ไฮโซไม่สะท้าน ลดภาษีแบรนด์หรู เน้นช้อป "ไฮเอนด์-ลิมิเต็ด" เท่านั้น
หลังมีข่าวจากกระทรวงการคลังเตรียมประกาศปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย จากเดิม 30% เหลือแค่ 5% เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งสวรรค์นักช็อปทั้งในและต่างประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้คึกคัก
หากเป็นเช่นนี้จริง กลุ่มคนที่ช้อปแบรนด์เนมในเมืองนอกอาจจะหันมาช้อปในเมืองไทยมากขึ้น และคนที่ช้อปในเมืองไทยอยู่แล้วก็ยิ้มแก้มปริกันคราวนี้ แต่คนที่ไม่ค่อยแฮปปี้ก็คือนักหิ้วสินค้าจากเมืองนอกอาจจะกระทบบ้าง เพราะราคาจะลดลงมาก
เรียกว่านักช้อปที่กำลังจดจ้องต่างก็ดี๊ด๊ากันถ้วนหน้า เพราะสินค้าที่ไกลเกินเอื้อมขยับเข้ามาใกล้เอื้อมมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะตีปีก เพราะยังมีกลุ่มลูกค้าระดับซูเปอร์แบรนด์ที่ไม่รู้สึกอะไรกับนโยบายนี้
กาย-อาทิตย์ อาจสงคราม
อย่างเช่น "กาย-อาทิตย์ อาจสงคราม" นักธุรกิจเจ้าของบริษัทยาผลิตเซรุ่ม "สยาม สเน็ก ฟาร์ม" ใช้แบรนด์เนมหัวจดเท้า แสดงความเห็นต่อการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมว่า ข้อดีคงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและคนหันมาใช้แบรนด์เนมกันมากขึ้น แต่จะทำให้คนฟุ่มเฟือย เพราะส่วนตัวเขาช็อปปิ้งเมืองนอก 99% เพราะของไทยแพงกว่า แม้จะบวกค่าตั๋วเครื่องบิน ก็ถูกกว่าอยู่ดี
"คนไทยซื้อแบรนด์เนมมากขึ้น เพราะทุกคนเอื้อมถึงกันมากชึ้น ถ้าลดจริงผมอาจจะช็อปเมืองไทย เพราะถ้าซื้อเมืองไทยอาจจะได้รับการประกันดีกว่า เพียงแต่เมืองนอกจะมีให้เลือกมากกว่า และสินค้าที่ผมซื้อส่วนใหญ่จะเป็นซูเปอร์แบรนด์ไม่ซ้ำใครอยู่แล้ว เพราะรุ่นที่ใช้คือรุ่นลิมิเต็ด มีชิ้นเดียวและสอยมาจากรันเวย์เท่านั้น คุณภาพสินค้าเหมือนกัน ต่างกันแค่เมืองนอกมีเสิร์ฟแชมเปญด้วย"
ไฮโซกายยังบอกอีกว่า สินค้าที่เขาเลือกซื้อจึงไม่โหล ไม่ต้องกลัวซ้ำกับใคร เพราะของซูเปอร์แบรนด์ต้องสู้ราคาได้ ต่อให้ปรับขึ้น 50% คนที่อยากได้ก็ต้องซื้ออยู่ดี แต่หากลดภาษีจริง เชื่อว่ายอดขายของร้านค้าในเมืองไทยจะต้องพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน และของก๊อบปี้ในเมืองไทยก็จะลดลงด้วย
ด้านแม่บ้านไฮโซ "จอย-อัจฉริยา" ภรรยาของ "อ่ำ" อัมรินทร์ นิติพน หนึ่งในผู้ที่นิยมใช้แบรนด์เนม ยอมซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมให้ลูกสาวสะพายไปโรงเรียน เพราะเชื่อว่ามีความทนทานกว่าซื้อแบบถูก ๆ รวมถึงซื้อมาเพื่อการลงทุนที่มีลูกสาวรับสืบทอดต่อ
จอยมีความเห็นว่า ถ้าลดภาษีจริง ไทยก็จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น และมีเงินหมุนเวียนในประเทศ
"ปกติถ้าซื้อเมืองไทยจะเดินไปเจอแล้วอยากซื้อ แต่ถ้าเมืองนอกจะตั้งใจซื้อ และถ้าลดภาษีลงคงตัดสินใจง่าย ไม่ต้องฝากใครหิ้วมาให้ และได้ลองสะพายดู มั่นใจว่าได้ของแท้ ได้เห็นกับตา"
ส่วนเรื่องของเกลื่อนเมืองที่คนอาจจะใช้ของซ้ำกัน จอยบอกว่าไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะคนใช้แบรนด์เนมเต็มไปหมดอยู่แล้ว ส่วนตัวซื้อเพราะความชอบ ไม่จำเป็นต้องลิมิเต็ดเท่านั้น และที่สำคัญภาพลักษณ์ประเทศจะดีขึ้นด้วย เพราะสินค้าก๊อบปี้จะลดลงด้วย
ทอปัด สุบรรณรักษ์
ด้านพนักงานสาวเงินเดือนสูง "ทอปัด สุบรรณรักษ์" ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร สายการบินไทย แอร์เอเชีย ขาช้อปของแบรนด์เนมตัวจริง เคยบ้าซื้อจนเป็นหนี้บัตรเครติดหลาย ๆ ใบรวมเป็นล้านบาท ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าจะบินใกล้บินไกลเธอจะรูดบัตรปรื๊ดๆๆ จนวงเงินเต็มตลอด
ด้วยคำอธิบายประโยคเด็ดว่า
"อันนี้เมืองไทยไม่มีนะ...อันนี้ถูกกว่าเมืองไทยเยอะมาก" ประโยคพวกนี้ในสมองทำให้ต้องซื้อ ซื้อ ซื้อ
"ปกติจะช้อปที่ยุโรปเพราะราคาถูกกว่าเมืองไทยมาก และได้ภาษีคืน แถมได้แต้มสะสมไมล์บัตรเครดิต อีกอย่างหน้าที่การงานทำให้ได้เดินทางบ่อย เลยสะดวกที่จะซื้อ"
แต่ถ้ามีการลดภาษีจริง ทอปัดบอกว่า ราคาไม่ต่างกับเมืองนอกก็คงจะซื้อ เพราะเธออยากได้ของใช้ ไม่ได้ติดว่าต้องซื้อมาจากประเทศไหน การซื้อในประเทศไทยน่าจะได้รับการบริการที่ดีกว่า อบอุ่นกว่า และไม่ต้องหิ้วถุงพะรุงพะรัง
"การลดภาษีไม่น่าจะสร้างกระแสให้คนมาใช้ของแบรนด์เนม เพราะยังแพงอยู่ดี คนที่มีกำลังซื้อสูงจะมองหาอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น อย่างกระเป๋า Hermes Himalaya มีตังค์แต่ซื้อไม่ได้"
ส่วน "ณัฐพล จุฬางกูร" ซีอีโอหนุ่มนักธุรกิจหมื่นล้าน ในกลุ่มซัมมิท คอร์ปอเรชั่น อีกคนที่เนี้ยบดูแลตัวเองหัวจดเท้าที่ไม่ยอมให้เงินไหลออกนอกประเทศ เพราะชอบช็อปปิ้งในเมืองไทย
"ผมซื้อของที่ห้างในไทย เพราะทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา มีทุกแบรนด์ ที่ผมชอบ จะมีการลดราคาอยู่เรื่อย ๆ ผมจึงชอบช็อปในเมืองไทย 90 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศจะช็อปเฉพาะรุ่น Limited Edition ซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย"
ซีอีโอหนุ่มจากค่ายซัมมิท พูดถึงข้อดีของการซื้อของในไทยว่า จะได้รับการสะสมคะแนนเพื่อไปแลกไมล์ หรือแลกของสมนาคุณต่าง ๆ ถ้าลดภาษีจริง ๆ ต่อไปคงจะสามารถออร์เดอร์จากเมืองนอกได้ ราคาเท่ากันไม่ต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบินไม่เสียเวลา
"ผมคิดว่าเมืองไทยเสียดุลเรื่องนี้เป็นหมื่นล้าน เพราะประเทศของเราจ่ายภาษีสินค้าแบรนด์เนมสูงกว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง จึงเป็นเหตุให้คนไทยออกไปซื้อของแบรนด์เนมที่ต่างประเทศกันหมด แล้วลดภาษีจริงรัฐอาจเสียรายได้โดยตรง คือเก็บภาษีส่วนนี้ได้น้อยลง และสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยอาจขายได้น้อยลง"
นักธุรกิจหนุ่มจึงฝากว่า แบรนด์ไทยอาจจะต้องพยายามสร้างเอกลักษณ์เป็นของตัวเองให้มีคุณภาพ พยายามสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ พัฒนาคุณภาพและการออกแบบให้เท่าเทียม
"แน่นอนว่าคนที่มีกำลังซื้อสูงไม่ต้องการมีของซ้ำกับคนอื่น จึงขวนขวาย หาของที่หามาได้ยากหรือมีอยู่น้อยชิ้นนั้นมาครอบครอง เพราะต้องยอมรับครับว่า มันเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง"
"แพร-พิมพิศา จิราธิวัฒน์" นักศึกษาสถาปัตยกรรมแห่งรั้วจุฬาฯ ทายาทตระกูลดังห้างเซ็นทรัล ออกความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า น่าจะทำให้ร้านค้าขายของได้ดีขึ้น
"แพรคิดว่าการลดภาษีไม่น่าจะมีผลต่อผู้บริโภคเท่าไหร่ ถ้ามีของที่เขาชอบ เขาก็จะซื้ออยู่แล้ว ถึงคนไทยจะแห่ใช้แบรนด์เนม ก็ไม่น่าจะชนกันมาก เพราะปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ารุ่นไหนที่ฮิตก็จะมีตามกันหมด ไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ เช่น รองเท้า fitflop เป็นต้น"
ทิ้งท้ายว่า ไม่ค่อยได้ช็อปเอง อาศัยมรดกตกทอดมาจากคุณแม่
มาฟังความเห็นของเซเลบริตี้ผู้รักหมาและรักสินค้าลักเซอรี่
"หทัยเทพ ธีระธาดา" ฉายาไฮโซซูซี่ ที่คลั่งไคล้แบรนด์เนมเฉพาะแบบที่ไม่ซ้ำใคร เห็นด้วยกับการลดภาษี เพราะเด็กขายของจะได้ค่าคอมมิสชั่นเพิ่มและกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในอีกมุมหนึ่งเธอมองไม่ต่างจากคนอื่นว่า ต่อให้สินค้าแพงแค่ไหน ถ้าคนอยากได้ก็กระเสือกกระสนหามาจนได้ แต่ถ้าถูกลงคิดว่าคนคงใช้กันเกลื่อน และทางร้านค้าคงต้องหาสินค้าที่เป็นลิมิเต็ดมาเติมมากขึ้น เพราะหลายคนที่มีเงินคงไม่อยากถือเหมือนใคร
"อย่างกระเป๋าที่ซื้อมา หลุยส์ วิตตอง ทำมาจากหนังงู หนังจระเข้ เมืองไทยไม่มีอยู่แล้ว เพราะขายหลักล้าน เราก็นิสัยไม่ค่อยดีเวลาแบรนด์ต่าง ๆ ในเมืองไทยมีของใหม่ ๆ มาไม่ซ้ำใคร เขาก็จะเก็บไว้ให้เรา แบบว่ามีใบเดียว อย่างกระเป๋า Hermes หรือที่มี 2 ชิ้น เราก็ต้องเหมาหมด เพราะเราเป็นลูกค้าคนพิเศษ จะได้รับสิทธิ์ก่อน จะได้ของที่ไม่เหมือนใคร ถ้ารุ่นลิมิเต็ดนี่ต้องแย่งกันเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่คนที่บ้าบอแบรนด์เนมขนาดนั้น ที่ผ่านมาก็มีบริจาคให้คนอื่นบ้าง เช่น ให้น้องสาว"
ปิดท้ายกันที่นักแสดง "อาร์ต-สัจจากาจ จิตรพึงธรรม" บอกว่า การลดราคาสินค้าแบรนด์เนมคงจะสร้างสีสันให้กับเมืองไทยไม่น้อย โดยเฉพาะคนระดับกลางจะได้ใช้แบรนด์เนมกันจริง ๆ แต่อาจจะมีผลทางจิตใจของคนมีรายได้น้อยที่อยากได้ โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่จะไปรบเร้าผู้ปกครองให้ซื้อ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
แบรนด์เนมก็ยังคงเป็นสินค้าลักเซอรี่ที่ใกล้แค่เอื้อมและไกลเกินเอื้อมของใคร
ขอบคุณภาพประกอบ : อินเทอร์เน็ต