้เหนื่อยตั้งแต่เบาๆ ไปจนถึงหนัก ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และต้องมีแบบกลางถึงหนักอยู่ 1 ชั่วโมงใน 3 ชั่วโมงนี้ค่ะ...ถ้าทำได้ปริมาณชั่วโมงมากกว่านี้ ก็ยิ่งดีมาก (มีบังคับออกกำลังกลางถึงหนักเพิ่มมาค่ะ)
หมอพบว่า “ข้อ 4” เป็นหัวใจสำคัญของชีวิตเด็กเล็ก ถ้าลูกออกแรงและได้ปริมาณเวลานานๆ เขาจะเหนื่อยจนสามารถนอนหลับง่ายขึ้น ปัญหาการนอนหลับยากจะลดลงไปเอง และยังทำให้ลูกไม่เหลือเวลาหมกหมุ่นติดจอด้วย ปัญหาทะเลาะกันเรื่องนี้ก็ลดลงตาม...
ดังนั้น ถ้าหากเจอลูกงอแงติดจอ แล้วนึกไม่ออกว่าจะแก้ตรงไหนก่อน..แนะนำทำข้อ 4 ก่อนเลยนะคะ....
อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี อย่าโฟกัสแค่ปริมาณเวลาที่อยู่หน้าจอ ต้องโฟกัสปริมาณการออกกำลังและการนอนของลูกด้วยนะคะ
หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก