แม่ท้องกับภาวะขาดสารอาหาร
เรื่อง: พญ. ชัญวลี ศรีสุโข
"แม่ท้องที่กลัวอ้วนจนยอมอดอาหาร อาจเกิดภาวะขาดอาหารไม่รู้ตัว"
แม่ท้องหลายท่านมีความเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้หลังคลอดน้ำหนักลดยาก ทำให้ไขมันส่วนเกินเยอะ หลายคนจึงอดอาหารในตอนท้องเพื่อให้น้ำหนักขึ้นน้อย ทั้งที่ความเป็นจริง แม่มักจะลดน้ำหนักได้หลังคลอดหากน้ำหนักขึ้นพอดี ข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอเมริกาพบว่า ตามธรรมชาติ ทันทีหลังคลอด น้ำหนักแม่จะลดลง 5.5 กิโลกรัม อีก 2 สัปดาห์ต่อมาน้ำหนักจะลดลงอีก 4 กิโลกรัม หลังจากนั้นภายใน 6 เดือน น้ำหนักจะลดอีก 2.5 กิโลกรัม อีกทั้งยังพบว่า ยิ่งน้ำหนักแม่เพิ่มมากเท่าไรในขณะตั้งครรภ์ ช่วงหลังคลอดน้ำหนักก็จะลดลงมากเท่านั้น ยิ่งหากแม่ให้นมลูก พร้อมกับออกกำลังกายและควบคุมอาหาร น้ำหนักก็จะยิ่งกลับมาเป็นปกติในช่วงหลังคลอดเร็วขึ้น
โดยทั่วไปสถาบันการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือไอโอเอ็ม (Institute of Medicine) มีคำแนะนำให้แม่เพิ่มน้ำหนักตอนท้องตามดัชนีมวลกาย ดังนี้
อาจจะเพราะความเชื่อดังกล่าว จึงพบแม่ขาดสารอาหารค่อนข้างมากในประเทศไทย ข้อมูลทางการแพทย์ รายงานโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ในปี พ.ศ. 2545 ประชากรวัยทำงานมีภาวะขาดสารอาหาร ร้อยละ 25.3 ในปี พ.ศ. 2546 มีหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 44.5 เป็นโรคขาดสารไอโอดีน และในปี พ.ศ. 2547 มีหญิงตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 12.35 ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ฯลฯ
ภาวะขาดสารอาหารเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพของแม่ท้องอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไรมาติดตามกันค่ะ
ภาวะขาดสารอาหารคืออะไร
คือภาวะที่เกิดจากร่างกายไม่ได้รับวิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารอื่นๆ เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติสุข อาจจะเกิดจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ มีปัญหาการย่อย การดูดซึมอาหาร หรือปัญหาทางการแพทย์อื่นๆ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ท้องขาดสารอาหาร
1. ขาดสารอาหารมาตั้งแต่ก่อนท้อง
2. รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ สาเหตุจากความยากจน อาหารมีราคาแพง การขาดแคลนอาหารในท้องถิ่น แพ้ท้อง ท้องอืดแน่น และจากสาเหตุอื่นๆ
3. รับประทานอาหารไม่ถูกวิธี เช่น กินข้าวขัดขาวทำให้ขาดวิตามิน รับประทานอาหารไม่ครบหมู่ ไม่รับประทานผัก ผลไม้ เป็นต้น
4. มีโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ท้องเสีย ตกเลือดมาก โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคพยาธิลำไส้ แพ้อาหาร โรคตับ โรคไต โรคถุงน้ำดี โรคเบาหวาน โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคเรื้อรังอื่นๆ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด นอนบนเตียงในโรงพยาบาลนานๆ ได้รับการผ่าตัดกระเพาะลำไส้ ฯลฯ
5. มีความเชื่อเรื่องการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น กลัวอ้วนหลังคลอด ไม่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพราะกลัวลูกจะโตคลอดยาก คนบางกลุ่มมีความเชื่อว่าหากกินไข่ เด็กที่คลอดออกมาจะลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น
ผลเสียจากการขาดสารอาหารของแม่ที่มีต่อแม่และลูกในครรภ์
1. แม่ท้องมีอาการปากแห้ง เจ็บปาก เจ็บลิ้น เป็นแผลมุมปาก แผลในปากและลิ้น โลหิตจาง อ่อนเพลีย ตาฝ้าฟาง หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก ต่อมไธรอยด์โต เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
2. แม่ท้องอาจมีเลือดออกผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ ก่อนคลอด และหลังคลอด จากรกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด
3. ทารกในครรภ์แท้ง คลอดก่อนกำหนด เสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอด
4. ทารกตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ อาจมีปัญหาการพัฒนาของสมองทารก โดยเฉพาะการขาดสารอาหารของแม่ท้องในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์
5. น้ำนมแม่หลังคลอดมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูก
จะเห็นแล้วว่าการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้หมายความว่าอดอยากเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการมีความเชื่อที่ผิดๆ หรือการมีลักษณะนิสัยการกินที่ไม่ถูกต้องมาแต่เดิม ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราและลูกได้เช่นกัน ฉบับหน้ามาพบกับโภชนาการที่ดีสำหรับแม่ท้อง และคำแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่ขาดสารอาหารกันค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com/