"ใหม่-ปอย" ร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทยในงาน "ICONCRAFT"

"ใหม่-ปอย" ร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทยในงาน "ICONCRAFT"

"ใหม่-ปอย" ร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทยในงาน "ICONCRAFT"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ และ ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ 2 นักแสดงร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทย ในงาน "ICONCRAFT Thai Textile Heroes" นิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่จากสองมือครูศิลป์แห่งแผ่นดิน

ICONCRAFT พื้นที่แห่งงานฝีมือสุดสร้างสรรค์ของคนไทย ชั้น 4-5 ไอคอนสยาม
ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) พื้นที่แห่งงานฝีมือสุดสร้างสรรค์ของคนไทย ชั้น 4 – 5  ไอคอนสยาม และล่าสุดเปิดสาขาใหม่ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ พร้อมเชิดชูและสร้างความภาคภูมิใจกับมรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดลงในงานผ้าอันวิจิตร



ภายในงานนิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่ “ICONCRAFT Thai Textile Heroes” จัดแสดงและจำหน่ายชิ้นงานผ้าไทยรังสรรค์โดยศิลปินครูศิลป์ของแผ่นดินผู้ปลุกชีวิตผ้าไทย อาทิ คุณมีชัย แต้สุจริยา แห่งบ้านคำปุน จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วย คุณวีรธรรม ตระกูลเงินไทย แห่งบ้านจันทร์โสมา จ.สุรินทร์ และการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ASAVA, Hook’s by Prapakas และ WISHARAWISH กับกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทย บ้านตุ้มทอง จ.บุรีรัมย์


กระเป๋าผ้าไหมไทยสุดพิเศษ จากแบรนด์ Sirivannavari Bangkok
พร้อมด้วยอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญภายในงาน พบกับการเปิดตัวคอลเลคชั่นกระเป๋าผ้าไหมไทยสุดพิเศษจากแบรนด์ Sirivannavari Bangkok ที่มีเพียง 35 ใบเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการนำผ้าทอมือลายโบราณจากทั่วทุกจังหวัดที่หายาก และสินค้าที่ผลิตจากผ้าไทยต่างๆ อาทิ ชุดเดรส เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ จากดีไซเนอร์ชื่อดังแถวหน้าในเมืองไทยมาจำหน่ายภายในงานอีกด้วย



และยังได้ 2 นักแสดงมาร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทย โดย "ใหม่ ดาวิกา" สวมชุดผ้าไหม ของ อ.เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา แห่ง "บ้านคำปุน"



"ปอย ตรีชฎา" สวมชุดผ้าของ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มผ้ายกทอง "จันทร์โสมา"



ภายในงานนิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าศิลปินผู้สืบสานงานหัตถศิลป์มรดกของวัฒนธรรมไทย รังสรรค์ผลงานผ้าไทยสุดวิจิตรมาจัดแสดงให้ชมกัน อาทิ  คุณมีชัย แต้สุจริยา (คุณเถ่า) ผู้ก่อตั้งบ้านคำปุน และพิพิธภัณฑ์คำปุน จ.อุบลราชธานี ที่ได้พัฒนาผ้ามัดหมี่ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผสมผสานมัดหมี่กับงานเกาะล้วง และ จก จนเป็นที่รู้จักและยังฟื้นฟูผ้าทอยกทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทรงยกย่องว่ามีคุณภาพดีกว่าผ้ายกทองเชียงใหม่ และผ้าซิ่นทิวมุก ให้กลับมาเป็นผ้าที่ทอในอุบลราชธานีจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี 2543 ได้ออกแบบและคิดค้น "ผ้ากาบบัว" ให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับความนิยมแพร่หลาย และมีผลให้เกิดการฟื้นฟูการทอผ้า และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น จนได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  และในปี 2559 ได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ( องค์กรมหาชน ) SACICTอีกด้วย

คุณปอย ตรีชฏา, คุณมีชัย แต้สุจริยา, คุณชฎาทิพ จูตระกูล และอ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย
อีกทั้งยังมีผลงานผ้าสุดประณีตจากครูศิลป์ของแผ่นดินอีกท่าน อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทอง "จันทร์โสมา" หมู่บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อการทอผ้า และแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์ปรารถนาจะสืบสานการทอผ้า ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป สำหรับผ้ายกของบ้านท่าสว่าง  เป็นผ้ายกที่ทอลายราชสำนักเช่นกัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เหล่าครูศิลป์ของแผ่นดินผู้ปลุกชีวิตผ้าไทย
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการครั้งนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ASAVA, Hook’s by Prapakas และ WISHARAWISH ที่สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชาวนาชาวไร่ กลุ่มทอผ้าตุ้มทอง บ้านนาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์  โดยนำเสนอชุดในดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ในสไตล์ของแต่ละแบรนด์ สุดเอ็กซ์คลูซีฟเพียง 8 ชุดเท่านั้น


ผู้บริหาร และที่ปรึกษาไอคอนคราฟต์
ภายในงานได้เชิญ กลุ่มผ้าไหมพื้นบ้าน กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านสวาย จ.สุรินทร์ มาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการผ้าไทยครั้งนี้  ซึ่งเป็นชุมชนที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมการทอผ้ามายาวนานหลายร้อยปี บ้านสวายมีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก ต้องใช้ความสามารถ และอาศัยทักษะความชำนาญในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมมัดหมี่ยกดอก ซึ่งทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นใส่ได้ทนทาน ทว่ายังความนุ่มพลิ้วไหวและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม


ผ้าแห่งบ้านจันทร์โสมา จ.สุรินทร์ รังสรรค์โดยอ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย
นอกจากนี้ ยังมี ผ้าผืน แบรนด์ดังมาร่วมจำหน่ายภายในงาน อาทิ Bantrokkhae กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ผ้าพื้นเมืองเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช, Mantra  ผ้าที่เน้นอนุรักษ์ลายโบราณ เน้นความประณีต เทคนิคโบราณต่างๆ และส่งเสริมการใช้สีธรรมชาติ, Khwan มูลนิธิขวัญชุมชนจากอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์  ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และ Silk Fusion ผ้าไหมแต้มหมี่ การพัฒนาเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากงานมัดหมี่ดั้งเดิม เป็นต้น


กระเป๋าผ้าไหมไทยสุดพิเศษ จากแบรนด์ Sirivannavari Bangkok
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญภายในงาน พบกับการเปิดตัวคอลเลคชั่นกระเป๋าผ้าไหมไทยสุดพิเศษจากแบรนด์ Sirivannavari Bangkok โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) Sirivannavari Bangkok Craftsmanship Showcase ในคอลเลคชั่นพิเศษ กระเป๋าทรงออกแบบครั้งนี้ พระองค์ทรงพระราชทานผ้าไหมไทยส่วนพระองค์ ที่เป็นผ้าไหมพื้นเมืองจากกลุ่มผู้ทอผ้าต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนและสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ทอผ้า

กระเป๋าผ้าไหมไทยสุดพิเศษ จากแบรนด์ Sirivannavari Bangkok
พร้อมทั้งทรงออกแบบคอลเลคชั่นพิเศษกระเป๋าแฟชั่นรูปแบบผสมที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยรูปทรงของกระเป๋าถูกพัฒนาจากกระเป๋าถือทรงตะกร้าโบราณกับกระเป๋าถัง (Bucket Bag) เพิ่มความโดดเด่นจากงานฝีมือชั้นเยี่ยมจาก Sirivannavari Embroidery Atelier and Academy ด้วยงานปักแบบฝรั่งเศส ตราสัญลักษณ์นกยูงของแบรนด์และตัวอักษร “S” สัญลักษณ์ของแบรนด์อย่างประณีตถือว่าเป็นการเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าไหมพื้นเมืองของไทยที่ผสมผสานกับศิลปะงานปักแบบฝรั่งเศสได้อย่างลงตัว


ICONCRAFT
ร่วมเชิดชูและสร้างความภาคภูมิใจกับมรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดลงในงานนิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรรค์งานผ้าไทย  และงานจากช่างฝีมือไทยทั้งงานศิลปะ ประติมากรรม, ของตกแต่งบ้าน, จาน ชาม เซรามิก, และเครื่องประดับที่มีดีไซน์ เป็นต้น ได้ที่ ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 และ ชั้น 5  ไอคอนสยาม โดยยังคงเน้นมาตรการในการเว้นระยะห่าง และการดูแลรักษาความสะอาด การฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เป็นสำคัญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1338 หรือ www.iconsiam.com 

อัลบั้มภาพ 43 ภาพ

อัลบั้มภาพ 43 ภาพ ของ "ใหม่-ปอย" ร่วมถ่ายทอดความงดงามของผ้าไทยในงาน "ICONCRAFT"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook