5 วิธีแก้อาการลูกน้อยไอไม่หยุดตอนกลางคืนง่ายๆ ช่วยลูกหลับสบาย ไม่ทรมาน
อาการไอไม่หยุดที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยมักจะมีอาการหนักในช่วงกลางคืน บางรายถึงขั้นอาเจียนออกมา ซึ่งการไอไม่หยุดยังทำให้ลูกไม่สามารถนอนหลับได้เต็มที่ และมักจะส่งผลต่ออารมณ์หงุดหงิดหรืองอแงอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรับมือกับปัญหานี้ให้ดี และในส่วนของวิธีแก้อาการลูกน้อยไอไม่หยุด ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาอาการให้ลูกน้อยนอนหลับได้บ้างก็มีดังนี้ค่ะ
1.ลดน้ำมูกให้ลูกน้อยก่อนเข้านอน
แน่นอนว่าเด็กเล็กอาจจะยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกด้วยตัวเองเองได้ พ่อแม่จึงควรล้างจมูกให้ลูกน้อยเพื่อลดน้ำมูก ซึ่งมักจะไหลลงไปสะสมเป็นเสมหะในลำคอได้ วิธีนี้ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกมีเสมหะ แต่หากสังเกตเห็นว่าลูกไอแบบมีเสมหะ และไม่สามารถขากออกจากปากได้เอง ก็ควรให้ลูกจิบน้ำอุ่น เพื่อเป็นการลดความเหนียวข้นของเสมหะลง จะช่วยบรรเทาอาการไอหนักๆ ได้บ้าง
2.หลีกเลี่ยงการนอนในห้องที่มีอากาศเย็นมาก
ห้องนอนที่มีอากาศเย็นมากจนเกินไป ส่งผลให้ลูกน้อยไอได้มากขึ้น ควรปรับอุณหภูมิอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียสกำลังดี เพราะอุณหภูมินี้จะช่วยบรรเทาอาการไอไม่หยุดของลูกได้ ที่สำคัญควรสวมถุงเท้า และห่มผ้าโดยปิดช่วงหน้าอกและคอให้ลูกด้วยเสมอ
3.อากาศในห้องนอนไม่ควรแห้งเกินไป
ห้องนอนที่มีอากาศแห้งจนเกินไป จะมีความชื้นน้อยมาก ซึ่งอากาศแห้งมักจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำมูกออกมา ทำให้มีอาการคันคอ ไอ จาม คัดจมูก และมีน้ำมูกไหลตามมา ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาห้องนอนที่มีอากาศแห้งมาก ด้วยการวางแก้วที่มีน้ำไว้ใต้แอร์ จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศได้
4.ห้องนอนถ่ายเทอากาศได้ดี
ห้องนอนของลูกควรถ่ายเทอากาศได้ดี และควรจัดที่นอนให้โล่ง สำคัญที่สุดคือการใส่ใจในส่วนของที่นอน ควรหมั่นทำความสะอาดและตากแห้ง หลีกเลี่ยงการวางของเล่นหรือตุ๊กตาใกล้ตัวลูก เพราะของเล่นมักเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นนั่นเอง
5.ลดอาการอักเสบด้วยน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบและช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการไอได้ แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับลูกน้อยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
พ่อแม่อาจจะสงสัยว่าลูกน้อยหายจากอาการเป็นหวัดแล้ว แต่ทำไมยังคงไอไม่หยุด ซึ่งก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีว่า อาการไอไม่หยุดเกิดจากระบบการหายใจและหลอดลมที่ยังคงมีอาการอักเสบหลงเหลืออยู่ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นต่างๆ อย่างเช่น ฝุ่น อากาศแห้ง หรืออากาศเย็นเกินไป ก็ล้วนทำให้เกิดอาการไอไม่หยุดได้นั่นเองค่ะ