เปลี่ยนพฤติกรรมด่วน! ทำไมพ่อแม่จึงไม่ควรประชดลูก
สำหรับหลายครอบครัว เราเชื่อว่าคงมีบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ระเบิดอารมณ์ (โกรธ) เพียงชั่ววูบใส่ลูก ทั้งตะคอก ทั้งดุ หรือการพูดประชดประชันต่างๆ แต่หารู้ไหมว่า แม้เพียงอารมณ์ชั่วคราวนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกได้ในระยะยาว "หมอมินบานเย็น" หรือ หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" เผยผลเสียที่เกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่ใช้คำพูดประชดประชันลูกไว้ในเพจดังต่อไปนี้ค่ะ
#ทำไมพ่อแม่จึงไม่ควรประชดลูก
เวลาที่เกิดอารมณ์โกรธ พ่อแม่มักจะหลุดคำพูดบางอย่างที่จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่มันเกิดขึ้นเพราะความโกรธ โดยเฉพาะคำพูดประชดประชัน
ขึ้นชื่อว่าคำพูดเมื่อหลุดปากออกไปแล้วไม่สามารถกลับคำได้ บางครั้งก็สร้างบาดแผลและกลายเป็นเรื่องบานปลายทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรงมากขึ้น
แล้วคำพูดประชดประชันไม่ดีอย่างไร หมออยากจะเล่าอะไรให้ฟัง
พอจะคุ้นๆ กันไหม กับคำพูดประมาณนี้...
"สอบได้คะแนนเท่านี้ ไม่ต้องรงไม่ต้องเรียนมันแล้ว พรุ่งนี้จะพาไปลาออก"
"ทำไมบอกแล้วไม่จำ แม่เบื่อจะแย่แล้ว ยกให้เป็นลูกคนอื่นดีมั้ย"
"ถ้ารู้แบบนี้นะ พ่อกับแม่อยู่กันสองคนไม่ต้องมีลูกก็คงสบายกว่า"
"ไม่ต้องมาเป็นพ่อเป็นลูกกันดีมั้ย ต่างคนต่างอยู่"
คำพูดประชดประชันแบบนี้ มักหลุดออกมาเวลาที่เราโกรธ โมโห ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ใครก็ตาม เจอคำพูดประชดแดกดัน คงไม่มีใครชอบ ยิ่งเป็นคำพูดจากคนที่รัก นอกจากไม่ชอบก็ทำให้เสียความรู้สึก
ลองคิดถึงตัวเอง ถ้าเราไม่ชอบ คนอื่นก็คงไม่แตกต่าง เพราะงั้น ก็ไม่ควรไปพูดกับใคร ถึงแม้จะโกรธ พูดไปแล้วอาจจะได้ระบายความโกรธ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มักจะทำให้รู้สึกไม่ดีมากขึ้น
ยิ่งเป็นพ่อแม่ ยิ่งไม่ควรใช้คำพูดแบบนี้กับลูก เพราะอะไร พ่อแม่บางคน บอกหมอว่า คิดว่าคำพูดแรงๆ จะทำให้ลูกเข็ดหลาบ ทำให้จำไม่ลืม และทำตัวดีขึ้น เป็นแบบนั้นจริงไหม
อาจจะจริงที่ทำให้เด็กจำไม่ลืม(เพราะส่วนใหญ่ เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ๆ จากคนที่เรารัก มักจะลืมได้ยาก) แม้จะไม่ลืม แต่อาจจะไม่ได้ทำให้ทำตัวดีขึ้น
หมอพบว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ชอบใช้คำพูดแนวประชดประชัน เมื่อได้ยินก็จะเสียใจ น้อยใจ กลายเป็น โกรธ ไม่เข้าใจความต้องการจริงๆ ของพ่อแม่ รับรู้แต่การประชด เด็กๆ คิดไม่ทันหรอกว่า พ่อแม่เป็นห่วง ถึงพูดแบบนี้ ส่วนใหญ่เด็กจะประชดตอบ ต่อต้านมากขึ้น
ถ้าเป็นห่วงที่ลูกสอบได้คะแนนไม่ดี อยากให้ลูกปรับปรุง แทนที่จะพูดว่า "สอบได้แค่นี้ ไม่ต้องรงไม่ต้องเรียนมันแล้ว พรุ่งนี้จะพาไปลาออก" ซึ่งอาจจะทำให้ลูกตอบโต้ว่า "เออดี ลาออกก็ดี หนูก็ไม่อยากเรียนมันแล้ว"
หมอคิดว่าพ่อแม่ก็คงไม่อยากให้ลูกบอกแบบนั้น การพูดตรงๆ กับลูกว่า "แม่ไม่สบายใจที่เห็นลูกสอบได้คะแนนไม่ดี แม่เป็นห่วง แม่อยากให้หนูตั้งใจเรียน อ่านหนังสือมากขึ้น" แบบนี้น่าจะสร้างความเข้าใจร่วมกันมากกว่า
เปลี่ยนคำพูดสักนิด อะไรๆ น่าจะราบรื่น คุยกันอย่างเข้าใจมากขึ้น ลองดูนะคะ
#หมอมินบานเย็น