อย่าละเลย! "สังเกตพฤติกรรมลูก" ถูกกระทำรุนแรงหรือไม่?

อย่าละเลย! "สังเกตพฤติกรรมลูก" ถูกกระทำรุนแรงหรือไม่?

อย่าละเลย! "สังเกตพฤติกรรมลูก" ถูกกระทำรุนแรงหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ พื้นฐานจิตใจเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวัยที่จดจำเรื่องราวต่าง ๆ และเริ่มซึมซับกับเรื่องราวเหล่านั้นได้มาก โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาล (3-5 ขวบ)

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองจึงต้องระวังเรื่องของพฤติกรรมความรุนแรง หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กซึมซับ หรือซึมซับให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ได้มีเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เพราะสถานที่ที่เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาอยู่ไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมงอย่างที่โรงเรียน ก็เกิดความรุนแรงขึ้นกับเด็กด้วยเช่นกัน เหมือนเช่นกรณีครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายเด็ก จนผู้ปกครองหลายคนสังเกตเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก ๆ ก่อนจะพบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดว่ามีการทำร้ายร่างกาย และจิตใจเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1 หลายคน และหลายครั้ง

กรณีดังกล่าว นอกจากเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องคัดกรองบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาประกอบวิชาชีพครู เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงใด ๆ กับเด็ก จนกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคตแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ต้องให้ความใส่ใจกับลูกหลานให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการกระทำอันรุนแรง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก
จากข้อมูลของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น มีทั้งความรุนแรงทางกาย, ทางจิตใจ, การล่วงละเมิดทางเพศ และการปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง

  • ความรุนแรงทางกาย คือการทำร้ายทุกรูปแบบที่มผลต่อร่างกายทั้งการลงโทษ เฆี่ยนตี การข่มเหง รังแก
  • ความรุนแรงทางใจ คือ การปฏิบัติโดยมิชอบต่อจิตใจ ทำร้ายจิตใจ ทำร้ายทางวาจาหรือการละเลยไม่เอาใจใส่
  • การล่วงละเมิดทางเพศ คือ กิจกรรมทางเพศใด ๆ ที่กระทำต่อเด็ก ทั้งชักจูง ล่อลวง การแสดงหาผลประโยชน์ การค้าประเวณี สื่อลามกเด็ก
  • การปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง คือ การไม่ตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก การไม่ปกป้องและดูแลเด็กให้พ้นจากอันตราย


สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็ก
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ล้วนส่งผลร้ายต่อเด็กในทุกด้าน ผู้ปกครองจึงไม่ควรละเลยพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มอาการระยะวิกฤต จะมีความผิดปกติให้เห็นดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย
  • ใจเต้นแรง หน้าแดงหรือซีด หายใจเร็ว หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ตกใจง่าย
  • มีความโกรธ ความเครียด อาการทุกข์ทรมานใจ ซึมเศร้า
  • ร้องไห้บ่อย ปฏิเสธอาหาร เลี้ยงไม่โต
  • เบื่ออาหาร หรือกินมากขึ้น / น้ำหนักลด หรือเพิ่มขึ้น / นอนไม่หลับ หรือหลับมาก
  • ไม่สนใจกิจวัตรประจำวัน และสิ่งแวดล้อม
  • อ่อนเพลียง่าย  ไม่มีแรง  แยกตัวออกจากกลุ่ม
  • รู้สึกหมดหวัง ไม่มีทางออก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้
  • รู้สึกไม่มีใครรัก ไร้ค่า รู้สึกผิดอย่างมาก
  • ความคิด การเคลื่อนไหวช้าลง
  • สมาธิลดลง ตัดสินใจลำบาก
  • ทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย


การกระทำรุนแรงส่งผลต่อสมองทุกส่วน

หากปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจกับการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก จนทำให้เด็กเกิดอาการทุกข์ทรมานใจ จะส่งผลต่อสมองได้ โดยงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงไม่เกิน 2 ปี จะมีผลต่อสมองอย่างร้ายแรง เพราะจะไปทำลายโครงสร้างของการพัฒนาสมองอย่างทั่วด้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา อาทิ กระบวนการเรียนรู้หรือความสามารถในการเรียนรู้มีปัญหา, ภาวะความไม่มั่นคงทางด้านจิตใจว่าหากถูกกระทำรุนแรงจะมีผู้ใดปกป้องหรือคุ้มครองดูแลหรือไม่ จนเกิดความอ่อนแอทางจิตใจ และสิ้นหวังที่จะผ่านพ้นจากวิกฤตได้

พบเด็กถูกทำร้าย แจ้งสายด่วน 1300
หากพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อเด็ก อย่าเพิกเฉยให้โทรแจ้งสายด่วน 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมในภาวะวิกฤตลอด 24 ชั่วโมง

สายด่วน 1300 จะมีเจ้าหน้าที่และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพปฏิบัติงาน ให้คำแนะนำปรึกษา การช่วยเหลือประสานส่งต่อ รวมทั้งการช่วยเหลือเชิงรุกโดยมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Moblie Team) ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมในภาวะวิกฤต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook