สยบอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรมด้วย 5 ท่ายืดตัว ทำง่าย ได้ผลจริง
อาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ มักเกิดกับหนุ่มสาววัยทำงานกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่หลายคนจะต้อง work from home ยิ่งมีโอกาสสัมผัสกับอาการดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยสภาพโต๊ะเก้าอี้หรือท่านั่งในการทำงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นการยืดตัวเพื่อบอกลาอาการปวดเมื่อยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและในส่วนของท่ายืดตัวเพื่อบอกลาอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรมก็มีทั้งหมด 5 ท่าดังนี้
ท่าที่ 1 Ardha- Matsyendrasana
ท่านี้คือท่านั่งบิดตัว เริ่มด้วยการนั่งบนพื้นแล้วเหยียดขาออกไปด้านหน้า จากนั้นพับขาขวาอ้อมขาข้างซ้าย แล้วทำการพับขาซ้ายเข้า ในส่วนของส้นเท้าข้างซ้ายให้วางใกล้สะโพก ส่วนมือขวาแตะที่พื้นด้านหลัง มือซ้ายให้ชูขึ้นแล้วอ้อมแขนไปที่เข่าข้างขวา กดข้อศอกข้างซ้ายแล้วกำหมัด ต่อด้วยการยกอกขึ้นแล้วบิดตัว หันหน้าไปมองทางข้างหลัง แล้วจึงค่อยๆ คลายท่า สลับทำอีกข้างเป็นอันเสร็จ
ท่าที่ 2 Bhujangasana
ท่านี้เรียกว่าท่างู ให้ทำการนอนคว่ำส่วนเท้าให้เหยียดออก มือทั้งสองข้างวางไว้ที่ข้างลำตัวในระดับไหล่ จากนั้นให้เอามือยันพื้น และยกศีรษะ ไหล่ หน้าอก รวมทั้งเอวให้สูงขึ้น พยายามเหยียดข้อศอกให้ตรง กดเท้า กดกล้ามเนื้อต้นขา และกดสะโพกลงบนพื้น เงยหน้าขึ้นมองข้างบนแล้วกดไหล่ลง ค้างไว้ในท่านี้ประมาณ 15-30 วินาทีแล้วจึงคลายท่าออก
ท่าที่ 3 Ushtrasana
ท่านี้เรียกว่าท่าอูฐ ให้เริ่มด้วยการนั่งบนส้นเท้า แล้วจึงค่อยๆ เอื้อมมือทั้งสองข้างจับที่เท้าทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆ หายใจเข้า พยายามแอ่นหลัง และยกก้นขึ้นจากส้นเท้า ต่อด้วยการเงยศีรษะมองไปด้านหลัง ในส่วนของตาให้มองขึ้นด้านบน ค้างไว้ในท่านี้ประมาณ 15-30 วินาทีแล้วค่อยคลายท่าออก
ท่าที่ 4 Pavanamuktasana
ท่านี้มีชื่อเรียกว่าท่าขับลม เป็นท่าที่ทำได้ง่ายด้วยการนอนหงาย และเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง ต่อด้วยการค่อยๆ งอเข่าทั้งสองข้างเข้าหาหน้าอก ส่วนแขนทั้งสองข้างพยายามโอบและล็อกเข่าทั้งสองข้างเอาไว้ กดให้เข่าแนบท้อง แล้วหายใจเข้า อย่าลืมเกร็งหน้าท้องและผงกหัวขึ้นมาโดยที่คางจรดอยู่ที่บริเวณเข่า ค้างท่านี้ไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วจึงคลายท่าออก
ท่าที่ 5 Pashchimottanasana
ท่านั่งพับตัวคือท่าสุดเบสิค ทำได้ด้วยการนั่งหลังตรง ส่วนขาทั้งสองข้างให้เหยียดตรงไปทางข้างหน้า จากนั้นจึงค่อยๆ โน้มตัวไปด้านหน้าโดยที่แขนควรเหยียดให้ตรงและขนานกับพื้น ควรโน้มตัวโดยที่มือทั้งสองข้างสามารถจับฝ่าเท้าได้ หากไม่สามารถโน้มตัวให้สุดได้ ควรพยายามให้เข่าตึงไว้อยู่ตลอดเวลา ค้างไว้ประมาณ 30 วินาทีแล้วค่อยคลายท่าออก
อาการปวดเมื่อยถือเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นเมื่อรู้ว่าร่างกายเริ่มมีอาการปวดจากการนั่งทำงานในท่าเดิม แนะนำว่าควรรีบรักษาเพื่อบรรเทาอาการด้วยท่ายืดตัวง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองไปก่อน