เปิดมุมมอง Drag Queen ศิลปะไม่จำกัดเพศและตัวตนที่ซ่อนอยู่ใต้เมกอัพและชุดอลังการ
เดือนมิถุนายน ถ้าไม่นับวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก และเหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้อย่างการประท้วงเรื่องความเท่าเทียมและสีผิวอันเกิดจากสาเหตุการเสียชีวิตอย่างไม่น่าให้อภัยของ Jorge Floyd แล้ว เดือนนี้ยังเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายของกลุ่มคนอย่างชาว LGBTQ อีกด้วย แน่นอนว่าการเดินขบวนพาเหรดของปีนี้อาจไม่ได้มีสีสันสนุกสนานครึกครื้นเหมือนปีที่ผ่านๆ มา หากแต่เข้มข้นและจริงจังมากขึ้นเพราะกลุ่ม LGBTQ ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วง #BlackLivesMatter เดินขบวนกันอย่างแข็งขัน ใจรวมกันเป็นหนึ่งของคนทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่มาจากเรื่องราวเดียวกันนั่นคือสิทธิความเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องเพศ สีผิว หรือชนชาติ
รากฐานความเท่าเทียมกันของเรื่องสีผิว ชนชั้น และเพศถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในทุกๆ ปี และสำหรับเดือนมิถุนายนนี้ที่เป็นเรื่องของ LGBTQ โดยเฉพาะ โว้กอยากจะหยิบนำเอาความหลากหลายของเพศมาพูดคุยกันในแง่ของศิลปะความสวยงามอย่าง Drag Queen ศิลปะประเภทนี้คือการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นตัวเองผ่านเรือนร่างในอีกรูปแบบหนึ่ง หากการเริ่มต้นอาจมาจากการแสดงล้อเลียนการแต่งเป็นหญิงของเหล่าชายหนุ่มเพื่อความขำขัน แต่ปัจจุบันกลับก้าวสู่การสยายตัวตนที่หลายครั้งคือการพูดถึงความต้องการเป็นที่ยอมรับอย่างเท่าเทียมกันจากคนในสังคม
เบื้องหลังของเมกอัพจัดเต็ม วิกผมอันใหญ่ และชุดสุดอลังการ คือตัวตนที่แท้จริงของเหล่าเพศทางเลือกซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใน อาจพูดได้ว่าเพศทางเลือกทั้งหลายได้โอกาสเป็นตัวเองก็ต่อเมื่อผ่านม่านการแสดงเท่านั้น เพราะหลายสิบปีก่อนการเป็นคนที่แตกต่างไม่ได้ถูกยอมรับเท่าที่ควร และเมื่อเสียงปรบมือที่ได้รับหลังการแสดงจบลงเป็นเสมือนสัญญาณเริ่มต้นของการเป็นที่ยอมรับในสังคมทำให้การแสดง Drag เริ่มเปลี่ยนรูปร่างและพัฒนาจากแค่การแสดงหน้าม่านเพื่อเรียกแค่เสียงหัวเราะสู่การเป็นวัฒนธรรมรูปโฉมใหม่ วัฒนธรรมที่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ในแบบที่เราเคยถูกปิดกั้นและไม่เป็นที่ยอมรับมาก่อน วัฒนธรรมที่เราสามารถเล่าเรื่องของตนเองผ่านศิลปะการแสดงบนเรือนร่าง และร้องบอกถึงสิทธิที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไป เพราะมากกว่าเพศสภาพและการแสดง Drag สอนให้รู้จักที่จะรักในตัวเอง
หากเปรียบการแสดงนี้เข้ากับสมัยก่อนมันคือการแต่งตัวเพื่อทำหน้าที่ทดแทนอีกหนึ่งสิ่งที่หายไป หรือเพื่อเดินตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ถูกวางไว้ในสมัยนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเกิดการแสดงที่เรียกว่าละครนอกและละครในขึ้น ในขณะที่ละครนอกจะมีความเล่นหัว ขบขัน และทะลึ่งตึงตังจึงใช้ผู้ชายเป็นตัวแสดงทั้งหมด แม้กระทั่งบทบาทที่ต้องเป็นหญิงก็ตาม ละครในกลับเน้นที่ความอ่อนช้อย สวยงาม และสุภาพจึงต้องให้ผู้หญิงนั้นเป็นผู้ทำการแสดง และแม้ตัวละครจะเป็นชายก็ต้องเป็นผู้หญิงแต่งชายมาเล่นเช่นกัน การแสดงบทบาทสมมติเพื่อทดแทนหน้าที่กันในสังคมมีมาตั้งแต่ช้านาน ดังนั้นตัวตนและวัฒนธรรมสมัยก่อนยังคงทิ้งรากเหง้าให้เราได้เห็นถึงทุกวันนี้ และแน่นอนว่าเราเรียกมันว่าศิลปะการแสดง หากในยุคปัจจุบันที่ศิลปะเติบโตและก้าวขึ้นจากแค่การมีไว้แสดงออกเพื่อความสวยงามและจรรโลงใจ แต่ยังเป็นการบ่งบอกและแสดงออกถึงตัวตนของแต่ละบุคคล
หากพูดว่าวัฒนธรรมนี้เป็นแค่ของกลุ่มผู้ชายที่ก้าวเข้ามาเพื่อแต่งหญิง หรือตอบสนองเพียงแค่กลุ่ม LGBTQ เท่านั้นต้องบอกเลยว่าคิดผิด ในเมื่อปัจจุบันวัฒนธรรม Drag ก้าวเดินไปไกลกว่ามากแล้ว เมื่อฟากสหรัฐฯ ไม่ได้เพียงแค่ต้อนรับเพศชายให้มาแต่งหญิงเท่านั้น แต่ยังเชื้อเชิญเพศหญิงให้มีโอกาสได้แต่งเป็นผู้หญิงมากขึ้นไปอีกไม่ใช่แค่การแต่งตัวข้ามเพศอีกต่อไป จุดนี้ทำให้เราเชื่อมโยงไปถึงยุคสมัยก่อนได้ว่าความเป็นผู้หญิงจำต้องและต้องเท่านั้นที่จะมีกิริยาเรียบร้อย แช่มช้อยและอ่อนหวาน หากแท้จริงผู้หญิงเองก็เหมือนผู้ชายเรามีอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลาย แต่กลับกลายเป็นว่าการแสดงอารมณ์และกิริยาเหล่านั้นเป็นเรื่องต้องห้ามและกลับถูกเรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมไปเสียได้
วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มคนเกิดขึ้นจากความเชื่อที่คนในสังคมกลุ่มหนึ่งเห็นพ้องต้องกัน แน่นอนว่าต้องไปในเชิงที่สร้างสรรค์และดีงาม ถ้าคุณบอกว่างั้นกลุ่มคนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการลักขโมยคือเรื่องที่ถูก แปลว่าคุณไม่เข้าใจเพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไม่แค่สร้างความดีงามแต่ยังต้องเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามเป็นผลประโยชน์ให้แก่หมู่คณะด้วยต่างหาก ในเมื่อการแสดง Drag ช่วยสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองและกลุ่มคนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่นและรักตัวเองมากขึ้น ทำไมเราถึงยอมรับไม่ได้ ในเมื่อมันคือแนวคิดเดียวกัน
จากคำกล่าวของ RuPaul หนึ่งใน LGBTQ ผู้ทรงอิทธิพลของโลก Drag ว่า “We’re all born naked, and the rest is drag” หากแปลความตามความหมายแล้วมันคือการที่เราทุกคนเกิดมาล่อนจ้อน ที่เหลือคือการเติมแต่งเพียงเท่านั้น มันคล้ายกับเนื้อเพลงที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “โลกนี้คือละคร” ทุกคนถูกสวมบทบาท ถูกแต่งแต้มและเติมสีสันให้เป็นผู้กระทำและเป็นผู้ถูกกระทำจากการที่สังคมต่างตั้งนิยามหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เรียกว่ากฎเกณฑ์ขึ้นมา ถูกต้องว่าการอยู่ร่วมกันย่อมต้องมีกฎบังคับเพื่อให้ทุกคนเคารพสิทธิซึ่งกันและกันได้ แต่เมื่อใครบางคนใช้กฎเหล่านี้ตีกรอบและตั้งแง่ขึ้นมาแทน และเมื่อไรก็ตามที่คุณดูผิดแผกหรือเพียงแค่แตกต่างออกไปกลับทำให้คุณถูกปฏิบัติในแบบที่ไม่ยุติธรรม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเลือกปฏิบัติที่นำสู่โลกแห่งความไม่เท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น
วัฒนธรรม Drag ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากความแตกต่างของเพศเป็นเหมือนการทิ้งไม้ขีดไฟจุดเชื้อเพลิงถังใหญ่ให้โลกตื่นขึ้น เพื่อหันกลับมามองว่าแท้จริงแล้วเราคืออะไร เราไม่ได้มีสิทธิ์อะไรที่ยิ่งใหญ่ไปว่าแค่การเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการเพียงแค่การยอมรับจากสังคมเท่านั้น กลุ่มคนที่สนับสนุนและเริ่มเปิดกว้างมองว่าวัฒนธรรมนี้คือสิ่งใหม่ที่ช่วยสรรสร้างและพัฒนากฎเกณฑ์ของมนุษย์ หากอีกกลุ่มคนที่ยืนอยู่คนละจุดย่อมดูหมิ่นและกล่าวถ้อยด้วยคำว่าร้าย เพียงแค่เราแตกต่างกันเท่านั้น
นี่คงเป็นอีกครั้งที่โลกมนุษย์ถามหาความยุติธรรมและเรียกร้องถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้ เราจะต้องนั่งฟังหรือถกประเด็นเรื่องนี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่ ในเมื่อเรื่องนี้เราควรที่จะเข้าใจ รับรู้ และเปิดรับความแตกต่างนั้นตั้งนานแล้ว คุณล่ะตอนนี้อยากจะยืนอยู่ตรงจุดไหนระหว่างกลุ่มคนที่ยืนปกป้องและร่วมเดินทางสายใหม่ไปกับวัฒนธรรมเหล่านี้ หรือจะยืนอยู่อีกหัวมุมหนึ่งเพื่อยืนหยัดต่อกฎที่ใครก็ไม่รู้สร้างขึ้นแต่เป็นสิ่งที่คุณยึดเหนี่ยวและคิดว่าถูกเสมอมา