ฝาก (ไข่) ไว้ก่อน เมื่อเธอพร้อมแล้วค่อยป่อง
มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยหลังแต่งงานประสบปัญหามีบุตรยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกว่าจะเรียนจบ ทำงานจนเกิดความพร้อมนั้นใช้เวลา เมื่อผู้หญิงมีอายุเกิน 35 ปีไปแล้ว ปริมาณและคุณภาพไข่จะลดลงส่งผลให้มีบุตรยากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก
เทคโนโลยีเหล่านั้ประกอบด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เทคโนโลยีการทำอิ๊กซี่ (ICSI) การตรวจโครโมโซม (PGS) ด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นไข่ เก็บน้ำเชื้อ การคัดเลือก การดูแล การสร้างตัวอ่อน การใส่ตัวอ่อน และการดูแลรักษาหลังการใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปให้ฝังตัวภายในมดลูกของฝ่ายหญิง จากหลากหลายเทคโนโลยีสำหรับคนมีบุตรยาก “การฝากไข่” (Oocyte freezing) เป็นขั้นตอนหนึ่งในการรักษาเซลล์ไข่เพื่อนำไปใช้ในอนาคตตามวิธีต่างๆ ที่กล่าวไป
ในปัจจุบันจึงมีผู้หญิงหลายๆ คนสนใจเรื่องการฝากไข่ เพราะสามารถเก็บไข่ของตนเองไว้ใช้ได้ในอนาคตเมื่อมีความพร้อมในการตั้งครรภ์ อีกทั้งการฝากไข่นั้นยังช่วยหยุดอายุไข่ไว้ในอายุที่คุณฝากไข่แช่แข็ง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในอนาคต
นายแพทย์นิทัศน์ จตุปาริสุทธิ์ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จึงมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝากไข่เพื่อประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรในเวลานี้ แต่วางแผนว่าจะมีบุตรเมื่อพร้อมซึ่งอาจจะมีอายุมากขึ้นกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมนั่นคือไม่ควรเกิน 35 ปี
การ “ฝากไข่” คืออะไร
การฝากไข่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีรักษาเซลล์ไข่ โดยจะมีการกระตุ้นไข่และนำไข่ไปแช่ไว้ในไนโตรเจนเหลวซึ่งมีอุณหภูมิ – 196 องศาเซลเซียส
ใครคือผู้ที่สามารถ “ฝากไข่” ได้
ผู้หญิงที่คิดว่าตัวเองตั้งใจจะตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี หรือผู้หญิงที่เป็นมะเร็ง และใช้การรักษาที่ส่งผลต่อการทำลายรังไข่เช่นฉายแสง หรือเคมีบำบัด ซึ่งสตรีกลุ่มนี้อาจเลือกฝากไข่เอาไว้ สำหรับช่วงวัยที่เหมาะสมนั้น ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนสามารถฝากไข่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ฝากไข่ก่อนอายุ 35 ปี
ผู้หญิงโสด สามารถ “ฝากไข่” ได้หรือไม่
สามารถเก็บไข่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับข้อกำหนด ข้อบ่งชี้ ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนเดินเข้ามาแล้วต้องการฝากไข่ทางโรงพยาบาลจะทำให้ทุกคน เพราะต้องป้องกันด้านธุรกิจ การค้าไข่ ซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมาย ดังนั้นทางโรงพยาบาลต้องซักประวัติเกี่ยวกับความจำเป็นในการเก็บไข่ แต่ส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลจะเก็บไข่ให้กับคู่สมรสที่มีทะเบียนสมรส โดยยึดหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนด
อะไรคือข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่สามารถ “ฝากไข่” ได้
ไม่มีข้อห้ามในการฝากไข่ ยกเว้นผู้ประสงค์ฝากไข่มีประวัติเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งในครอบครัว เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เนื่องจากเวลาเก็บไข่ต้องมีการใช้ฮอร์โมนกระตุ้นในปริมาณมาก ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น
ขั้นตอนการ “ฝากไข่” เป็นอย่างไร
-เจาะเลือดคู่สมรสเพื่อดูว่ามีความเสี่ยง หรือเป็นพาหะของโรคอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตรวจโรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบบี และ HIV
-เจาะฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน อัลตราซาวน์รังไข่เพื่อดูว่ามีถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกหรือไม่ จากนั้นนับจำนวนไข่ ประเมินว่าเมื่อกระตุ้นแล้วจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
-ให้ยากระตุ้นเพื่อให้ได้ไข่มากกว่าธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติในแต่ละเดือนจะมีไข่ตกแค่เดือนละ 1 ใบ แต่การกระตุ้นไข่นั้นไม่ได้ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองเร็วขึ้น หรือไข่หมดเร็ว แต่มันจะทำให้ไข่ที่โดยธรรมชาติจะฝ่อเปลี่ยนเป็นไม่ฝ่อ จึงได้ไข่เยอะขึ้น
ในระหว่างฉีดยากระตุ้นประมาณ 8-10 วันจะมีการอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ และมีการเจาะฮอร์โมนดูว่ามีการตอบสนองดีไหม
-เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็เก็บไข่ด้วยการรมยาสลบ และเก็บไข่ในห้องผ่าตัด จากนั้นเตรียมไข่ เช็กคุณภาพ และนำไปแช่แข็ง
ระยะเวลา 8-10 วันเป็นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเก็บไข่ ซึ่งระหว่างนี้จะมีการมอนิเตอร์พร้อมอัลตราซาวด์ตลอดจนกระทั่งนำไข่ไปแช่แข็ง
จำนวนไข่ที่เก็บได้ในแต่ละครั้ง
ไม่สามารถบอกจำนวนไข่ในแต่ละครั้งได้ เพราะขึ้นกับฮอร์โมนในแต่ละครั้ง ยิ่งอายุน้อยปริมาณไข่จะมีมากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ฉีดกระตุ้นด้วย ยิ่งกระตุ้นเยอะก็มีโอกาสได้ไข่เยอะ แต่ต้องประเมินระหว่างการได้ไข่เยอะ กับความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งทำให้รังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้ปวดท้อง เลือดข้นจนไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญในร่างกายเช่นไต ตับ สมองได้น้อยลง และเสี่ยงทำให้เกิดตับวาย ไตวาย
ระยะเวลานานแค่ไหนที่เราสามารถ “เก็บไข่” ได้
เราสามารถเก็บไข่ไว้ได้ 10-20 ปี โดยระหว่างนี้จะมีการมอนิเตอร์อุณหภูมิของไนโตรเจนเหลว และตัวอ่อนเป็นระยะๆ ว่ายังดีอยู่ไหม
ค่าใช้จ่ายโดยประมาณของการ “ฝากไข่”
ราคาประมาณหลักแสน และระหว่างช่วงฝากไข่จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารายปีด้วย
โอกาสการตั้งครรภ์โดยใช้ไข่จากการ “ฝากไข่”
50-80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกาย แม้จะมีการปรับสภาพให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แต่จะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ประสบผลสำเร็จ และในแต่ละรอบที่ไม่สำเร็จทางโรงพยาบาลจะมีการหาสาเหตุ
แต่ถ้าการตั้งครรภ์ในครั้งนั้นไม่สำเร็จ เจ้าของยังสามารถนำไข่ที่ฝากไว้มาใช้ได้ทั้งแบบละลายไข่แล้วยิงน้ำเชื้อใหม่ให้เป็นตัวอ่อนก่อนย้ายไปฝังในโพรงมดลูก หรือใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ฝังที่โพรงมดลูก
จะเห็นได้ว่า “การฝากไข่” เป็นหนึ่งในขั้นตอนก่อนไปสู่เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรอื่นๆ ซึ่งทางการแพทย์มักแนะนำวิธีนี้ โดยเฉพาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มักนิยมมีลูกเมื่อพร้อม ซึ่งหมายถึงอายุที่มากขึ้น แม้การฝากไข่จะมีค่าใช้จ่าย แต่เราสามารถเห็นทุกขั้นตอนจนไปถึงการตั้งครรภ์ ซึ่งช่วยรับรองคุณภาพ และความปลอดภัย