เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ "คุณแม่" ปรับตัว และเตรียมพร้อมอย่างไรสู่ New Normal

เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ "คุณแม่" ปรับตัว และเตรียมพร้อมอย่างไรสู่ New Normal

เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ "คุณแม่" ปรับตัว และเตรียมพร้อมอย่างไรสู่ New Normal
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 (COVID-19) ไปทั่วโลก ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบขึ้นกับทุกสิ่ง ทุกอย่าง และทุกคน เช่นเดียวกับบทบาทหน้าที่ “แม่” ที่ในช่วงเวลานี้อาจต้องดูแลลูกเต็มเวลา ในขณะที่ตนเองยังต้องทำงานอยู่บ้านควบคู่ไปด้วย หรือคุณแม่ที่รายล้อมไปด้วยลูกๆ วัยไล่เลี่ยกัน และทุกคนปิดเทอมยาว

แม้กระทั่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ต้องกลับมาตั้งหลักที่ตนเองยังคงต้องเป็นเสาหลักให้กับลูกและครอบครัวเสมอ Sanook Women จึงชวนคุณแม่ที่อยู่บริบทต่างๆ มาพูดคุยถึงการรับมือ การปรับตัวกับการสถานการณ์สำคัญครั้งนี้ รวมไปถึงด้วยสายตาของผู้เป็นแม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับ New Normal ชีวิตวิถีใหม่ ที่เขาว่ากันว่าจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปอย่างไร

คุณแม่ลูก 3 ที่วัยไล่เลี่ยกัน...นึกแล้วน่าสนุก

คุณลูกตาล-สายใจ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณแม่ลูก 3 ที่ดูแลน้องลิล,น้องพิน และน้องพอดี เตชะไกรศรี ด้วยตนเองโดยไม่มีพี่เลี้ยง เธอบอกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ลูกๆ ทั้ง 3 คนอยู่บ้านพร้อมกันตลอดเวลา เป็นเรื่องสนุกและมีหลายสีสัน แต่อาจมีทะเลาะกันบ้าง โดยเฉพาะลูกสาวจะมีอาการน้อยใจ งอนบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมารัก และเล่นด้วยกันอยู่ดี

ด้านคุณลูกตาลเองก็ต้องปรับตัวทุกด้าน ตั้งแต่ปรับพื้นที่ใช้สอยในบ้านให้เหมาะกับการเรียน การสอนของลูกทั้ง  3 คน ที่เธอเปรียบเหมือนตนเองต้องรับตำแหน่งเป็นคุณครูประจำบ้าน โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ถือเป็นความท้าทายและยากลำบากมาก “ปกติสอนการบ้านลูกว่ายากแล้ว พอต้องมาเป็นคุณครูยากยิ่งกว่า”  โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ไม่สามารถนั่งเรียนออนไลน์ได้นานๆ คุณลูกตาลต้องสวมบทบาทครูทุกวิชา นอกจากเรื่องการเรียนแล้วคุณลูกตาลยังต้องจัดเตรียมเรื่องอาหาร ของว่าง กิจกรรม และการออกกำลังกายเพื่อให้ลูกๆ สะดวก สบาย ไม่รู้สึกเบื่อ

การใช้เวลาอยู่รวมกันตลอด  24 ชม.ในบ้าน อาจต้องมีการกำหนดหลักการอยู่อาศัยร่วมกันให้มีความลงตัว ในแต่ละวันคุณลูกตาลจึงตั้งกติกาการใช้ชีวิตในบ้านร่วมกันเช่นทุกวันจันทร์ –ศุกร์ เด็กทุกคนจะใช้ตารางชีวิตเหมือนช่วงเวลาปกติที่ไปโรงเรียน ดังนั้นจึงต้องตื่นเช้า เข้านอนเร็ว มีการแบ่งเวลาให้ชัดเจนในทุกกิจกรรม ส่วนหนึ่งคุณลูกตาลจะได้มีเวลาของตนเองหลังเด็กๆ เข้านอน สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ เน้นเรื่องการพักผ่อน ออกกำลังกาย อาจพาเด็กๆ ไปพบญาติผู้ใหญ่  หรือให้พวกเขาเลือกกิจกรรมที่อยากทำ โดยคุณลูกตาลคิดว่าหากมีการจัดเวลาให้เด็ก พวกเขาจะทราบว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง

ในขณะที่การสร้างความเข้าใจกับเด็กๆ ยังเป็นสิ่งสำคัญ คุณลูกตาลใช้วิธีพูดคุยแบบสบายๆ กับลูกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ให้เด็กทราบว่าเรากำลังเจอกับโรคระบาด อะไรกำลังเกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร และเราควรปรับตัวอย่างไรทั้งเพื่อตัวเราเอง คนอื่น และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมได้อย่างไร การอธิบายจะทำให้เด็กทราบและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ และไม่รู้สึกตื่นกลัว แต่มีความระมัดระวัง

การวางแผนสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เธอคิดว่าต้องปรับตัวและใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง อย่ากลัวจนเกินไป แต่ก็อย่าประมาท มีความสุขกับทุกๆ วัน หากิจกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เรามีความสามารถเพิ่มเติม เมื่อวันหนึ่งทุกอย่างผ่านไป มันก็จะเหมือนหลายๆ เรื่องที่เราเคยกังวลและผ่านมาได้ในอดีต

ดังนั้นนอกจากคุณแม่ท่านอื่นๆ จะใส่ใจเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของเด็กๆ แล้ว คุณลูกตาลอยากให้คุณแม่ทุกคนกลับมานึกถึงตัวเอง ควรผ่อนคลาย ปล่อยวาง ดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก ซึ่งเธอเองก็พยายามอยู่ เพราะสุดท้ายโรคระบาดนี้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิต เราจึงไม่ควรจะเครียดเกินไป ให้ปล่อยวาง เช่นสอนลูกแล้วไม่เข้าใจ  ต้องบอกว่า “ไม่เป็นไร” บ้าง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาว และคุณแม่ควรมีเวลาพักสั้นๆ ระหว่างวันเพื่อลดความเครียด

คุณแม่ที่ต้อง Work from Home ไปพร้อมบริหารเวลาให้ลูก

คุณมด-ดวงกมล ถิระวัฒน์ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง คุณแม่ที่ต้องทำงานอยู่บ้านไปพร้อมดูแลน้องมอร์ฟีน ลูกชายซึ่งอยู่ในช่วงปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ

แม้ปกติคุณมดจะทำงานที่บ้านอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ ทั้งคู่กลับต้องใช้เวลาตลอด 24   ชั่วโมงอยู่บ้าน ในขณะที่คุณมดยังคงต้องทำงานตามปกติ คุณมดคุณแม่เวิร์กกิ้งวูแมนจึงต้องเพิ่มบทบาทครูสอนหนังสือให้กับลูกชาย เปลี่ยนบรรยากาศของบ้านเป็นโรงเรียน ในช่วงแรกน้องมอร์ฟีนมีข้อสงสัยเรื่องเรียนว่าทำไมเรียนมากกว่าไปโรงเรียน คุณมดจึงต้องคุย และอัปเดตข่าวสารให้ลูกชายเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ซึ่งน้องมอร์ฟีนก็เข้าใจทันที

ปัจจุบันคุณมดยึดเวลาของมอร์ฟีนเป็นหลักคือเธอแบ่งเวลาสอนหนังสือและเล่นกับลูกชายก่อน จากนั้นถ้าลูกพักดูการ์ตูนจึงเป็นเวลาทำงานของตนเอง สำหรับแม่-ลูกคู่นี้ไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนานเนื่องจากปกติคุณมดและคุณพ่อของน้องมอร์ฟีนเลี้ยงลูกเองอยู่แล้ว ดังนั้นตอนนี้จึงเริ่มชินกับกิจวัตรประจำวันคือตื่นขึ้นมาเล่น เรียน เล่น และโชคดีที่บ้านคุณมดปลูกผัก เลี้ยงไก่จึงมีกิจกรรมให้ลูกชายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

สำหรับแผนที่วางไว้คือหวังให้โรงเรียนเปิดได้เพราะน้องมอร์ฟีนต้องเปลี่ยนระดับชั้นเรียนตอนช่วงเดือนสิงหาคม คุณมดมองว่าไม่อยากให้เด็กขาดความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และคุณครู แต่ถ้ายังเปิดเรียนไม่ได้เธอก็วางแผนว่าต้องเรียนที่บ้าน และสอนกันแบบตัวต่อตัว อาจเพิ่มกิจกรรม งาน DIY ทำอาหารให้ลูกรู้สึกสนุก

ส่วนคุณแม่ที่ต้องทำงานอยู่บ้าน และดูแลลูกไปด้วย เธอแนะนำว่าให้เวลาลูกเป็นหลักก่อน เมื่อเขารู้สึกสนุกเต็มที่ คุณแม่ค่อยขอเวลาไปทำงานของตัวเอง และควรให้ลูกเข้านอนเร็ว เพื่อคุณแม่จะได้มีเวลาเคลียร์งานต่อในช่วงกลางคืน

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้เป็นเสาหลักให้กับครอบครัว

เรารู้จักเธอคนนี้กันเป็นอย่างดีสำหรับ "โบว์-แวนด้า สหวงษ์" คุณแม่ของน้องออโต้ และน้องมะลิ ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างคุณโบว์ ออกปากเองเลยว่าเหนื่อย และหนักมาก เพราะไม่เพียงแต่ต้องรับบทบาท หน้าที่แม่แล้ว เธอยังต้องดูแลทีมงานของบริษัทที่เธอเป็นผู้บริหาร แม้ทุกวันนี้หลายๆ อย่างจะรันไปได้ แต่ก็มีบางครั้งที่เมื่อมีอุปสรรคเข้ามา ก็ทำให้คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้ต้องอยู่กับตัวเอง นั่งคิดถึงวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด

ลองไปอ่านรายละเอียดว่าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 นี้ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนเก่งต้องปรับตัว เตรียมตัว และวางแผนการดำเนินชีวิตของตัวเองกับลูกๆ และมองไปถึงวันข้างหน้าที่หลายๆ อย่างจะเปลี่ยนไปอย่างไร

“โบว์ แวนด้า” กับบทบาท “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ในวันที่ยังไม่รู้จุดจบของโควิด-19

 

 

 

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ "คุณแม่" ปรับตัว และเตรียมพร้อมอย่างไรสู่ New Normal

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook