เท็จ หรือ จริง ? ′กลูต้าเทพ′ เรื่องของคนอยาก′ขาว′
โดย หัทยา นานิยม
จะถูกจะแพงขอให้แดงไว้ก่อน เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่เดี๋ยวนี้ต้องว่า จะแก่จะสาวขอให้ขาวไว้ก่อน
"กลูต้าไธโอน" จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในฐานะเป็นสารวิเศษ เนรมิตให้ผิวขาวใส ขาวอย่างมีออร่า ขาวอย่างมีน้ำมีนวล ขาวอย่างไม่มีเงื่อนไข ฯลฯ ทันทีที่ได้รับประทานกลูต้าเทพ
บรรดาผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม โดยเฉพาะที่อวดอ้างสรรพคุณช่วย "ขาว" จึงต้องโหน "กลูต้า" ไว้ก่อน มีทั้งแบบกิน แบบทา กระทั่งแบบฉีด
โดยเฉพาะกระแสในโซเชียลมีเดียที่มีบรรดาดารา นักร้อง นางแบบ รวมทั้งเน็ตไอดอล เป็นพรีเซ็นเตอร์ใช้ผลิตภัณฑ์ (อ้างว่า) หน้าขาว เป็นการสร้างความเข้าใจผิดๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ถึงประสิทธิผลของการช่วยขาวแบบมีออร่าของกลูต้าไธโอน
ถามว่า กลูต้าไธโอนช่วยให้ขาวบ้างมั้ย?
มีบ้าง แต่เป็นเรื่องของผลข้างเคียงจากการใช้ในการรักษาโรค เช่น ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคเอดส์ โรคมะเร็ง ฯลฯ เมื่อแพทย์ฉีดกลูต้าไธโอนให้แล้ว ปรากฏว่าผิวของคนไข้ขาวขึ้น เพราะกลูต้าไธโอนมีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสี แต่ผลดังกล่าวก็มีน้อยเสียจนไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์ที่แน่นอนได้!
ในทางตรงกันข้าม การที่ร่างกายได้รับกลูต้าไธโอนในปริมาณที่มากเกินอาจส่งผลต่อการเกิดโรคและความเสื่อมต่างๆ ของร่างกายได้
กลูต้าไธโอนคืออะไร?
"กลูต้าไธโอน" เป็นชีวโมเลกุลที่เซลล์ในร่างกายทุกเซลล์ของคนเรา รวมทั้งสัตว์สามารถสร้างขึ้นได้เอง จากกรดอะมิโน 3 ชนิด คือ กลูต้าเมท (Glutamate) ซีสเตอีน (Cystein) และไกลซีน (Glycine) โดยมีหน้าที่หลักในการปกป้องเซลล์ในร่างกายให้ทำงานได้เป็นปกติ
ล่าสุด ดร.จิมมี่ กัทแมน (Jimmy Gutman) แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลูต้าไธโอน เดินทางมาบรรยายให้กับสมาคมแพทย์ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียและไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ขอความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ดร.จิมมี่ กัทแมน
ดร.กัทแมนบอกว่า "น่าเศร้าใจมากที่คนไทยใช้กลูต้าไธโอนเพื่อให้ผิวขาว เป็นเรื่องของความสิ้นเปลือง เพราะไม่ได้ผล ถ้ารับประทานชนิดเม็ด ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ มีงานวิจัยออกมารองรับมากมาย"
การรับประทานกลูต้าไธโอนที่อยู่ในรูปอาหารเสริมแบบเม็ดไม่สามารถเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในร่างกายได้ เนื่องจากกลูต้าไธโอนจะถูกย่อยสลายทำลายหมดไปในระบบทางเดินอาหารก่อนที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ส่วนการใช้วิธีการฉีด เพิ่มระดับกลูต้าไธโอนได้จริง แต่ไม่ได้เป็นในลักษณะธรรมชาติ ซึ่งถ้าร่างกายมีกลูต้าไธโอนในกระแสเลือดปริมาณมากเกินกลับเป็นผลเสียต่อร่างกาย
ดร.กัทแมนบอกอีกว่า กลูต้าไธโอนนั้นร่างกายคนเราสามารถผลิตได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสารสำคัญต่อร่างกายของคนและสัตว์ โดยหน้าที่ของกลูต้าไธโอนหลักๆ มี 3 อย่าง จำง่ายๆ ว่า AID
โดย A มาจาก "แอนตี้-ออกซิแดนต์" (Antioxidant) ทำหน้าที่เป็นสุดยอดของสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากในบรรดาวิตามินทั้งหลายที่เรารู้จัก 4,000 กว่าชนิด รวมทั้งวิตามินซีและวิตามินอี จะทำงานไม่ได้เลยถ้าไม่มีกลูต้าไธโอน และเมื่อร่างกายเราใช้วิตามินซีและวิตามินอีจะหมดแล้ว กลูต้าไธโอนก็จะเป็นตัวที่ชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่
I คือ อิมมูน "เอนฮานเซอร์" (Immune Enhancer) ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลากหลายชนิดเพื่อให้ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและไวรัส
ส่วน D คือ "ดีท็อกซิฟิเคชั่น" (Detoxification) ช่วยในการกำจัดพิษออกจากร่างกายโดยไปเปลี่ยนสารพิษชนิดไม่ละลายในน้ำ (ละลายในน้ำมัน) เช่น พวกโลหะหนัก สารระเหย ยาฆ่าแมลง แม้แต่ยาบางชนิด ให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีขึ้นและง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลายโดย แอลกอฮอล์ (สุรา) สารพิษจากบุหรี่ ยาพาราเซตามอลเกินขนาด ฯลฯ
รวมถึงในกรณีของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ก็พบว่ามีระดับของกลูต้าไธโอนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับบ้านเราอาจจะเพิ่งรู้จักชื่อของกลูต้าไธโอนเมื่อไม่นานมานี้ ดร.กัทแมนบอกว่า ในทางการแพทย์มีการพบสารตัวนี้ตั้งแต่ปี 1888 ส่วนใหญ่จะศึกษากันอยู่ในห้องวิจัย ซึ่ง โดยมากจะใช้กันในกรณีการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น ในคนที่กินยาพาราเซตามอลเกินขนาด ตับจะเป็นพิษและมีโอกาสที่จะเกิดอาการวายได้ แพทย์จะฉีดกลูต้าไธโอนเข้าไปในเส้นเลือดดำเพื่อขจัดฤทธิ์ยาในตับ
ดร.กัทแมนบอกอีกว่า ที่น่าสนใจคือในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมามีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลูต้าไธโอนเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ช่วยไขความกระจ่างถึงความสัมพันธ์ของกลูต้าไธโอนกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ โดยพบว่า...
ร่างกายของเราจะผลิตกลูต้าไธโอนได้ลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้พฤติกรรมการบริโภคของคนในปัจจุบันที่นำไปสู่การมีระดับไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด มลภาวะที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม และโรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้กลูต้าไธโอนถูกใช้ในอัตราสูงจนเกิดการขาดแคลนได้
"ระดับกลูต้าไธโอนในร่างกายคนเราจะลดต่ำลงสัมพันธ์กับช่วงอายุที่มากขึ้น เป็นกลไกที่ส่งผลต่อความเสื่อมต่างๆ ในร่างกายและการเกิดโรค เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย จำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคหลายขนาน จึงเสี่ยงต่อการเกิดพิษในตับและไตจากประสิทธิภาพในการขจัดสารพิษตกค้างของยาลดลง"
ประโยชน์ของกลูต้าไธโอน คือช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายๆ โรค เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ต้อกระจก จอตาเสื่อม ภาวะกล้ามเนื้อลีบในวัยสูงอายุ และรวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก
ปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรคปอด และแพทย์ที่รักษาโรคเอดส์และภาวะตับอักเสบ ได้หันมาใส่ใจกับการเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนด้วยแนวทางธรรมชาติหลังจากการรักษาด้วยวิธีของแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วเราจะได้รับกลูต้าไธโอนจากไหน?
ดร.กัทแมนบอกว่า อาหารที่ให้ "เวย์โปรตีน" โปรตีนธรรมชาติที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนซีสเตอีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายสามารถนำไปใช้สร้างกลูต้าไธโอน คือ น้ำนมธรรมชาติ โดยเฉพาะ น้ำนมแม่
ทว่ากลูต้าไธโอนจะสลายเมื่อต้องความร้อน หรือถูกปั่นกวน ฉะนั้น ในผักสดผลไม้หลายๆ ที่มีเวย์โปรตีน เช่น ไข่ ผักบร็อกโคลี กะหล่ำปลี ผักแขนง ผลอะโวคาโด ผักโขม มะเขือเทศ หรือในเนื้อสัตว์ เช่น ซูชิ เป็นต้น จะต้องไม่ผ่านกระบวนการปรุงสุกเช่นกัน
เอาเป็นว่า รับประทานอาหารให้หลากหลายเข้าไว้ ประเภทผักสด ผลไม้ รวมทั้งปลา และไข่เป็นดีที่สุด