หญิงไทยรับบทด่านหน้า รับมือโควิดและไฟป่า
จนถึงวันนี้ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียยังคงเผาไหม้ในหลายจุด ภาครัฐยังคงระดมสรรพกำลังลงพื้นที่เพื่อควบคุมและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีหญิงไทยเข้าร่วมเป็นทีมงานอยู่ด้วย “คุณมนักษร เมฆฉาย” ทำงานเป็น “เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นพื้นฐาน” โดยที่ผ่านมา เธอคือด่านหน้าที่พบทั้งผู้ป่วยโควิด และล่าสุดคือการลงสนาม ช่วยปฐมพยาบาลผู้อพยพจากไฟป่า
สถานการณ์ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียปีนี้ถูกจัดว่าเป็นอีกครั้งที่เลวร้ายอย่างมาก จนถึงปัจจุบันได้ทำลายพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 3 ล้าน 6 แสนเอเคอร์หรือเกินกว่า 9 แสนไร่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งอาคารและบ้านเรือนถูกทำลายไปมากกว่า 7 พันแห่ง รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้อย่างน้อย 26 ราย ทางภาครัฐฯ จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมทีมงานจำนวนมากเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์
“ก่อนที่จอยจะไปทำงาน จอยรู้แค่ไม่กี่ชั่วโมง ว่าเขาจะส่งเราไปไฟแล้ว ตอนแรกอยู่ที่งานโควิด แล้วเขาบอกว่าเราเป็น First Responder (บุคลากรด่านหน้า) ที่อยู่ใกล้ไฟ Sequoia ที่สุด เขากำลังจะส่งเราไป อีก 2 ชั่วโมง คุณจะต้องไปถึงตรงนั้นแล้ว เขากำลังจะส่งคนมารับเรา”
คุณมนักษร เมฆฉาย หรือคุณจอย หญิงไทยอายุ 30 ปี หนึ่งในเจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นพื้นฐาน ที่หลายคนเรียกว่า EMT (Emergency Medical Technician) เล่าให้ฟังถึงความฉุกละหุกขณะที่เธอกำลังถูกส่งตัวเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ Sequoia ที่ไฟป่ากำลังโหมไหม้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากมหานครลอสแอนเจลีสราว 200 กิโลเมตร เธอเล่าให้วีโอเอไทยฟังว่านี่คือเดือนที่ 7 ของการปฏิบัติหน้าที่ ก่อนหน้านี้เธอถูกส่งไปดูแลผู้ป่วยโควิดบริเวณตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะถูกเรียกตัวให้ไปช่วยเรื่องไฟป่า เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุด และนี่ก็เป็นการลงสนามเพื่อช่วยงานไฟป่าครั้งแรกในชีวิตของเธอ
“คือมันไม่เหมือนในหนัง ที่คนวิ่งออกมา เขาอพยพกันออกมาแล้ว แล้วเหมือนเราไปช่วยเขาตรงจุดพักก็จะเป็นที่ที่คนอพยพออกมาจากบ้านที่เขาให้อพยพออกมา เราก็จะปฐมพยาบาลเขา พูดคุยกับเขา ดูแลความรู้สึกเขา”
ในขณะที่เธอลงพื้นที่ คุณจอยบอกว่าไม่ได้พบผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงจากเพลิงไหม้ แต่สิ่งที่สร้างบาดแผลกรีดลึกให้กับผู้เคราะห์ร้ายคืออารมณ์ความเสียใจ ของการสูญเสียทรัพย์สินที่พวกเขาหามาตลอดชีวิต
“ได้เจอผู้ประสบเหตุไฟไหม้จริงๆ แล้วเราเพิ่งได้เห็นว่า มันเป็นอะไรที่กระทบจิตใจมาก โดยเฉพาะคนที่เขา รู้สึกว่าเขากำลังจะสูญเสียบ้านของเขา ซึ่งเขาอาจจะต้องเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อซื้อบ้านหลังนี้ มันทำให้เขามีความเครียด อย่างตอนแรกคิดว่าโควิดแย่แล้ว เราเห็นคนเสียชีวิตต่อหน้าก็ทำให้เราเศร้า แต่พอเรามาเห็นไฟ มันแย่กว่าอีก มันแย่กว่าการที่เราจะเห็นคนกำลังจะตายต่อหน้าต่อตา เรากำลังเห็นคนที่เขากำลังเสียใจที่สุดในชีวิต”
แม้ในวันนี้คุณจอยจะอยู่ในชุดเครื่องแบบสีเข้มของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ดูทะมัดทะแมง แต่เมื่อย้อนกลับไปในวัยเด็ก เธอคือนักกีฬาไอซ์สเก็ต ที่อ่อนช้อย พริ้วไหว และลีลาของเธอได้สร้างความประทับใจมาแล้วในระดับประเทศ
“จอยเริ่มเล่นสเก็ต จอยเริ่มเป็นฮอกกี้สเก็ตก่อน พอเราเริ่มโตหน่อย เราอยากไปลองสปีดสเก็ต สปีดสเก็ตจะเป็นวิ่งอย่างเดียวเลย เพิ่งมาจริงจัง ฟิกเกอร์สเก็ต (สเก็ตลีลา) ตอนอายุประมาณ 10 ขวบได้ เราก็มีโอกาสได้แข่งในนามทีมชาติไทย”
เธอบอกว่าการมีพื้นฐานเป็นนักกีฬาช่วยเธอได้อย่างมากในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความพร้อมของร่างกาย แต่คือความรับผิดชอบ วินัย และการเห็นคุณค่าของเวลา
“การที่จะมาเป็นอาชีพ First Responder เราจะต้องเป็นที่มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลามาก เพราะว่า 1 นาที 1 วินาที มีค่าสำหรับชีวิตของคนที่เราไปช่วยเขามากๆ”
จนถึงตอนนี้นับเป็นเวลาราว 5 ปีแล้ว ที่คุณจอยตัดสินใจเดินทางมาอยู่ในประเทศสหรัฐฯ
นอกจากนี้เธอยังยู่ในกระบวนการคัดสรรเพื่อที่จะก้าวมาเป็นนักดับเพลิงหญิงในอนาคต ซึ่งหนึ่งจุดที่สำคัญของการเป็นนักดับเพลิงคือต้องผ่านการทดสอบด้านกายภาพที่ชื่อว่า CPAT หรือ Candidate Physical Ability Test โดยการทดสอบนี้ผู้สมัครจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าร่างกายมีสมรรถนะที่พร้อมในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายใต้เงื่อนไข เช่น การลากสายดับเพลิง การดึงหุ่นจำลองของผู้บาดเจ็บ ฯลฯ
“อย่างเวลาเราสอบ CPAT เราจะต้องใส่เสื้อชั้นนอกที่น้ำหนัก 50 ปอนด์ ตอนนั้นจอยน้ำหนัก 90 ปอนด์ พอจอยลองสวม ปรากฏว่าจอยหายใจไม่ออกเลย เพราะว่า 50 ปอนด์มันคือครึ่งหนึ่งของเราแล้ว แต่ตอนเวลาเราสอบจริง เขาจะเพิ่มน้ำหนักที่บ่าเราอีกข้างละ 25 ปอนด์เพื่อที่จะจำลองสายน้ำดับเพลิง เพราะเวลาเราไปช่วยชีวิตคนในตึก เราใส่ชุดออกซิเจนแท็งค์ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ 50 ปอนด์ แต่ว่าเราไม่ได้เดินไปแค่นั้น เราต้องลากสายดับเพลิง ก็เท่ากับทั้งหมด 100 ปอนด์ คือถ้าหากเราแค่ยกขึ้นมาจากพื้น ทุกคนยกไหว จอยมั่นใจ แต่ทุกคนจะต้องยกแล้วขึ้นบันไดอีก 320 ขั้น มันไม่ง่ายเลยค่ะ แล้วพอเสร็จปุ๊บ ก็ต้องทำอีก 7 อย่าง”
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคุณจอยอาจจะเบนเข็มไปศึกษาต่อเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูง หรือ Paramedic เพราะเธอเห็นว่าเป็นบทบาทที่สำคัญในการลงพื้นที่จริง
จากประสบการณ์ที่คุณจอยได้พบเจอมาตลอดในการเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นพื้นฐานนั้น เธอเห็นถึงความไม่แน่นอนในชีวิต ทุกสิ่งตอกย้ำว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น
“จอยอยากให้เอาตรงนี้เป็นบทเรียน ว่าเราสามารถที่จะเจออะไรที่เราไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา คือมันเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่ว่าถ้ามันเป็นเรื่องจริงขึ้นมา มันไม่ตลก แนะนำให้ทำกระเป๋าเป็นเหมือนกระเป๋าพร้อมอพยพ ในกระเป๋าก็อาจจะให้มีอาหารน้ำ เผื่อสัก 3-10 วัน มีเอกสารสำคัญ มีเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอันนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก”
หลายครั้งที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นการเตรียมความพร้อม การหยิบยกประเด็นเรื่องความปลอดภัยมาพูดคุยกับสมาชิกภายในบ้าน โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริงควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ