ส่องที่มาเครื่องทองโบราณ บนตัว "เบลล่า ราณี" สวย สะกด

ส่องที่มาเครื่องทองโบราณ บนตัว "เบลล่า ราณี" สวย สะกด

ส่องที่มาเครื่องทองโบราณ บนตัว "เบลล่า ราณี" สวย สะกด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ฮือฮากันเป็นอย่างมากสำหรับงานลอยกระทง 2563 ของไอคอนสยาม ที่จัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่ และได้สร้างปรากฎการณ์ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดยการนำนางเอกสาวชื่อดัง เบลล่า-ราณี แคมเปน มาเป็นนางนพมาศสวมชุดไทยพร้อมใส่เครื่องประดับทองคำโบราณ “ศิราภรณ์” และ “ถนิมพิมพาภรณ์” โดยมี ชฎา,ต่างหู,สร้อยคอ,ทับทรวง,เข็มกลัดประดับบ่า,สังวาล,ปั้นเหน่งและสายเข็มขัด อันวิจิตรงดงาม อลังการ ตามแบบฉบับช่างทองหลวงผลงานจากแบรนด์ “ทองถนิม”


ภาพความงามของเซตเครื่องประดับ “ศิราภรณ์” และ “ถนิมพิมพาภรณ์” ยังตราตรึงในใจ ซึ่งกว่าจะเป็นเครื่องประดับทองอันเลอค่าบนตัวสาวเบลล่านี้ได้ผ่านการหาข้อมูล ศึกษาอย่างละเอียด กระบวนการผลิตต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายใช้ระยะเวลาในการทำ 1 ปี โดยใช้ช่างฝีมือทั้งหมดมากกว่า 10 คน และทุกขั้นตอนผ่านการดูแลอย่างใกล้ชิดจาก “สิทธิศักดิ์ คูหาวิไล” และ “นิกร จันทร์ต๊ะตา” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ทองถนิม



โดยคุณสิทธิศักดิ์ คูหาวิไล และ คุณนิกร จันทร์ต๊ะตา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ทองถนิมได้เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบ ดังนี้

“เทคนิคที่ใช้ในการทำเป็นเทคนิคโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และใช้องค์ความรู้ในช่างสิบหมู่หลายแขนง ทั้ง ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างบุดุน ลวดลายที่ปรากฎได้ผ่านการคิดค้นและออกแบบอย่างประณีต เพื่อต้องการสื่อถึงที่มาของประเพณีการลอยกระทง ที่ไม่ใช่แค่การขอขมาพระแม่คงคา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าประเพณีการลอยกระทงคือการขอขมาพระแม่คงคา แต่แท้จริงแล้วประเพณีการลอยกระทงนั้น เป็นประเพณีที่ได้ถูกพัฒนามาจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยในครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเหล่าพญานาคที่ริมฝั่งแม่น้ำนิมมทา และได้ประทับรอยพระพุทธบาทเอาไว้ที่นั่น”



“ในทุกปี ชาวอินเดียโบราณจะจัดพิธีขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อเป็นการระลึกและสักการะพระพุทธเจ้าตามคติความเชื่อนั้น โดยพิธีนี้เรียกว่า “พิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม” คนอินเดียจะลอยโคมขึ้นไปบนฟ้า เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ สรวงสวรค์ และเชื่อว่าจะมีพระอินทร์คอยช่วยเป็นสื่อในการนำโคมที่ลอยไปถวายแด่พระพุทธเจ้า โดยแรกเริ่มในสมัยสุโขทัย ยังมีประเพณี “การลอยพระประทีปหรือลอยโคม” เพื่อสักการะพระพุทธเจ้า ในคืนเพ็ญ เดือน 12 โดยพ่อขุนรามคำแหงจะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อทอดพระเนตรประเพณีดังกล่าว ต่อมาท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้คิดค้นกระทงขึ้น โดยทำเป็นรูปดอกบัว เพื่อนำไปถวายพ่อขุนรามคำแหง และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการลอยโคม มาเป็นการลอยกระทงทางสายน้ำแทน จนเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทงที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน”



“จากเรื่องราวดังกล่าว ทีมทองถนิมจึงได้นำไอเดียนี้ มาถ่ายทอดสู่เซตเครื่องประดับสำหรับนางนพมาศปีนี้ และได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องมาประกอบเป็นลวดลายทั้งในเครื่อง “ศิราภรณ์” และ “ถนิมพิมพาภรณ์” ได้แก่

รอยพระพุทธบาท ตัวแทนแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พญานาค ผู้ซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนาและเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
พระอินทร์ เทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา และเป็นผู้ช่วยนำโคมขึ้นสู่สรวงสวรรค์ เพื่อสักการะองค์พระพุทธเจ้า
ดอกบัว ดอกไม้บริสุทธิ์ที่ใช้บูชาพระพุทธเจ้า
ปลา พาหนะของพระแม่คงคา และสัญลักษณ์ของสายน้ำ


“เครื่องประดับอันงดงามเซตนี้ เป็นงานช่างทองหลวง จัดเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ที่ทีมทองถนิมตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อต้องการที่จะสืบสานและเผยแพร่เครื่องประดับไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และต้องการให้คนไทยหวงแหนและเห็นคุณค่าในเครื่องประดับไทย พร้อมทั้งรักษาศิลปะงานช่างไทยในแขนงนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไป”



ผลงานเครื่องประดับทองคำโบราณ “ศิราภรณ์” และ “ถนิมพิมพาภรณ์” เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว ความหมาย และจิตวิญญาณจริงๆ เรียกได้ว่า “ฝีมือช่างไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”


สนใจและดูข้อมูลเครื่องประดับ “ทองถนิม” เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/tongthanim

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook