"แม่โมโห รู้สึกผิด" วงจรชีวิตมนุษย์แม่ ที่เชื่อว่าหลายคนกำลังเป็น!
คนเป็นพ่อ เป็นแม่ ต้องมีอยู่แล้วที่จะต้องเหนื่อยเวลาเลี้ยงลูก จนบางครั้งเกิดอาการวีนแตก โกรธ หรือดุลูก และลงเอยด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง คุณหมอเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เจ้าของแฟนเพจ "หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก" ได้แนะนำทางออกและวิธีแก้ไขดังนี้ค่ะ
#พ่อโมโห #แม่โมโห #รู้สึกผิด
สืบเนื่องจาก คำพูดหมดแรงของคุณแม่ท่านหนึ่ง “พยายามมากเลยค่ะ ที่จะไม่โมโหใส่ลูก แต่ปัญหาคือลูกไม่ฟังเลยค่ะ มันก็ต้องโมโห... พยายามแล้ว แต่มันไม่ไหว.. เหนื่อยมากเลยค่ะคุณหมอ”
ทำให้หมอนึกถึงวงจรชีวิตมนุษย์แม่.. ที่เชื่อว่าหลายคนกำลังเป็น!
ลูกไม่เชื่อฟัง โมโหลูก จะไม่โมโหลูกอีกแล้ว รู้สึกผิด
เป็นธรรมดานะคะ ที่พ่อแม่จะเหนื่อยตอนเลี้ยงลูก...แม่ทุกคนเจอสภาพแบบนี้ทั้งนั้น หมอเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนโกรธลูก ดุลูก และลงเอยด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง
และเชื่อว่า ส่วนใหญ่ก็พยายามจะไม่โมโหอีก, อยากมีอารมณ์ปกติ ไม่อยากดุ ไม่อยากโมโห ไม่อยากเครียด, ไม่อยากรู้สึกแย่กับตัวเองอีกแล้ว.... แต่เอาจริงๆ พอเจอหน้างาน ที่ลูกไม่ฟัง... มันก็ทนไม่ไหว!
รู้มั้ยว่า วงจรนี้ อาจเกิดจาก “ความคาดหวังผิด” ซึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา
เหตุเพราะไม่อยากเจอสภาพลูกดื้อแล้วโมโห, เราไม่อยากรู้สึกผิด, ไม่อยากรู้สึกเป็นแม่ไม่ดี ใจลึกๆ จึง “คาดหวังให้ลูกเชื่อฟัง” เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นแม่แบบนี้
แต่ในความจริง การคาดหวังให้ลูกเชื่อฟัง เพื่อพ่อแม่ไม่ต้องโมโหนั้น มันไม่ใช่!! เรากำลังหลอกตัวเอง กลายเป็นว่า เราไม่ได้โฟกัสการจัดการอารมณ์ตนเอง แต่ไปโฟกัสที่ลูก!, หวังให้ลูกไม่ดื้อก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้!
(สิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใตสำนึก ค่อยๆ สำรวจดูนะคะ ว่าใช่มั้ย)
เมื่อตั้งความคาดหวังผิดตั้งแต่แรก ชีวิตมนุษย์แม่จึงวนอยู่ในวงจรนี้ วันแล้ววันเล่า งั้นจะทำยังไงดี ก็ต้องคาดหวังแบบใหม่ค่ะ
ความคาดหวังเดิม : ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่จะได้ไม่โมโห (จุดโฟกัสอยู่ที่ลูก ลูกเป็นผู้กำหนดอารมณ์พ่อแม่)
คาดหวังแบบใหม่ว่า : เด็กๆ ไม่ง่ายอยู่แล้ว พ่อแม่ต้องเตรียมจัดการอารมณ์ตนเอง” (จุดโฟกัสอยู่ที่พ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้กำหนดอารมณ์ตนเอง)
เมื่อพ่อแม่คาดหวังแบบใหม่ จุดโฟกัสอยู่ที่ตนเอง ไม่ว่าลูกดื้อ-ไม่ดื้อ, ฉันต้องจัดการตนเองนั่นแหละ, ฉันต้องรับผิดชอบอารมณ์ตนเอง มันไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ลูกแล้ว
โฟกัสตนเองแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือ การเตรียมตัวและเตรียมใจ
เตรียมตัว คือ มานั่งคิดนอกรอบว่า เรามีจุดอ่อนตรงไหน จะทำอะไรได้ก่อนถึงจุดโมโหมั้ย (อย่าไปรับมือตรงหน้างานแบบไม่มีแผนใหม่นะคะ)
เช่น จุดอ่อนอยู่ที่เป็นคนขี้ใจอ่อน ยอมลูก ตามใจลูก แต่หากลูกเซ้าซี้มากๆ ก็จะโมโห
วิธีแก้ไข : แก้ตรงใจอ่อนค่ะ เพราะจุดอ่อนนี้เป็นที่มาของการเซ้าซี้ที่ทำให้เราโมโห ถ้าไม่ใจอ่อนหรือตามใจลูก, ลูกอยู่ในกติกาปกติ เขาก็ไม่เซ้าซี้เอง
หรือ จุดอ่อนเป็นคนชอบบ่นแต่ทำให้ลูก แต่พอบ้านรกมาก หรือดูลูกขี้เกียจมาก เราก็ระเบิด
วิธีแก้ไข : แก้ตรงอย่าเป็นคนขี้บ่น เปลี่ยนเป็นพูดจริง ทำจริง สร้างกติกาที่ทำได้จริง และเลี้ยงลูกโดยฝึกให้ทำอะไรเองอย่างจริงจังเสียที
หรือ จุดอ่อนอยู่ที่ขี้รำคาญ ชอบตัดบท ครั้นลูกงอแงมากขึ้นๆ ก็โมโห
วิธีแก้ไข : แก้ตรงให้เป็นคนคิดล่วงหน้า รู้จักวางแผนเรื่องที่ชอบตัดบท คิดรับมือแบบใหม่เลย จะไม่ฉุกละหุก ไม่ต้องตัดบทแบบเดิมอีก
เตรียมใจคือ บอกตัวเองล่วงหน้าว่า เดี๋ยวอาจเจอลูกต่อต้าน อาละวาด เด็กๆไม่ง่ายอยู่แล้ว อย่าเข้าไปแบบหวังว่าลูกจะเชื่อฟังนะคะ
คนเราถ้าเตรียมใจว่าจะเจออะไรยากๆ จะทำให้รับมืออย่างมีสติมากกว่า... แต่ถ้าเตรียมใจแบบหวังว่าลูกจะง่าย โอกาสสติแตกสูงมากกกกก
พ่อแม่สามารถหยุดวงจร (ที่ร้ายกาจ)นี้ด้วยตัวเอง ขอให้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เพื่อสำรวจปัญหาและจุดอ่อน มีการเตรียมตัวและเตรียมใจไว้ก่อน
อย่าคิดเพียงว่าต่อไปจะไม่โมโหอีก แล้วหวังว่าจะดีขึ้นเท่านั้น เพราะมันไม่เพียงพอแน่นอนค่ะ
เป็นกำลังใจให้นะคะ
หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก