เมนูอาหารลูกน้อย "ต้นอ่อนผักบุ้งไฟแดง" ขนาดก็สำคัญสำหรับคนไม่ชอบผัก
EP40 ต้นอ่อนผักบุ้งไฟแดง ขนาดก็สำคัญสำหรับคนไม่ชอบผัก
เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนเคยผ่านการเล่นซ่อนแอบผักในจานอาหาร ซึ่งทำแล้วแต่สุดท้ายก็ยังต้องทิ้งลงถังขยะกันไปไม่รู้กี่ครั้งอยู่ดี เพราะไม่เป็นที่ถูกปาก เคยแนะนำเทคนิคเมื่อคราวที่แล้ว คือการตัดผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยนำไปปรุงให้สุก เพื่อลดรสขมจากแร่ธาตุในผักเขียวให้เจือจางลง อันที่จริงในการฝึกทานผัก เราคงไม่สามารถคาดหวังในเรื่องปริมาณกับมือใหม่หัดผักได้เป็นแน่ ดังนั้นคุณแม่เลยคิดว่าในหนึ่งมื้อถ้าเจ้าตัวน้อยยอมรับประทานเพียงน้อยนิดได้สำเร็จ แต่ได้โภชนาการมากก็คงดีกว่า เลยทำให้นึกถึงพวกต้นอ่อนของผัก ที่ปัจจุบันหาได้ง่าย แถมยังสามารถปลูกเองที่บ้านได้อีกด้วย
ต้นอ่อนผักบุ้ง ขนาดจิ๋วแต่โภชนาการคับต้น
คุณแม่รู้จักต้นอ่อนพวกนี้สมัยตอนทำร้านอาหาร จะใช้เป็นพวกสมุนไพรบ้าง ผักที่ให้กลิ่นหอมบ้าง ปรุงอาหารและตกแต่งจานให้ความสวยงาม ปัจจุบันต้นอ่อนของผักเริ่มมีให้เลือกมากขึ้นทั้งของไทยและเทศ เพิ่งมาทราบทีหลังว่า เคยมีงานวิจัยพบว่าต้นอ่อนที่โตในช่วงระยะเวลา 7-21 วันในบางชนิด จะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงโตเต็มวัยถึง 40 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นคุณแม่คิดว่าน่าจะเป็นการตอบโจทย์ที่ดีสำหรับน้องที่ไม่ชอบทานผักสักเท่าไหร่ ด้วยขนาดที่เล็กและทานง่ายกว่า ไม่ต้องทานเยอะก็ยังได้ประโยชน์ ต้นอ่อนจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ทุกอย่างมักมีสองด้านเสมอ หัวใจสำคัญของผักต้นอ่อนคือเมล็ดในการเพาะ หากเราต้องการปลูกไมโครกรีนที่บ้าน ก็จำเป็นต้องเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย อย่าง ซาโมเนลลา และเชื้ออีโคไล ส่วนถ้าจะซื้อรับประทาน ก็ต้องให้แน่ใจว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
อาทิตย์นี้ คุณแม่ปอม รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ เลยจะมาแบ่งปันเมนูอย่าง ต้นอ่อนผักบุ้งไฟแดง เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้วัตถุดิบสำหรับเด็กน้อยที่ไม่ชอบทานผักสักเท่าไหร่ สูตรของคุณแม่ใช้แต่วัตถุปรุงแต่งธรรมชาติ ไม่เกลือ ไม่น้ำตาล ไม่ซอสปรุงรสใดๆ เหมือนเดิม ลองไปดูวิธีทำกันค่ะ
เครื่องปรุง
น้ำมันคาโนล่า 1 ช้อนชา
ขิงกระเทียมสับ 1 ช้อนชา
ต้นอ่อนผักบุ้ง 1 ถ้วย
เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น 1 ช้อนชา
พริกหวาน ¼ ถ้วย
น้ำ ¼ ถ้วย
วิธีเตรียม 5 นาที
พริกหวานหั่นเต๋า ล้างต้นอ่อนผักบุ้งให้สะอาด
วิธีทำ 5 นาที
ตั้งกระทะให้ร้อน ใช้ไฟแรง แล้วค่อยใส่น้ำมัน นำขิงกระเทียมสับลงไปผัดจนหอม จากนั้นใส่ต้นอ่อนผักบุ้ง เต้าเจี้ยว พริกหวาน ผัดให้เข้ากันอย่างรวดเร็ว หากชอบน้ำขลุกขลิก ใส่น้ำลงไป ผัดอีกห้าวินาทีเป็นอันเสร็จ
เคล็ดไม่ลับที่คุณแม่งัดวิชางานบ้านตอนประถมมาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน คือ เวลาผัดผักต้องใช้น้ำน้อย ไฟแรง และใช้เวลาสั้น จะได้ความกรุบกรอบ ไม่เหนียวติดฟัน คุ้มค่าแก่การลองรับประทาน สุดท้ายคุณแม่ขอให้มีความสุขกับการทำอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการรับประทานอาหารอย่างยั่งยืนของลูกน้อยในอนาคตนะคะ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าค่ะ