พ่อแม่สังเกตดีๆ ไข้หวัดธรรมดาหรือติดเชื้อไวรัส RSV

พ่อแม่สังเกตดีๆ ไข้หวัดธรรมดาหรือติดเชื้อไวรัส RSV

พ่อแม่สังเกตดีๆ ไข้หวัดธรรมดาหรือติดเชื้อไวรัส RSV
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้จะเรียกได้ว่าเป็นช่วง “ปลายฝนต้นหนาว” ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะฤดูฝนกำลังจะผ่านไป และฤดูหนาวกำลังจะเข้ามา แต่ระยะนี้ฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายหลายพื้นที่ด้วยอิทธิพลของพายุ นำมาซึ่งอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ถึงกระนั้น ไม่ได้มีแค่ไข้หวัดเท่านั้นที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เราอาจจะเป็นกันในช่วงหน้าฝนนี้ แต่ยังมีอีกโรคที่รุนแรงกว่านั้น และหลายคนยังไม่รู้จัก คือ โรคระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัส RSV

ไวรัส RSV คืออะไร?

ไวรัส RSV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ลักษณะเด่นของอาการคือ ร่างกายจะผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก สามารถพบการติดเชื้อได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบและรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ เชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลายปีแล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่รู้จัก หรืออาจไม่เคยได้ยินไวรัส RSV ด้วยซ้ำ

สาเหตุหลักๆ ของการติดเชื้อนั้น ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องระวังให้ดี เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดูแลลูกที่กำลังป่วย อาจติดเชื้อนี้มาได้เช่นกัน

ลักษณะอาการโรคติดเชื้อไวรัส RSV

  • มีไข้แบบขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน
  • คออักเสบ มีอาการไอ และเป็นการไอแบบมีเสมหะปริมาณมาก
  • มีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด
  • จากภาวะการหายใจติดขัด และเสมหะมาก อาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน พบร่วมกับภาวะตัวเขียว

อาการแทรกซ้อน

เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค และยังไม่มียาในการรักษาที่เฉพาะเจาะจง การที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัส RSV มาแล้วนั้น จะต้องมีการประเมินจากแพทย์แล้วการรักษาตามอาการ แต่ถ้าหากปล่อยไว้โดยที่คิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ไวรัสจะลุกลามจนมีอาการปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบได้ ซึ่งถ้าผู้ป่วยร่างกายไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิม ก็อันตรายถึงชีวิต

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อได้แทบทุกโรค ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัส RSV ติดต่อกันค่อนข้างง่าย และพ่อแม่ก็ติดจากลูกได้ จึงควรมีการป้องกันเบื้องต้น คือ หลีกเลี่ยงเด็กและตนเองจากการอยู่ในสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท และแออัด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวภายในบ้านเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค รักษาความสะอาด โดยเฉพาะมือ ในการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ และการกินอาหาร สุดท้าย คือ การรักษาภูมิต้านทานของร่างกายให้เพียงพอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook