ขอเป็นกระบอกเสียงเยาวชน! ทัศนะ 30 MUT 2020 ต่อ "Social Movement"

ขอเป็นกระบอกเสียงเยาวชน! ทัศนะ 30 MUT 2020 ต่อ "Social Movement"

ขอเป็นกระบอกเสียงเยาวชน! ทัศนะ 30 MUT 2020 ต่อ "Social Movement"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เฌอเอม-เอมมี่-ซินดี้-อะแมนดา-แพรว-ใบตอง" ตัวแทน 30 คนสุดท้ายผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ตอบคำถามแบบเยาวชน แสดงความเห็นต่อ "ขบวนการขับเคลื่อนสังคม" คำถามที่มารีญาเคยตอบบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017

ในช่วงเวลาที่เยาวชนไทยออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมือง "มารีญา พูลเลิศลาภ" มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ถูกยกให้เป็นตัวแทนของนางงามที่ออกมามีส่วนร่วมในขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เช่นเดียวกับเวทีการประกวดนางงามในประเทศทุกวันนี้ที่เทรนด์การถามคำถามในประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น การเมืองและสังคม เพื่อวัดทัศนคติและไหวพริบนางงามกำลังเป็นที่นิยมของแฟนนางงามมากกว่าการมองความสวยงามของเรือนร่างเหมือนในอดีต

 "What do you think has been the most important social movement of your generation and why? (คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร)"

คำถามที่มารีญา เคยตอบบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 รอบ 5 คนสุดท้าย เป็นเสมือนการปลุกให้สังคมตื่นรู้และยังคงทันสมัยอยู่ในขณะนี้

มาถึงวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่มารีญาเท่านั้นที่กล้าแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ในที่สาธารณะ ตัวแทนจาก 30 สาวงามที่เข้ารอบสุดท้ายการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ก็เช่นกัน พวกเธอในฐานะคนรุ่นใหม่แสดงมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ได้อย่างน่าสนใจ


ซินดี้-อเล็กซานดร้า แฮงกี่ บอกว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นของเยาวชนในสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาเพื่อสะท้อนสังคม คือการขับเคลื่อนสังคมอย่างหนึ่ง เธอรู้สึกว่าในปัจจุบันนักศึกษาที่เขาออกมาเรียกร้องด้วยพลัง สิ่งสำคัญที่อาจจะเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้มีระบบประชาธิปไตยมากขึ้น ออกมาด้วยเสียงเข้มแข็งมาก และมองว่าจุดนี้คือจุดสำคัญที่สุดในขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เป็นพื้นที่ของเยาวชน เยาวชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้ประเทศดีขึ้น

ส่วนสิ่งที่เธอในฐานะเยาวชนที่คิดว่าควรขับเคลื่อนเป็นเรื่องแรก คือเรื่องการศึกษา

"โดยส่วนตัวก็เรียนในระบบการศึกษาไทย เมื่อเรียนจบตอน 4 โมงเย็น ต้องไปเรียนพิเศษต่อถึง 1 ทุ่ม 2 ทุ่ม เพราะระบบการศึกษาไทยเนื้อหาไม่เอื้อกับการนำไปสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัยจึงทำให้เด็กต้องไปเรียนเพิ่มเติม"

เธอบอกต่อว่า ถ้ามีการแก้ไขตรงจุดนี้ให้หลักสูตรกับการออกข้อสอบสอดคล้องกัน จะลดความเหลื่อมล้ำได้มาก และทำให้เด็กสามารถสอบเข้าไปอยู่ในคณะที่ตนเองต้องการศึกษาต่อ ไม่ใช่ว่าเด็กที่มีฐานะดี สามารถเรียนพิเศษได้ มีโอกาสสอบเข้าได้มากกว่า

“เด็กบางคนเขาอาจไม่มีต้นทุนในชีวิต แต่ถ้าเขาได้รับการศึกษาที่ดี เขาสามารถต่อยอดไปประกอบอาชีพที่เขารัก ส่งเสริมอนาคตให้ดีขึ้น เด็กบางคนเป็นลูกชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีตังค์ ถ้ามีระบบการศึกษาสอนเขาที่ดี เขาอาจไปเป็นหมอคนหนึ่ง เป็นวิศวกรคนหนึ่ง หรือเป็นดาราที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศได้”



ใบตอง-จรีรัตน์ เพชรโสม บอกว่า ขบวนการขับเคลื่อนสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน คือ เสียง ทุกคนมีเสียงของตนเอง ที่สามารถที่จะพูด หรือว่าแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระได้อย่างเต็มที่ ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ทุกคนลืมไปหรืออาจจะไม่ได้คิดถึง คือ อย่าลืมว่าในสังคมมีความคิดเห็นหลากหลาย ไม่ได้มีเสียงของเราเพียงแค่คนเดียว จำเป็นต้องฟังเสียงส่วนรวม สิ่งรอบข้าง แม้กระทั่งเสียงของสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แค่คนเดียว

ปัจจุบันนี้มีเจเนอเรชันที่เราเผชิญอยู่คือการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ หรือแม้แต่กระทั่งการแยกวัยเด็ก และเยาวชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคือสมาชิกในสังคมเดียวกัน ถ้าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเราจะเป็นสังคมได้หรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนที่จะออกมาขับเคลื่อนทางสังคมคำนึงถึง สู้ให้เต็มที่ในสิ่งที่เชื่อมั่น แต่ต้องไม่ลืมสิ่งที่อยู่รอบข้างคุณด้วย เป็นเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ควรเปิดใจฟังเด็กบ้าง เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน

"ไม่แปลกที่เรามักจะเปิดโหมดออโต้เอาไว้ก่อน ในการที่แบบว่าฉันคิดไม่เหมือนเธออย่าเข้ามาใกล้ฉัน มันไม่เป็นไรนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากจะให้ลองค่อยๆ เปิดประตูบานนั้นออกไป ไม่ต้องเปิดจนสุดบานก็ได้ แล้วก็ลองฟังเขาดูว่า เขาทำอะไรเขาพูดอะไร ในสิ่งที่เราสามารถปรับเข้าหากันได้ เชื่อว่าทุกๆ คนมีมุมที่สามารถต่อกันติด ต่อให้เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกันเลยทุกเรื่อง ความเป็นมนุษย์ก็เชื่อมโยงกันได้แล้ว ถ้าหากเรารู้จักตัวเราและพยายามที่จะรู้จักคนอื่นด้วย มันคือการทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นลบคลื่นบวกมันสามารถหาจุดมาเชื่อมโยงกันได้"



เอมมี่-เอมมี่ คิม ซอเยอร์ บอกว่า อย่างที่มารีญาตอบ เธอเห็นด้วยกับมารีญาที่สุด เพราะเธอใส่ใจเรื่องประชากรสูงวัยมากๆ ตอนนี้ประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต้องดูแลพวกเขา ไม่ควรทอดทิ้งพวกเขา ให้ความมั่นใจกับพวกเขา เพราะคนสูงวัยเขาก็ไม่มั่นใจในตัวเอง ความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ เหมือนคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ส่วนตัวอยากพูดเรื่องนี้ และถ่ายทอดออกไปให้ทั้งโลกได้รู้

"ความชราภาพเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่มั่นคง แล้วหนูก็อยากให้ความมั่นใจกับเขาว่ามันเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติ และคุณควรจะรักตัวเองอย่างที่คุณเป็นโดยการที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาก เกิดขึ้นได้ทันที และทั่วถึงทั้งโลก"



อะแมนดา-อะแมนดา ชาร์ลีน ออบดัม บอกว่า ถ้าพูดถึงขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม ทุกขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือการเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิของตัวเอง คนเราเกิดมาทุกคน แน่นอนว่ามันต้องมีความเท่าเทียมกัน แล้วทำไมมันถึงมีขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมให้คนออกมาเรียกสิทธิของตัวเองไม่ว่าจะเป็น LGBT Community หรือ Black Lives Matters ทุกคนควรจะมีสิทธิที่เท่ากันและความเท่าเทียมที่เท่ากันเพราะฉะนั้นการยอมรับซึ่งกันและกันคือพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

"ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดหนึ่งอันเหรอ มันเลือกยาก เพราะทุกขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมสำคัญ เพราะมีเป้าหมายของตัวเองและเรียกร้องสิทธิ ถ้าเลือกขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม Black Lives Matters เพราะมันมีอะไรที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้และเราต้องจับตามองอย่างให้ความสำคัญ มันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการที่พวกเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ"



แพรว-แพรววณิชยฐ์ เรืองทอง บอกว่า การที่เยาวชนเขาออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เขาคิดว่ามันมีสิทธิ เพราะเขาจะอยู่ไปอีกนาน เขาจะเป็นอนาคตของชาติ แล้วในวันหนึ่งที่เขารู้สึกว่าบ้านหลังนี้ของเขา มันอยู่แล้วไม่มีความสุข เริ่มไม่สบายใจแล้ว มันก็ถึงเวลาที่เขาต้องออกมาทำอะไรบางอย่างที่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ คุณภาพชีวิต การเรียนการศึกษา เป็นต้น

"เราอยู่ในยุคที่โลกมันเปิดกว้างมากขึ้นทุกวัน แล้วเดี๋ยวนี้สถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ตอนช่วงโควิดทุกประเทศทั้งโลกมันชะงักเหมือนกัน มันหยุดเหมือนกัน ประเทศไทยของเราสามารถที่จะพัฒนา มันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย ผู้ใหญ่ควรจะมอบเสรีภาพให้กับเด็กได้มีสิทธิ์ตัดสินใจ ได้มีสิทธิ์ออกสิทธิ์ออกเสียงบ้าง เพื่อที่จะเอาความต้องการของเขาไปทำให้ประเทศมันดีขึ้น"



เฌอเอม - ชญาธนุส ศรทัตต์ บอกว่า การขับเคลื่อนทางสังคมที่โดดเด่นตอนนี้คือแฟลชม็อบ เขามีความเกี่ยวข้องกับเจเนอเรชันก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดกระแสขึ้นมาหมายความว่ามันเป็นความจริง ถ้าไม่เกิดความสนใจถึงจะเรียกว่าไม่ใช่การขับเคลื่อนทางสังคม ส่วนตัวคิดว่าจุดนี้เป็นการแสดงออกทางสิทธิและเสรีภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ว่าจะเรียกร้องในสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วอย่างไร จะแสดงออกถึงความเคารพในประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ต่างประเทศจับตามองประเทศไทยมาก เพราะว่าเรากำลังมีความเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง และไม่ว่าอยู่ฝั่งไหนกรุณาให้เวลากับคนที่อยู่อีกฝั่งในการทำความเข้าใจ ถ้าคุณคิดว่าฝั่งของคุณเป็นฝั่งที่ถูกต้อง เราไม่ควรแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทุกคนมีจังหวะของตัวเอง การบอกว่าใครมาก่อนมาหลังมันไม่ได้ทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น เพราะฉะนั้นอยากให้สมัครสมานสามัคคีในเรื่องของการให้จังหวะเวลากับคนอื่นด้วย

เฌอเอม แสดงความคิดเห็นอีกว่า เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่เยาวชนเรียกร้อง เป็นเรื่องสำคัญในเวลานี้ เพราะว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องมีสิทธิ ถ้าเราไม่มีสิทธิ หมายความว่า เราทำอะไรตามใจชอบไม่ได้เลย การเป็นมนุษย์หมายความว่าเรามีหัวใจ มีความรู้สึก ถ้าเราถูกบังคับตลอดเวลา เราก็ย่อมไม่สบายใจ ในเมื่อเรามีกฏหมายตั้งแต่โบราณมาเพื่อสังคมของเรา เมื่อมันถูกละเมิดแล้วเราย่อมมีสิทธิเรียกร้อง ทุกวันนี้ทุกประเทศมีข้อถกเถียงเรื่องกฎหมาย รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้รับ

ระหว่างสิทธิและเสรีภาพ เฌอเอม มองว่า เสรีภาพมีความสำคัญกว่าสิทธิ สิทธิเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เบื้องต้นคุณมีเสรีภาพตั้งแต่คุณเกิดมา แต่ข้อบังคับต่างๆ ทำให้คุณมีสิทธิ นั่นคือสิทธิในฐานะอะไร พลเมือง นักเรียน นักศึกษา หรือนางงาม ซึ่งอาจจะเป็นอภิสิทธิ์ก็ได้ เพราะฉะนั้นเสรีภาพต้องมาก่อน ถ้าคุณไม่เข้าใจในพื้นฐานของเสรีภาพ คุณย่อมไม่สามารถให้สิทธิกับคนอื่นได้เลย ในฐานะที่เป็นเยาวชนอยากผู้ใหญ่เผื่อพื้นที่ให้กับเด็กๆ ทั้งรุ่นเดียวกับเธอ และที่อ่อนกว่าเธอ เพราะไม่ว่าเราจะมีอายุเท่าไร เมื่อเราเกิดมาแล้วอยู่ในสังคมนี้ แล้วก็เรียนรู้ทุกวันมา ไม่ใช่ว่าประสบการณ์เยอะจะทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนอื่นได้ดีขึ้น

"เวลาเอมเห็นเด็กที่เด็กกว่า เอมรู้สึกว่า เขาควรจะมีสิทธิ์ตัดสินใจเพราะว่า เขาคือคนที่จะต้องอยู่ในโลกนี้ต่อจากเรา เราอยู่แค่เพียงสั้นๆ ค่ะ วันหนึ่งเราก็จากไป โลกมันไม่ใช่ของๆ เรา ดังนั้นเมื่อเราแก่แล้ว อยากให้ฟังเด็กรุ่นหลัง เพราะเขาก็เผชิญปัญหาทุกวัน เขาก็ควรจะรู้ว่า เขาจะอยู่อย่างไร เขาจะเลือกสังคมที่เขาอยู่อย่างไร"

แม้ในปีนี้การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 จะยังไม่มีกาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีการจัดประกวดหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งประเทศมหาอำนาจบนเวทีนางงามระดับโลกหลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่นั่นถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ที่จะรู้ผลในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะมีความสามารถและคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นแต่ยังมีอีกหลายด้านต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมให้มีความพร้อมมากกว่านี้ก่อนจะไปประชันกับนางงามจากทั่วโลก


>> เปิดตัว Miss Universe Thailand 2020 รอบ 30 คนสุดท้าย สวย พร้อมมงลงทุกคน!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook