สาวญี่ปุ่น 38% เผชิญปัญหา "น้ำหนักตัวขึ้นเพราะโควิด-19" ในช่วงกักตัว

สาวญี่ปุ่น 38% เผชิญปัญหา "น้ำหนักตัวขึ้นเพราะโควิด-19" ในช่วงกักตัว

สาวญี่ปุ่น 38% เผชิญปัญหา "น้ำหนักตัวขึ้นเพราะโควิด-19" ในช่วงกักตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ทำให้ผู้คนทั่วโลกส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ เดินทางและออกนอกบ้านน้อยลง ใช้เวลาอยู่ที่บ้านพักมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ไลฟ์สไตล์เท่านั้น “น้ำหนัก” ของหลาย ๆ คนก็อาจเปลี่ยนไปเพราะการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) นี้ด้วย

ปัญหา “น้ำหนักตัวขึ้นเพราะโควิด-19” หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โคโรน่า ฟุโตริ” (コロナ太り) คือภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงกักตัวอยู่ที่บ้าน ผู้คนเดินทางและออกนอกบ้านน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายขาดการออกกำลังกายและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด โดยเว็บไซต์ kufura จากประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่มีช่วงอายุ 20-40 ปี จำนวน 397 คน ในหัวข้อ “น้ำหนักของคุณเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? หลังเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด” ซึ่งมีผลการสำรวจดังนี้

อันดับ 1 น้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง…203 คน (51.1%)
อันดับ 2 น้ำหนักเพิ่ม 1-3 กิโลกรัม “โคโรน่า ฟุโตริ”…121 คน (30.5%)
อันดับ 3 น้ำหนักลดลง 1-3 กิโลกรัม “โคโรน่า ยาเสะ”…32 คน (8.1%)
อันดับ 4 น้ำหนักเพิ่ม 4-6 กิโลกรัม “โคโรน่า ฟุโตริ”…29 คน (7.3%)
อันดับ 5 น้ำหนักลดลง 4-6 กิโลกรัม “โคโรน่า ยาเสะ”…7 คน (1.8%)
อันดับ 6 น้ำหนักลดลงไปมากกว่า 7 กิโลกรัม “โคโรน่า ยาเสะ”…3 คน (0.8%)
อันดับ 7 น้ำหนักเพิ่มมากกว่า 7 กิโลกรัม “โคโรน่า ฟุโตริ”…2 คน (0.5%)

แม้ว่าจำนวนของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ “น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย” ในช่วงกักตัวจะมีมากที่สุดถึง 51.1 % แต่จะเห็นได้ว่า หญิงสาวที่ตอบแบบสำรวจนี้จำนวนกว่า 38% หรือคิดเป็นผู้หญิง 1 ใน 3 คนได้รับผลกระทบ “โคโรน่า ฟุโตริ” หรือภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการกักตัวในช่วงโควิด-19 และในขณะเดียวกัน ก็มีสาวญี่ปุ่นราว 11% หรือคิดเป็น 1 ใน 10 คนที่ “น้ำหนักตัวลดลงเพราะโควิด-19” หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โคโรน่า ยาเสะ” (コロナ痩せ) ด้วย

สาเหตุของ “โคโรน่า ฟุโตริ” (コロナ太り)


สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงกักตัวอาจเป็นเพราะ “การไม่ได้ออกนอกบ้าน” เมื่อเราต้องปรับตัวกับไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ ออกนอกบ้านให้น้อยลง ใช้เวลาอยู่ที่บ้านเพิ่มมากขึ้น อาจก่อให้เกิดความเครียดและทำให้ร่างกายขาดการออกกำลังกาย

จากการสำรวจเกี่ยวกับ “จำนวนการเดินใน 1 วันของชาวญี่ปุ่น” โดยบริษัท link & Communication ประเทศญี่ปุ่น พบว่า
ในเดือนมกราคม 2020
ชาวญี่ปุ่นที่เดินน้อยกว่า 3,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 14%
ชาวญี่ปุ่นที่เดินมากกว่า 3,000-8,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 52 %
ชาวญี่ปุ่นที่เดินมากกว่า 8,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 34%

ในขณะที่ ผลการสำรวจเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม พบว่า
ชาวญี่ปุ่นที่เดินน้อยกว่า 3,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 28%
ชาวญี่ปุ่นที่เดินมากกว่า 3,000-8,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 51 %
ชาวญี่ปุ่นที่เดินมากกว่า 8,000 ก้าว/วัน มีจำนวน 21%

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมที่ชาวญี่ปุ่นต้องกักตัวและเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตแบบใหม่ การทำงานอยู่ที่บ้านหรือการทำงานผ่านวิดีโอออนไลน์ทำให้ชาวญี่ปุ่นเดินน้อยลง ซึ่งการนั่งท่าเดิม ๆ หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้ร่างกายขาดการออกกำลังกาย มวลกล้ามเนื้อลดลง และอาจเกิดอาการปวดเท้า สะโพก และข้อต่อกระดูกในเวลาต่อมา

 

ขณะเดียวกัน บางคนที่ต้องทำงานหรือเรียนอยู่ที่บ้านก็มีพฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป เช่น ทานขนมในขณะทำงาน/เรียน, มีเวลาทานขนมขบเคี้ยวมากขึ้นเพราะมีเวลาพักที่นานกว่าทำงานนอกบ้าน

แม่บ้านญี่ปุ่นบางคนก็น้ำหนักขึ้นเพราะลูก ๆ หยุดเรียนในช่วงโควิด-19 จากการใช้เวลาว่างในการฝึกทำขนมหรือทำอาหารกับลูก ๆ หรือบางบ้านก็เพลิดเพลินกับการสั่งเมนูอาหารอร่อย ๆ จากร้านให้มาส่งที่บ้านเพราะเบื่อความซ้ำซากจำเจ

 

วิธีแก้ปัญหา “โคโรน่า ฟุโตริ”


สิ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหา “โคโรน่า ฟุโตริ” ได้ในตอนนี้ก็คือ “การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ที่บ้าน” อาจเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การยืดเส้นยืดสาย หรือการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะหาซื้ออุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายภายในบ้าน หรือออกกำลังกายตามคลิปวิดีโอต่าง ๆ บน Youtube ก็ตาม ขอแค่คุณมีความพยายามและมีเวลาให้กับการออกกำลังกายมากขึ้น เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลปัญหาน้ำหนักตัวหรือไขมันเพิ่มแน่นอน

 

นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยคำนึงถึงความสมดุลทางโภชนาการและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สำหรับใครที่คิดว่าการทานอาหารเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะผักและผลไม้เป็นเรื่องไกลตัว อาจจะลองฝึกทำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพง่าย ๆ ด้วยตัวเองดูสักเมนู ลองตกแต่งเมนูนั้นให้สวย ๆ เพื่อถ่ายรูปลงสื่อโซเชียลก่อนรับประทาน วิธีนี้อาจช่วยให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการควบคุมพฤติกรรมและรับประทานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพียงแค่ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทาน รับรองว่าคุณจะได้รับประโยชน์ดี ๆ กลับสู่ร่างกายแน่นอนค่ะ!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook