ไร้เพศ...แฟนชั่นยุคนี้สามี-ภรรยาต้องสลับเสื้อผ้ากันใส่ ไม่ก็รวมกันเป็นชุดเดียวเลย!
“เพศ” สิ่งที่ปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายขึ้นจนแทบจะนิยามไม่ได้ ลักษณะหญิง-ชายถูกตีความเป็นเพียงเพศสภาพเท่านั้น ความรู้สึกนึกคิดไม่เกี่ยวพันกับสภาพร่างกายอีกต่อไป แฟชั่นกำลังเดินตามรอยเส้นทางด้วยชุดความคิดเดียวกัน ในยุคที่เราสามารถแต่งตัวได้ตามใจไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดที่มองไม่เห็นอย่างเรื่องเพศซึ่งคอยสกัดกั้นความคิดนอกกรอบของเราให้ไม่กล้าเปิดใจทำสิ่งใหม่ ๆ ลองนึกภาพเราแหวกแนวแต่งตัวสุดขั้วมาแล้วแต่ก็ยังติดอยู่ในกรอบความเป็นหญิง-ชาย มันไม่ได้มีใครห้ามหรือสร้างกฎไว้แต่เหมือนความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกยังถูกปลูกฝังอะไรบางอย่างให้ไม่ก้าวข้ามกำแพงนั้น แล้วตอนนี้ล่ะสิ่งเหล่านี้ควรจะถูกทำลายแล้วหรือยัง? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเราที่นี่
รายละเอียดชุดแต่งงานทั้งชาย-หญิงในชุดเดียวจาก Thom Browne คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2018 / ภาพ: Vogue Runway
เราจะขอโฟกัสที่แฟชั่นวีกที่เพิ่งผ่านไปสำหรับโชว์คอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ที่ผ่านมาที่แต่ละแบรนด์หยิบยกเอาประเด็นเรื่องเพศมาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งผู้หญิงหรือผู้ชายตอนนี้ต่างปีนป่ายข้ามกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งฝั่งเรื่องเพศกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีคนคอยดักจับ (จับผิด) ยิงคนข้ามกำแพง (ลงโทษทางสังคม) สำหรับพฤติกรรมและรสนิยมเหล่านี้อีกแล้ว ทั้งหมดที่ถูกแสดงให้ศิลปะแฟชั่นครั้งนี้กลายเป็นสัญญาณสำคัญที่จะบอกว่า “เพศมันคือสิ่งที่ถูกนิยามขึ้นและพวกเรา(อุตสาหกรรมแฟชั่น)จะไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และความชอบด้วยสิ่งนี้อีกต่อไป”
The Beginning of “Genderless”
นางแบบผมสั้นกับเสื้อโค้ตไหล่กว้างจาก Saint Laurent - ชุดกลิ่นอายเพศตรงข้ามจาก Fendi จากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ทั้ง 2 แบรนด์ / ภาพ: Vogue Runway
สิ่งที่เรียบง่ายที่สุดสำหรับการฉีกกฎเกณฑ์คือการสวมใส่เสื้อผ้ากลิ่นอายของเพศตรงข้าม แน่นอนว่าการเริ่มต้นอาจจะยังไม่จำเป็นต้องสุดขั้วให้หลุดจากบรรทัดฐานสังคมมากนัก แต่สาว ๆ สามารถที่จะสวมใส่กางเกงทรงผู้ชายมากขึ้นด้วยการรีดจีบขาตรงเข้ารูปและซิลูเอตที่ดูหนักแน่นมีพลังได้ อย่างเช่น Saint Laurent ที่หยิบเอาเอกลักษณ์จากยุค ‘80s มาสร้างสรรค์เป็นลุคเสื้อโค้ตสุดเก๋ให้พวกเราได้ชมกัน หรือจะเป็น Fendi คอลเล็กชั่นที่โชว์หลังจากหัวเรือใหญ่อย่าง Karl Lagerfeld เสียชีวิตไม่กี่วันที่ออกมาในรูปแบบของงานเทเลอริ่งที่มีรูปทรงเป็นผู้ชายแต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นผู้หญิงอ่อนหวานไว้ด้วยโทนสีนวลอ่อนตัดขอบสีขาว ถือเป็นการใช้รูปทรงและสีที่ถูกกำหนดผ่านเพศสภาพผสมผสานกลายเป็นกลิ่นอายที่ช่างเหมาะเจาะสมกับการจุดไฟรนกำแพงชาย-หญิงที่แท้จริง
Cross-Gender
ลุคข้ามเพศจากหญิงสู่ชายของ Etro, Kwaidan Editions และ Maison Margiela จากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway
กลิ่นอายของเพศเริ่มตลบอบอวลไปทั่ว! ประเด็นนี้ถูกยกเอามาเล่นและสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นโดยเฉพาะของผู้หญิง ซึ่งรูปแบบชุดถูกออกแบบมาให้แข็งแกร่งขัดกับคาแรกเตอร์ที่สังคมส่วนใหญ่นิยามให้ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนหวานอยู่เสมอ คอลเล็กชั่นพลิกโฉมและประกาศกร้าวอย่างชัดเจน “ทำไมผู้หญิงจะแข็งแกร่งและชื่นชอบซิลูเอตผู้ชายไม่ได้” คราวนี้อยากเป็นอะไรก็เป็นได้ สาวๆ เลือกที่จะสวมชุดในโทนสีและการจัดเรียงเลเยอร์ที่สลัดภาพชุดเดรสและความพลิ้วไหวสไตล์เฟมีนีนทิ้งไปเกือบหมด แสดงให้เห็นว่าสังคมบังคับฉันให้แต่งตัวตามความต้องการของสังคมมามากพอแล้วถึงเวลาแล้วที่เพศสภาพไม่ใช่สิ่งกำหนดแฟชั่นอีกต่อไป
Etro ลุคแรกเป็นตัวอย่างที่ดีเมื่อนางแบบผมสั้นมาพร้อมเสื้อผ้าที่ผู้คนตัดสินได้ว่า “ชุดผู้ชาย” หรือจะเป็นแบรนด์อย่าง Kwaidan Editions ที่เนรมิตรันเวย์ให้กลายเป็นกระบอกเสียงของการแต่งตัวแบบแมสคิวลีนสำหรับผู้หญิง รวมถึง Maison Margiela แบรนด์ผู้นิยามการแต่งตัวแบบร่วมสมัยซึ่งในปัจจุบันก็ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างด้านนี้ แต่แน่นอนว่าทั้งหมดยังถูกจำกัดความเรื่องเพศอยู่ดีว่านี่ “โคตรผู้ชายเลย”
ลุคสลับเพศกันของ Thom Browne คอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 กับ Spring/Summer 2018 Menswear / ภาพ: Vogue Runway
ถ้าหากเราอยากบอกเล่าความรู้สึกว่าแท้จริงแล้วเพศสภาพและคำจำกัดความสามารถถูกบิดให้ผิดเพี้ยนไปได้ในโลกแฟชั่น และสิ่งเหล่านี้จะไม่กลายเป็นเรื่องแปลก Thom Browne กำลังสร้างชุดความคิดใหม่ ๆ ให้กับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกแฟชั่นเพราะไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็สามารถทำงานในเซตติ้งเดียวกัน กลิ่นอายออฟฟิศแบบย้อนยุคทำให้นึกถึงโมเมนต์ของการเหยียดเพศในสมัยก่อน แต่ในโชว์ของแบรนด์คอลเล็กชั่นนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ทั้งคู่สวมชุดทำงาน(แบบสลับกับค่านิยมการแต่งตัวที่ผูกติดกับเพศ) และทำงานในออฟฟิศแห่งนี้โดยบอกให้ชัดว่าเขาไม่มองหรอกว่าหญิงหรือชาย เพราะพวกเขาแสดงตัวว่าคือบุคคลที่เชื่อในแฟชั่นของทอม บราวน์มากกว่ากฎเกณฑ์ที่มีอวัยวะลับเป็นตัวกำหนด
Blending
ดีเทลชุดสูทจับระบายช่วงเอวของ Alexander McQueen - ชุดทักซิโด้ที่พร้อมหมวกทรงสูงและทาลิปสีแดงแสดงถึงการผสมผสานเรื่องเพศ ทั้งคู่จากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway
ชุดซิลูเอตแบบฉบับโฉมใหม่กับการใส่ใจกระแสโลกของทุกแบรนด์ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการผสมผสาน กำแพงที่ปิดกั้นอิสรภาพไม่ควรแค่ถูกปีนข้ามจากชายเป็นหญิงหรือหญิงเป็นชายเท่านั้น แต่มันต้องพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำลาย แฟชั่นยุคใหม่กำลังจะเป็นเช่นนั้นผู้คนต่างสนุกสนานกับการผสมผสานสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยหยิบจากนี่นิดนั่นหน่อยช่วยให้รสชาติของเสื้อผ้าในยุคนี้เหมือนอาหารฟิวชั่นที่ตื่นเต้นที่ได้ทานในขณะเดียวกันก็พัฒนาไปสู่เส้นทางอาหารที่เปิดกว้างและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น
กางเกงกึ่งกระโปรงจากแมตช์กับเบลเซอร์ลายตารางจาก Celine - ชุดมินิเดรสรูปแบบจากเสื้อสูทจาก Saint Laurent ทั้งหมดอยู่ในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway
Alexander McQueen ใช้เทคนิคการจับผ้าให้มีความพลิ้วไหวในช่วงเอวของเสื้อสูท Dolce & Gabbana เลือกจะหยิบเอาเสื้อผ้าสูทกึ่งทักซิโด้สำหรับผู้ชายมาใช้โดยที่ยังคงไลน์กระดุมและการเข้าโครงร่างให้เหมาะกับสุภาพสตรี รวมถึงเมกอัพที่สร้างความเป็นผู้หญิงถึงขีดสุดด้วยปากสีแดงราวกับการผสมผสานตัวละครในการแสดงสดยุครุ่งเรืองของอิตาลี
หรือจะเป็น Celine ทีเลือกหยิบยกกระโปรงและเสื้อสูทตามฉบับของ Hedi Slimane ที่ออกมาในสัดส่วนอันพอเหมาะแต่แฝงไปด้วยการผสมผสานเรื่องเพศ ปิดท้ายด้วย Saint Laurent ที่มีการเสื้อสูทผู้ชายสำหรับผู้ชายแต่ปรับซิลูเอตราวกับการเข้ารูปของชุดผู้หญิงในขณะที่ผู้หญิงใส่มินิเดรสแบบปาริเซียงแต่ถูกออกแบบให้กลายเป็นสูทไหล่กว้างใส่พร้อมส้นสูงเป็นคำตอบได้ว่า “นี่ล่ะการผสมผสานเรื่องเพศที่แท้จริง”
True Genderless
การนำเสนอลุคของ Gucci ประจำคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ที่ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเสื้อผ้านี้นำเสนอผ่านเพศใด / ภาพ: Vogue Runway
และแล้วกำแพงเพศถูกทำลายลงเราไม่จำเป็นต้องปีนข้ามจากชายเป็นหญิงหรือจากหญิงเป็นชาย สมกับเป็นสังคม LGBTQ ที่มีเควียร์หรือนิยามเพศในสิ่งที่ตนเองอยากเป็นไม่จำเป็นว่าต้องเรียกว่าอะไรเป็นสำคัญ แฟชั่นยุค 2019 เข้าใจพลวัตของสังคมอย่างถ่องแท้เพราะเมื่อกำแพงถูกทำลายลงมันไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปว่านี่คือชายหรือหญิง เพราะสุดท้ายเสื้อผ้าจะกลายเป็นรูปแบบงานศิลปะ และงานศิลปะต้องมีกรอบเหรอ? คำตอบคือไม่! ความคิดมุ่งผลิไอเดียเสื้อผ้าพร้อมเปลี่ยนโลกจากการผสมผสานสู่รูปแบบของเหลวที่สามารถไหลเวียนไปตามภาชนะที่ใส่
เสื้อผ้าก็ควรจะเป็นเช่นนั้นควรเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำและไหลเวียนไปทั่วร่างกายเราเหมือนกับที่ Gucci ทำทั้งคอนเซปต์เรื่องจัดโชว์ บัตรเชิญและหน้ากากที่สะท้อนตัวตนความเป็นกุชชี่ที่ไร้เพศ สมมติเปรียบผู้ชายเป็นแก้วเบียร์และผู้หญิงเป็นแก้วไวน์เสื้อผ้าคือน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำประเภทใดก็สามารถถูกเทลงแก้วได้ทั้งสิ้น ไม่จำกัดรูปทรง ขนาด เพียงแต่สังคมยังนิยมชมชอบการใช้แก้วตามประเภทอยู่ (แก้วไวน์ต้องใส่ไวน์) นั่นก็เหมือนกับเพศของเราไม่ว่าเราจะนิยามเพศตัวเองเป็นแก้วอะไรเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นล่าสุดจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของอิตาลีโดย Alessandro Michele ตอบแล้วว่าชิ้นงาน 87 ลุคคือของเหลวที่พร้อมเข้าได้กับแก้วทุกแก้วอย่างแท้จริง
Sportmax กับการสร้างสรรค์ลุคแบบไร้เพศจากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway
หรือจะเป็น Sportmax แบรนด์สุดเท่กับชิ้นงานศิลปะแบบยูนิเซ็กส์ใส่ได้ไม่ว่าจะถูกสังคมนิยามว่าอย่างไร สุดท้ายไม่เห็นต้องแคร์เลย...สังคมไม่สามารถบิดแก้วให้ไปตามที่พวกเขาต้องการได้ เราเองก็ปฏิเสธความเป็นแก้วลักษณะที่เป็นอยู่ไม่ได้ แต่เราสามารถรองรับน้ำได้ทั้งนั้นมากน้อยอาจจะขึ้นอยู่กับประเภทน้ำ เสื้อผ้าก็เช่นกันสุดท้ายมันมีสิ่งที่เหมาะกับเราที่สุดนั่นคือช้อยส์ก่อนที่เราจะตัดสินใจเป็นแก้วสักใบ
สังคมมีแต่ทำให้แก้วมันแตก จงอย่าอ่อนแอและอ่อนไหวให้สังคมทุบเรือนร่างและจิตใจของเราดั่งแก้วบาง สังคมต้องการให้เราเป็นอย่างที่คนส่วนใหญ่ตั้งบรรทัดฐานไว้ อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ เราจะแตกเมื่อถูกจับบิดและหักแบบที่สังคมกำลังทำโดยใช้เรื่องเพศสภาพมากล่าวอ้าง แฟชั่นยุค 2019 แล้วต่อไปนี้แก้วทุกใบทุกประเภทมีความหมาย...