"เปิ้ล หัทยา" ร่วมแชร์ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ ในงาน Voice of Liver 2020

"เปิ้ล หัทยา" ร่วมแชร์ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ ในงาน Voice of Liver 2020

"เปิ้ล หัทยา" ร่วมแชร์ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ ในงาน Voice of Liver 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง ภรรยาคุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตนักแสดงและผู้กำกับมากฝีมือ รวมแชร์ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในงาน Voice of Liver: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับ จัดขึ้นโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องจากเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเดือนที่ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต่อต้านและสร้างความตระหนักให้กับมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดอย่างมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 สำหรับเพศชายและอันดับ 2 ในเพศหญิง[1] พร้อมการแลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความเสี่ยง การป้องกันโรค การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ ที่เพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น

ข้อมูลสถิติจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลกในปี 2561 เผยว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ในผู้ชายและอันดับที่ 9 ในผู้หญิงทั่วโลก โดยพบผู้ป่วยใหม่กว่า 840,000 รายในปี 2561 ทั้งนี้ข้อมูลจากการวิจัยระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลกที่พบมะเร็งตับสูงที่สุด โดยมีอัตราของการพบผู้ป่วยมะเร็งตับอยู่ที่ 21 รายต่อประชากร 100,000 คน[2] ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับประกอบไปด้วย การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมและการสัมผัสกับสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารต่างๆ[3]

 คุณเปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง ภรรยาคุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง 
คุณเปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง ภรรยาคุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นักแสดงและผู้กำกับมากฝีมือ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำแนะนำในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ  โดยคุณเปิ้ลเผยว่า “พอทราบว่าพี่ตั้วเป็นมะเร็งตับ ทั้งที่ดูแลสุขภาพมาโดยตลอด ก็รู้สึกตกใจ แต่ในฐานะที่เราเป็นคนใกล้ชิดพี่ตั้วมากที่สุด ทำให้เราต้องมีสติ และปรึกษากับคุณหมอเจ้าของไข้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเสริมสร้างกำลังใจที่ดีให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ เหตุการณ์ของพี่ตั้วยังทำให้เราเองรู้สึกว่าต้องหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ยิ่งพออายุมากขึ้น การตรวจร่างกายเป็นประจำเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้ายิ่งตรวจเจอเร็ว เราก็สามารถรับมือกับโรคมะเร็งตับได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าเป็นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าถึงข้อมูลแนวทางการรักษา เพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็นตัวเราเองหรือคนในครอบครัว ให้ได้รับการรักษาเเละมีคุณภาพชีวิตที่่ดีที่สุด”

 นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI)

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) กล่าวถึงปัญหาของโรคมะเร็งตับในสังคมปัจจุบัน “จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ที่สถาบันมะเร็งเเห่งชาติเป็นผู้เก็บข้อมูล ปัจจุบันพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบเเพทย์ในระยะลุกลาม อาจจะเนื่องมาจากโรคนี้ไม่เเสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยมักมาพบเเพทย์ในระยะลุกลามหรือเป็นมากเเล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตในเวลาไม่นาน เพราะการรักษาปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ประกอบกับข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปีพ.ศ. 2564[4] ยิ่งอาจจะทำให้สถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยเลวร้ายลง เพราะผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทำให้เกิดความสูญเสียของเเรงงานเเละศักยภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเเละพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากข้อมูล มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เพียงปัจจัยเดียวก็สูงถึง 11,836 ล้านบาทในเพศชาย เเละ 706 ล้านบาทในเพศหญิง[5] จากสถานการณ์เเละผลกระทบดังกล่าวเราอาจจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ให้ดีขึ้นต่อไป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต”

มะเร็งตับถือเป็นโรคใกล้ตัวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจกำลังเผชิญความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งตับก็มีโอกาสในการรักษาที่มากขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยที่ทันท่วงที ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรสร้างความรับรู้และตระหนักถึงโรคมะเร็งตับ แนวทางการรักษา รวมถึงหมั่นตรวจเช็คร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถร่วมให้กำลังใจและสานต่อความหวังดีกับผู้ป่วยและคนรอบข้าง ผ่าน #VoiceOfLiver #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง

 

 



[1] "Cancer in Thailand 2013-2015, National Cancer Institute, Department of Medical Services, Ministry of Public Health Thailand.
[2] "Liver Cancer Statistics." World Cancer Research Fund. American Institute for Cancer Research, 2018.
[3] "Liver Cancer." Roche Thailand.
[4] "National Cancer Control Programmes." National Cancer Institute of Thailand (NCI).
[5] Cancer Preparedness in Asia-Pacific. Progress toward universal cancer control

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook