คุมเบาหวานให้อยู่ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

คุมเบาหวานให้อยู่ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

คุมเบาหวานให้อยู่ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าใจกันมาตลอดว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้เป็นเบาหวานเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆแล้วเพียงแค่การปรับทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ชีวิตใน 4 ข้อหลักๆก็เพียงพอแล้วกับการ "คุมเบาหวาน"

แล้วการคุมเบาหวาน หรือ การคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำคัญกับผู้ป่วยอย่างไร
จากการศึกษาเกี่ยวกับโรคเบาหวานครั้งใหญ่ที่สุด UKPDS (United Kingdom Prospective Diabetes Study) ซึ่งใช้เวลาถึง 20 ปี ในการศึกษากับอาสาสมัครผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กว่า 5,000 คน ณ ศูนย์การแพทย์ 23 แห่ง ในอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ ชี้ให้เห็นว่า การจัดการเบาหวานด้วยวิธีรักษาที่มีอยู่อย่างจริงจัง สามารถลดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ซึ่งเกิดจากเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด ช่วยลดความเสี่ยง ของการเกิดโรคแทรกซ้อนทางตา อันเป็นผลจากเบาหวานได้ถึง 25% และโรคไตเสื่อมระยะแรกได้ถึง 33%


เห็นอย่างนี้แล้ว ทำให้เข้าใจว่าแม้โรคเบาหวานจะถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยก็สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับเบาหวานอย่างเป็นปกติสุข โดยเริ่มจากการปรับทัศนะและมีความตั้งใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใน 4 ข้อหลัก ดังนี้

1. การทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คาร์โบไฮเดรตมีอิทธิพลสูงสุดต่อค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่หลังอาหาร แม้จะมีหลักการแนะแนวอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือทดแทน ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนเหมือนๆกัน ดังนั้นผู้ป่วยควรมีการจัดตารางอาหารให้สมดุล ควบคู่ไปกับการคำนวณคาร์โบไฮเดรตและการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความยืดหยุ่นในการเลือกทานอาหารได้ในแต่ละวัน

2. การออกกำลังกายการทำตัวแอคทีฟ กระฉับกระเฉง และออกกำลังในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการออกกำลังที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาฉีดอินซูลิน นอกจากนี้ควรคำนึงถึงข้อควรระวังต่างๆเช่น การป้องกันบาดแผลที่เท้า

3. ยาเบาหวานและอินซูลิน ผู้ป่วยเป็นเบาหวานหลายๆท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเบาหวานหรือฉีดอินซูลิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและแนวทางการรักษาจากทีมแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละคน แต่หากได้รับการจ่ายยาจากทีมแพทย์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

4. ตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอซึ่งก็ไม่ต่างจากการวางแผนลดน้ำหนักที่เราจะหมั่นตรวจสอบน้ำหนักตัวเป็นระยะเพื่อให้รู้ว่าแผนที่ทำมาได้ผลดีหรือไม่ ผู้ป่วยเบาหวานก็เช่นกันที่ต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าจะจากทีมแพทย์หรือการตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเอง เพื่อจะทำให้คุณและทีมแพทย์ทราบว่าแผนการควบคุมเบาหวานที่ทำอยู่ได้ผลดีหรือควรจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

ดังนั้นหากละความเคยชินเดิมๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกับเบาหวานหรือการจะควบคุมเบาหวานนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการดูแลรักษาเบาหวานและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คลิกที่นี่



Source : http://care.diabetesjournals.org/content/25/suppl_1/s28.full
http://en.wikipedia.org/wiki/United_Kingdom_Prospective_Diabetes_Study
http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa0806470

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook