ข่มขืนไม่ต้องประหาร "มิ้นท์ พรปรียา" MUT 2020  ชีวิตจิตอาสาในเรือนจำ สอนให้เห็นมุมต่าง

ข่มขืนไม่ต้องประหาร "มิ้นท์ พรปรียา" MUT 2020  ชีวิตจิตอาสาในเรือนจำ สอนให้เห็นมุมต่าง

ข่มขืนไม่ต้องประหาร "มิ้นท์ พรปรียา" MUT 2020  ชีวิตจิตอาสาในเรือนจำ สอนให้เห็นมุมต่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกหนึ่งข้อดีของการประกวดเวที Miss Universe Thailand 2020 คือทำให้เราได้เห็นความสามารถและศักยภาพของสาวๆ ในแบบที่แตกต่างกัน บางคนมาประกวดไม่เพียงเพื่อความสำเร็จของตัวเองเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นกระบอกเสียงที่ดังกว่าเดิม ซึ่งพื้นที่เพียงเล็กน้อยบนเวทีบางครั้งมันก็คุ้มค่าที่จะได้ลงมือทำ


(นาทีที่ 1.03.00 น. มิ้นท์ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นข่มขืนเท่ากับประหารไม่ใช่ทางออก)

สำหรับ มิ้นท์-พรปรียา จำนงบุตร MUT30 1 ในผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย เป็นอีกหนึ่งสาวสวยที่มาพร้อมความมุ่งมั่นที่อยากให้สังคมมอบโอกาสกับบุคคลที่เคยผิดพลาด ด้วยความที่เธอคลุกคลีกับการทำงานจิตอาสาในเรือนจำมาหลายปี ทั้งยังเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และขณะนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านสาขาอาชญาวิทยา ทำให้เธอเห็นอะไรในหลายๆ แง่มุม ทั้งจากบทเรียนและสนามจริง บางเรื่องเธอมองว่ามันพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ปัจจุบันเธอยังร่วมผลักดันศักยภาพด้านต่างๆ ของผู้ต้องขัง เพื่อเมื่อพ้นโทษเขาเหล่านั้นจะสามารถเดินทางที่ถูกต้องได้

ทำไมคุณถึงคิดว่าข่มขืนไม่ต้องประหาร
อย่างที่มิ้นท์บอกนะคะ มันต้องดูเป็นกรณีกรณีไป ถูกต้องไหมคะ การข่มขืนเท่ากับประหารมันมีหลายมุมมอง ในมุมมองของมิ้นท์ตามหลักอาชญาวิทยา ถ้าเราให้บทลงโทษข่มขืนเท่ากับประหารทุกกรณี มันอาจจะทำให้เหยื่อมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะหากผู้กระทำความผิดทราบว่าข่มขืนเท่ากับประหาร ยังไงเขาก็ต้องถูกประหาร ฆ่าซะดีกว่า


ทำไมคุณถึงมีความสนใจทำงานด้านนี้
ก่อนหน้านี้มิ้นท์เรียนรัฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากที่เรียนจบ มิ้นท์ก็ไปเป็นแอร์ ระหว่างที่เป็นแอร์ก็อ่านหนังสือด้านนี้ เพราะว่าสนใจเป็นพิเศษมาตั้งแต่เด็กๆ พอดีคุณพ่อเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านเข้าไปทำงานที่เรือนจำ เอาความรู้ด้านการศึกษาไปให้ผู้ต้องขัง เราก็มีภาพเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ และประกอบกับมิ้นท์ได้เป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้ต้องขังด้วย

ตอนเป็นแอร์มันมีจุดเปลี่ยนนิดนึง มิ้นท์โดน Sexual Harassment (ลวนลามทางเพศ) จากเพื่อนร่วมงาน ตอนนั้นเราก็โกรธเรารู้สึกว่าเรื่องเป็นเหยื่อ แต่พอทำงานหลายๆ ปี เรารู้สึกว่าเหยื่อมีเยอะก็จริง แต่คนกระทำความผิดมีเยอะกว่าอีก มิ้นท์เลยอยากรู้ว่าทำไมคนนี้ถึงกระทำผิดทั้งๆ ที่รู้ เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ให้เขาพ้นจากลูปที่รู้ว่ามันผิดแต่ก็ยังทำอยู่ ก็เลยตัดสินใจหาข้อมูลด้านนี้โดยตรงการศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรม ก็มาเจอคณะสาขาอาชญาวิทยา จนมีทุนรัฐบาลไทยเปิดสอบอยู่พอดีก็เลยลองไปสอบของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม แล้วมิ้นท์ก็ได้ทุนเรียนที่เคมบริดจ์ ตอนนี้ก็เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย


การทำงานกับผู้ต้องขังทำให้มุมมองต่างๆ เปลี่ยนไป
ภาพจำของเราอาชญากรน่ากลัว หรือที่หลายคนใช้คำว่า “คนขี้คุก” ที่เขาพูดกัน แต่พอไปได้สัมผัสเขาจริงๆ เราไปในฐานะผู้ให้ มุมมองเราเปลี่ยนไป สิ่งที่เขาต้องการมันคือการศึกษา การมีอาชีพที่ยั่งยืน และการได้รับโอกาสจากสังคมและคนรอบข้าง ยอมรับว่าเขามีตัวตนสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง เขารู้แล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดและเขาได้รับการลงโทษแล้วจากกระบวนการยุติธรรม เขาแค่อยากได้รับการยอมรับและโอกาสแค่นั้นเอง


การฝึกงานในเรือนจำสร้างความสุขให้กับคุณไม่น้อย
ก่อนที่จะมาประกวดเวที Miss Universe Thailand 2020 มิ้นท์มีไปฝึกงานกับทางเรือนจำ เป็นการฝึกงานที่ดูระบบเรือนจำทั้งประเทศเลย ที่มินท์ดูหลักๆ ที่ช่วยผู้ใหญ่ท่านดู เคยดูรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ ที่มีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการไหมคะ มิ้นท์เป็นหนึ่งในคนที่คิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เพราะมินท์เห็นว่า ภาพเรือนจำในมุมมองของคนทั่วไป มันมีภาพของความน่ากลัว หลังกำแพงเรือนจำไม่มีใครรับรู้เลยว่ามันเป็นอย่างไรนอกจากคนที่เคยอยู่ในนั้น มิ้นท์ก็อยากสื่อออกไปผ่านรายการโทรทัศน์  นอกจากนี้มันยังทำให้พี่ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะอาชีพการทำสื่อด้วย ในขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์ก็ยังได้ใช้พื้นที่ตรงนี้แนะนำขายผลิตภัณฑ์ของเรือนจำ จากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย


การทำงานเพื่อสังคมกับการประกวดนางงาม สำหรับคุณมันแตกต่างกันไหมอย่างไร
คิดว่ามันไม่ได้แตกต่างกันมากค่ะ เพราะมิ้นท์ใช้เวทีแห่งนี้ พูดถึงเรื่องผู้ต้องขัง พูดเรื่องเรือนจำค่อนข้างจะบ่อยมาก สำหรับมิ้นท์การมาตรงนี้ไม่ได้มาเพื่อชนะคนอื่น แต่มิ้นต์มีสิ่งที่อยากจะพูดออกไป อยากให้คนอื่นได้รับรู้ แล้วมิ้นท์คิดว่าพื้นที่ตรงนี้มันชนะตนเองที่ว่า "เรามีเป้าหมายและเราทำสำเร็จแล้ว"


ถ้าอย่างนั้นเป้าหมายของการประกวดคืออะไร ถ้าคุณบอกว่าไม่ใช่เจ้าของมงกุฎ
มิ้นท์อยากจะสนับสนุนการให้โอกาสผู้ต้องขัง ถ้าหากย้อนไปดูมิ้นท์จะพูดถึงบันทึกข้อตกลงร่วมกัน MOU ที่กรมราชทัณฑ์ กำลังทำอยู่กับหน่วยงานเอกชนหลายๆ ที่ทางกรมราชทัณฑ์ มีการลดภาษีให้ด้วย หากบริษัทไหนสนใจ ภาคเอกชนไหน สนใจที่จะจ้าง พี่ๆ ผู้ต้องขังเข้าทำงาน อยากจะส่งข่าวตรงนี้ออกไปให้ภาคเอกชนได้รับรู้ว่ามันมีพื้นที่ตรงนี้อยู่


และนี่คือมุมมองจาก มิ้นท์-พรปรียา จำนงบุตร 1 ในสาวงามผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย ที่มาพร้อมความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ เธอจะมงลงหรือไม่ ร่วมให้กำลังใจ และเชียร์ไปพร้อมๆ กันค่ะ

อัลบั้มภาพ 49 ภาพ

อัลบั้มภาพ 49 ภาพ ของ ข่มขืนไม่ต้องประหาร "มิ้นท์ พรปรียา" MUT 2020  ชีวิตจิตอาสาในเรือนจำ สอนให้เห็นมุมต่าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook