เคล็ดลับสอนลูกของ "ซินดี้ สิรินยา" กับรูปแบบการเลี้ยงดูแบบให้เกียรติมนุษย์เด็ก!
เมื่อพูดถึงชื่อของ ซินดี้-สิรินยา หรือ สิรินยา บิชอพ ก็ต้องบอกเลยว่าฝีมือโดดเด่นจนเรียกว่าเป็นซูเปอร์โมเดลตัวแม่แห่งรันเวย์เลยก็ว่าได้ จนต้องบอกเลยว่าเป็นไอดอลของสาวๆที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนางแบบไม่น้อย ซึ่งภายหลังจากที่คุณซินดี้วางมือจากรันเวย์ไปสร้างครอบครัวกับนักธุรกิจหนุ่มหล่อ คุณไบรอน บิชอพ จนปัจจุบันก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 แล้ว ทั้งสองมีโซ่ทองคลองใจ 2 คนในวัยกำลังน่ารัก ทำให้คุณซินดี้รับบทเป็นคุณแม่แบบเต็มตัว และงานนี้ HELLO! ได้มีโอกาสพูดคุยถึงเคล็ดลับสอนลูกของ ซินดี้ - สิรินยา กับรูปแบบการเลี้ยงดูแบบให้เกียรติมนุษย์เด็ก!! หน้าทีคุณแม่ คุณซินดี้จะรับบทโหด หรือว่าเน้นตามใจลูกนั้นมาดูกันค่ะ
มอบอิสระทางความคิดให้กับลูก
“เป็นแม่นะคะ กว่าลูกจะโตต้องครีเอตเกมสารพัด ต้องมีจิตวิทยาสูงมาก มันไม่ง่ายเลยและไม่มีใครเพอร์เฟกต์ในการเป็นแม่ ซินดี้อยากให้กำลังใจแม่ทุกคน บางทีเรารู้สึกเฟลว่าเป็นแม่ได้ไม่ดีพอ และอยากเตือนว่าอย่าเอาลูกเราไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น ประเทศไทยมีการเปรียบเทียบกันเยอะ เอาลูกไปแข่งขันกับลูกคนอื่น ทุกวันนี้ที่เราให้ลูกทำโน่นทำนี่ จริงๆ แล้วทำไปเพื่อใคร เพื่อลูกหรือเพื่อที่พ่อแม่จะได้หน้าไปอวดคนอื่น ซินดี้เห็นว่าบางทีเด็กกดดันมาก ถ้าเขาชอบจริงๆ ก็สนับสนุนไปเลย อย่างเลล่าชอบเต้นมาก เต้นอาทิตย์ละ 3 - 4 วันก็เอาเลยลูก แต่เมื่อไรที่เขาไม่เอา ไม่ชอบ แต่เรายัดเยียดให้เขาทำ ก็ไม่ใช่ละ”
เลี้ยงลูกสาว VS เลี้ยงลูกชาย
“การเลี้ยงลูกสาวกับลูกชายไม่ได้ต่างกันเลยสำหรับซินดี้ เพราะเราเลี้ยงบนพื้นฐานของการไม่มี gender bias เราสอนเขาให้เป็นคนดี ให้เกียรติคนอื่น เคารพสิทธิคนอื่น เมื่อเราอยู่บนพื้นฐานนี้ จะผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่ต่างกันนะคะ” คุณซินดี้เล่าไปพร้อมกางแขนโอบลูกที่เดินกลับมาร่วมวงสัมภาษณ์อีกครั้ง
“กับเลล่า ซินดี้ไม่เคยบอกให้เขาเต้นบัลเลต์เท่านั้น ห้ามเตะฟุตบอล เราไม่แบ่งแยกเลย ตอนนี้
เลล่าอยากเล่นโกคาร์ตก็ให้เขาขับค่ะ หรือถ้าเอเดนอยากเรียนยิมนาสติก เราก็ให้เขาเรียน เพียงแต่เขาไม่ชอบเอง เขาอยากเรียนเทควันโด ในหลายๆ เรื่องพ่อแม่คิดเผื่อเด็กไปเองนะคะ อย่างหนูเป็นผู้หญิงต้องใส่สีชมพู หนูเป็นผู้ชายต้องเตะบอล แล้วถ้าเกิดวันหนึ่งลูกชายไม่ชอบเตะบอลแต่ชอบเล่นตุ๊กตา หรือถ้าวันนี้ลูกสาวไม่อยากใส่กระโปรง แล้วคุณจะโอเคไหม ล่าสุดเลล่าบอกว่าอยากซื้อแต่เสื้อผ้าผู้ชายอย่างเดียว เราก็ต้องให้เขาแสดงออก คือเขาต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่แล้วในวัยนี้
“Gender Bias, Stereotype หรือมายาคติทางเพศคือสิ่งที่เราปลูกฝังให้เด็กโดยไม่รู้ตัว พ่อแม่ต้องมีสติกับตรงนี้เยอะๆค่ะ”
น้องเอเดนที่นั่งฟังขอมีส่วนร่วมกับบทสัมภาษณ์ด้วยการพูดว่า “แล้วถ้าหนูไม่อยากใส่กางเกงในล่ะ” แม่ซินดี้ทำตาโตและหัวเราะ “ก็แล้วแต่หนู ถ้าหนูอยากโตงเตงก็รับผิดชอบของหนูเองนะครับ”
ครอบครัวบิชอพกับบทบาทงเรื่องสิทธิและเรื่องเพศ
มิสเตอร์และมิสซิสบิชอพคุยกับลูกในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องสิทธิและเรื่องเพศ เรื่องที่หลายบ้านไม่รู้จะคุยกับลูกเมื่อไรและอย่างไร คุณซินดี้ซึ่งสวมบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมเต็มตัวได้ 2 ปีเต็ม เล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นว่าเธอสนใจประเด็นใหญ่ในสังคมนี้ได้อย่างไรและปรับใช้กับครอบครัวของเธอได้ด้วยวิธีไหน
“ซินดี้อ่านหนังสือพิมพ์ช่วงก่อนสงกรานต์ มีพาดหัวข่าวแนะนำผู้หญิงไม่ให้แต่งตัวโป๊จะได้ไม่โดนลวนลาม เราก็เอะใจว่าทำไมไม่มีการพูดถึงอีกฝ่ายว่าไม่ให้ไปคุกคามผู้หญิงไม่ว่าเขาจะแต่งตัวเซ็กซี่โป๊แค่ไหน อ่านเนื้อข่าวแล้วไม่มีการตักเตือนฝ่ายที่จะกระทำ มีแต่บอกให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดอย่างเดียวเลย…ก็เลยโกรธค่ะ (ยิ้ม) เพราะซินดี้เคยเจอเหตุการณ์โดนลวนลามในช่วงสงกรานต์ทั้งที่เราก็แต่งตัวมิดชิด
“สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากอ่านข่าวนั้นคือซินดี้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วอัดคลิปเหมือนระบายความ
ในใจว่าทำไมต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว แล้วคลิปนั้นก็ไวรัลทั่วประเทศเยอะมากในคืนเดียว มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ และไปๆ มาๆ ได้ทำงานกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งรณรงค์เรื่องนี้อยู่ พอเราไปร่วมเสวนากับเขา ก็เห็นว่าเขามีชุดของเหยื่อที่เคยโดนคุกคาม ซึ่งเป็นชุดธรรมดามากๆ ชุดนักศึกษา ชุดนักเรียน ชุดทำงานแขนยาวคอเต่า กางเกงยีน ไม่มีชุดไหนโป๊เลย ซินดี้เลยขอเอาชุดเหล่านี้มาจัดเป็นนิทรรศการ จัดแสดงกลางสยามพารากอนเลย ย้อนกลับไปตั้งคำถามกับสังคมว่า มันเกี่ยวกับการแต่งตัวของผู้หญิงจริงหรือเปล่า ขนาดเขาแต่งตัวมิดชิดยังโดนเลย”
#DontTellMeHowtoDress
เธอเล่าถึงที่มาของแคมเปญอันลือลั่น #DontTellMeHowtoDress ซึ่งเป็นที่พูดถึงและโด่งดัง “แต่ทำไมยังเกิดปัญหานี้ เลยมาดูว่าต้นตออยู่ตรงไหน เราเป็นแม่ลูกสอง ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต เราเห็นเลยว่ามันเกี่ยวกับการที่เราสอนลูก คนคนหนึ่งจะโตขึ้นมาไปกระทำความรุนแรงกับคนอื่นมาจากการเลี้ยงดูล้วนๆ เลย ถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกเข้าใจการเคารพสิทธิของคนอื่น อาจจะลดปัญหาหรือแก้ปัญหาไปได้เลย”
นั่นคือที่มาของโปรเจกต์ใหม่และใหญ่ที่จะเปิดตัวปลายปีนี้ “เราพูดเรื่องมารยาท การไหว้อะไรต่างๆ แต่ความเข้าใจในสิทธิของร่างกายตัวเอง การเคารพสิทธิทางร่างกายของคนอื่น หรือแม้แต่ความเข้าใจพัฒนาการทางเพศ เราพูดคุยกับลูกมากน้อยแค่ไหน ก็เลยพบว่ามีความอับอายที่จะพูดคุยเรื่องนี้ในครอบครัวคนไทย ซินดี้เลยอยาก empower พ่อแม่ให้พูดคุยกับลูกเรื่องเพศและเรื่องการเคารพสิทธิทางร่างกายของตัวเองและคนอื่น โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของครูหรือหมอค่ะ”
นอกจากนี้คุณซินดี้ยังพูดถึงคุณพ่อของลูกที่ตัวไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่แนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกปลูกฝังอยู่ในตัวลูกๆ ไปทุกที่ “นี่คืออีกอย่างที่เราสองคนคุยกันประจำ คือคุยกันเรื่องการเลี้ยงลูก สำคัญมากนะคะที่พ่อแม่ต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเด็กฉลาดค่ะ ถ้าเขารู้ว่าคนใดคนหนึ่งไปอีกแนว เขาจะใช้กลยุทธ์ เช่น ไปอ้อนพ่อ พ่อก็จะใจอ่อน พ่อแม่เลยต้องคุยกันค่ะ
“ซินดี้อยากให้พ่อแม่เคารพลูกอย่างที่เขาเป็น และอย่าไปหวังพึ่งหนังสือคู่มือเลี้ยงลูกเล่มไหน เพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้นพ่อแม่ต้องปรับตัวเองไปเรื่อยๆ go with the flow ไปค่ะ”