"กมลา แฮร์ริส" ผลิตผลจากการเรียกร้องความเท่าเทียมของพลเมืองชั้นสอง
ในการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกา นอกจากผู้คนทั่วโลกจะจับจ้องไปที่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศแล้ว ชื่อของ “กมลา แฮร์ริส” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจเช่นกัน
แม้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตผู้นี้เคยถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันปรามาสไว้ว่า ไม่มีทางได้เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ
แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมากลับทำให้ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 45 ต้องเสียหน้า เมื่อฝั่งเดโมแครตได้คะแนนโหวตอย่างท่วมท้น จนแทบไม่มีพื้นที่ให้กับพรรครีพับลิกัน และส่งผลให้ กมลา แฮร์ริส สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเป็นว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรก รองประธานาธิบดีผิวสีคนแรก และรองประธานาธิบดีที่เป็นเอเชียน-อเมริกันคนแรกของสหรัฐฯ
นอกจากการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งจะผิดเพี้ยนแล้ว ในช่วงระหว่างหาเสียง ทรัมป์และบรรดาผู้บริหารระดับสูงของรีพับลิกันก็ยังมีท่าทีที่ไม่ให้เกียรติผู้สมัครจากพรรคคู่แข่งเมื่อครั้งออกเสียงชื่อ “กมลา” ผิดเพี้ยนจนเป็นที่ขบขันในระหว่างการหาเสียงด้วย แต่สุดท้ายคนที่หัวเราะดังกว่าคือ สว.จากรัฐแคลิฟอร์เนียวัย 56 ปีผู้นี้
บุพการีพบรักจากการเรียกร้องความเท่าเทียม
หากจะกล่าวว่า กมลา แฮร์ริส เป็นผลิตผลจากการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของพลเมืองชั้นสองก็คงไม่ผิดกระไรนัก เนื่องจากบุพการีของเธอพบรักกันในการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวและความไม่เท่าเทียมกัน
คุณแม่ของเธอ ชยามาลา โกปาลัน เป็นชาวอินเดีย ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1959 ขณะมีอายุได้เพียง 19 ปี หลังเพิ่งจบการศึกษาจาก Lady Irwin College มหาวิทยาลัยสตรีชั้นนำในกรุงนิวเดลี จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ จนจบการศึกษาในปี 1964
ส่วนคุณพ่อของเธอ โดนัลด์ แฮร์ริส เป็นชาวจาเมกาที่ย้ายมาเรียนปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปี 1963 แม้เรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ทั้งคู่กลับพบรักกันในขบวนประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวและความไม่เท่าเทียมกัน และใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในปี 1963
ก่อนจะให้กำเนิดกมลาในปี 1964 ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชยามาลา คุณแม่ของเธอเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักวิจัยมะเร็งเต้านม ขณะที่โดนัลด์ เป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ภาพจาก catholicmonitor.blogspot.com
แม้ว่าคุณพ่อและคุณแม่ของกมลาจะแยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้เพียง 7 ขวบ แต่การเลี้ยงดูของชยามาลาทำให้กมลา และน้องสาว มายา เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง เมื่อต้องอยู่ในดินแดนที่คนผิวสีอย่างพวกเธอเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ซึ่งเจ้าตัวย้ำเสมอว่าถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในความเป็นคนผิวสี
ก่อนจะมาเป็น “อัยการสูงสุด”
กมาลาต้องตามผู้เป็นแม่ไปอยู่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา จึงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ เวสต์มอนต์ ไฮสคูล ในควิเบก ก่อนจะกลับมาศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด ในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับคนผิวสีของสหรัฐฯ
จากนั้นมาศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกฎหมายเฮสติงส์ คอลเลจ ในแคลิฟอร์เนีย และเริ่มเดินบนเส้นทางสายนี้ด้วยการทำงานที่สำนักอัยการ ก่อนจะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งอัยการเขตหญิงคนแรกของซานฟรานซิสโก ในปี 2004 และประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อเป็นสตรีและคนผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2011 และนั่นเป็นเส้นทางที่ทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในเวลาต่อมาหลังจากทำหน้าที่มาจนถึงปี 2017
ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่ง “รองประธานาธิบดี”
กมลาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของพรรคเดโมแครต ในปี 2016 และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปี 2017 ซึ่งทำให้เธอเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ได้ทำหน้าที่สว.ของสหรัฐฯ แต่เป็นสตรีอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนที่สองที่นั่งตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้
ภาพจาก IG: Kamala Harris
แม้เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 และเคยวิจารณ์ โจ ไบเดน อย่างดุเดือดในหลายประเด็น แต่สุดท้ายเธอตัดสินใจถอนตัวไป จึงเป็นการเปิดทางให้ไบเดนได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ก่อนที่ไบเดนจะเลือกให้กมลาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กันในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพราะมองว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยกมลาและไบเดนจะได้ทำหน้าที่อย่างเต็มตัว หลังจากทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2021