7 สิ่งที่ต้องเตรียม เมื่อถูกเรียกไป "สัมภาษณ์งาน"
เมื่อเรายื่นใบสมัครงานหรือลงประวัติเพื่อหางานไปแล้ว เราย่อมคาดหวังให้ทางบริษัทติดต่อกลับเพื่อเรียกเข้าไปสัมภาษณ์งาน ซึ่งถ้าคุณสมบัติเราเข้าตาต้องใจบริษัทแล้ว ขั้นที่ชี้ชะตาว่าจะได้หรือไม่ได้งานก็คือ “การสัมภาษณ์”
เมื่อการสัมภาษณ์งานเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้รับโอกาสแล้วก็ไม่ควรพลาดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจทำให้เราได้แต้มต่อผู้เข้าสัมภาษณ์คนอื่น จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วย 7 สิ่งนี้ก่อนจะเข้าไปสัมภาษณ์งาน จะได้ไม่พลาดตำแหน่งงานนี้
1. ข้อมูลบริษัท
เมื่อได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทที่เรายื่นสมัครงานไว้ (บางคนไม่ได้ยื่นตำแหน่งเดียวหรือบริษัทเดียว) หรือมีบริษัทติดต่อให้ไปสัมภาษณ์งาน ควรหาข้อมูลก่อนว่าบริษัทที่ติดต่อมานั้นทำเกี่ยวกับอะไร ประเภทของธุรกิจคืออะไร เพราะถ้าเป็นตำแหน่งหรือประเภทธุรกิจที่เราไม่ได้สนใจจะทำอยู่แล้ว จะได้ปฏิเสธการนัดสัมภาษณ์จะได้ไม่ต้องเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าเป็นตำแหน่งงานหรือบริษัทที่เราสนใจ จะได้เตรียมตัวขั้นต่อไป
2. ข้อมูลตำแหน่งงาน
เมื่อตอบตกลงที่จะไปสัมภาษณ์งานที่ติดต่อมาแล้ว ขั้นต่อไป คือ ทำการบ้านว่าตำแหน่งงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบคืออะไร ภาระหน้าที่คร่าว ๆ ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถดูได้จากคุณสมบัติที่ทางบริษัทกำหนดไว้ตอนที่เราจะกดยื่นสมัครงาน หรือในกรณีที่มีบริษัทสนใจติดต่อมาเอง เราก็สามารถสอบถามได้เช่นกัน การหาข้อมูลตำแหน่งงานนี้ก็เพื่อประเมินคุณสมบัติของตัวเอง ว่ามีข้อเด่น ข้อด้อยอย่างไรบ้างกับตำแหน่งงาน
3. ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง
อย่าทำชะล่าใจว่าใครจะไปลืมข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้ ในสภาวะกดดันขณะสัมภาษณ์งาน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตื่นเต้นจนพูดไม่ออก มือไม้สั่น เหงื่อออก หรือลืมสิ่งที่เตรียมมาหมดเลยก็มี การทบทวนข้อมูลของตนเองอีกครั้งก็เพื่อให้เราแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติและมั่นใจในตัวเอง หาความเชื่อมโยงระหว่างข้อเด่นข้อด้อยของตัวเองกับตำแหน่งงาน หาศักยภาพของตัวเองในการพัฒนาองค์กร ทั้งยังสื่อให้รู้ว่าเราจริงจังกับงานนี้มากแค่ไหนด้วย
4. เตรียมการตอบคำถาม และทดสอบความสามารถ
เมื่อประเมินตัวเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือการเตรียมตัวสัมภาษณ์ ถ้าไม่ใช่คนที่ถนัดในการพูดก็ควรซักซ้อมให้ดี เราทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถอย่างไรที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในทีม หลายคนมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งหน้าตา บุคลิก ความสามารถ แต่ดันมาตกม้าตายตอนพูดคุย อีกทั้งบางตำแหน่งจะมีการทดสอบด้วยแบบทดสอบขององค์กรด้วย ซึ่งก็จะเกี่ยวกับตำแหน่งงานนั่นแหละ ถ้าเราเตรียมตัวดี ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
5. เตรียมเอกสารการสมัครงาน
การจะไปสัมภาษณ์งาน เราต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมด้วย อย่างการสมัครงานในบริษัทใหญ่ ๆ คุณอาจต้องเตรียมเอกสารการสมัครงาน 2 ภาษา เช่น เรซูเม่ ตัวอย่างผลงาน หลักฐานทางการศึกษา วุฒิการศึกษา (สามารถขอฉบับภาษาอังกฤษได้ที่สถานศึกษา) และเอกสารแสดงตัวตน รูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารทุกอย่างควรเตรียมไปอย่างน้อย 2 ชุด หรือจะสำรองตัวจริงไปกันเหนียวด้วย เซ็นรับรองสำเนาให้พร้อม
6. เตรียมการโต้ตอบกลับ
ผู้สมัครงานที่มีความเป็นมืออาชีพ จะรู้ดีว่าขั้นตอนการสัมภาษณ์งานเป็นอย่างไร เขาจะมีความมั่นใจ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในห้องสัมภาษณ์ได้ ถ้าบรรยากาศในห้องไม่เครียด ก็ควรผ่อนคลายตาม เก็บรายละเอียดให้ครบ เพราะสิ่งสำคัญส่วนใหญ่กรรมการจะอธิบายให้ฟัง ในตอนท้าย กรรมการจะถามว่าเรามีอะไรสงสัยหรือไม่ เราต้องกล้าที่จะถามคำถามกลับในสิ่งที่ยังเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง รู้จักถามอย่างชาญฉลาด บางคำถามอาจเตรียมมาล่วงหน้าได้ ตรงส่วนนี้จะแสดงความสนใจในการอยากร่วมงาน และช่วยให้เข้าใจตำแหน่ง หน้าที่ และวัฒนธรรมองค์กรได้ดีขึ้น
7. เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม
ในคืนก่อนสัมภาษณ์ ให้เช็กเวลาที่นัดกับทางบริษัทอีกครั้ง เช็กข้อมูลการเดินทาง นอนหลับให้เพียงพอ ในเช้าวันสัมภาษณ์งาน แต่งกายให้เหมาะสม กินข้าวเช้าให้เรียบร้อย ควรเผื่อเวลาเดินทางให้มากหน่อย เพราะสภาพการจราจรเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยด้วยแล้วอาจเจอรถติดหรือหลงทาง กะให้ไปถึงก่อนเวลา จะได้มีเวลาแวะทำภารกิจส่วนตัว เช่น แวะกินข้าว (ไม่ได้กินจากบ้าน) แวะเข้าห้องน้ำให้ เป็นต้น