ตั้งสติ ตุนเสบียง แนะนำคุณพ่อคุณแม่รับมือน้ำท่วม

ตั้งสติ ตุนเสบียง แนะนำคุณพ่อคุณแม่รับมือน้ำท่วม

ตั้งสติ ตุนเสบียง  แนะนำคุณพ่อคุณแม่รับมือน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนที่มีประสบการณ์ มหาอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 คงยังเข็ดขยาดเมื่อได้ยินข่าวน้ำท่วมที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในช่วงนี้ หลายครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ อาจเกิดความวิตกกังวลเรื่องโภชนาการสำหรับลูก ว่าจะเตรียมอย่างไรให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ไหนจะออกนอกบ้านทีก็ลำบาก น้ำสะอาดมีจำกัด ไฟฟ้า ก็ต้องใช้อย่างประหยัด พ่อแม่บางคนมีความกังวลว่าเด็กจะได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากน้ำท่วม มีผลต่อการเรียนรู้และการปรับตัวในอนาคต ซึ่งแท้จริงแล้วสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อแม่มีส่วนในเตรียมความพร้อมให้กับลูกอย่างใกล้ชิด นับเป็นโอกาสทองสำหรับการเรียนรู้

รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะพ่อแม่รับมือน้ำท่วม วางแผนโภชนาการ ให้ดี เพราะ "เด็กต้องการการสำรองพลังงานโปรตีนมากกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า แต่เนื่องจากเด็กตัวเล็ก กระเพาะเล็ก ดังนั้นพฤติกรรมการกินคือ กินน้อย พ่อแม่จึงควรเตรียมอาหารที่ให้คุณค่าพลังงานสูงในทุกมื้อ และงดเว้นอาหารด้อยคุณค่าเพราะจะไปเบียดบังพื้นที่กระเพาะ"


"นอกจากนี้ อาหารที่เด็กต้องกินอีกอย่างหนึ่งเลยคือ นม ซึ่ง ควรตุนนมประเภทยูเอชที ซึ่งเป็นนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว และเก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ยิ่งถ้าเป็นนมกล่องที่มีการเสริมวิตามินเกลือแร่แล้ว ยิ่งช่วยให้เด็กรับสารอาหารครบถ้วน เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ให้ลูกได้ทานแป้ง ไข่ เนื้อสัตว์ และนม ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการขาดวิตามินเกลือแร่เลย"


คุณหมอยังแนะนำอีกว่า "อาการท้องเสีย ท้องร่วงมักมาพร้อมน้ำท่วม ดังนั้นควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้ เช่น เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย ยาแก้ไข้ ยาแก้หวัด เป็นต้น โดยเมื่อพบว่าลูกมีอาการท้องเสีย ให้งดอาหารช่วยระบาย เช่น ผักผลไม้ แต่ยังต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ความเชื่อผิดๆ ว่าไม่สบายให้งดอาหารบางประเภทจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"

ดร.ศุภรัตน์ ปรศุพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ บริษัท มี้ด จอห์นสัน ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารเสริมประเภทนม ว่า " ในภาวะเหตุการณ์น้ำท่วมที่น้ำสะอาดและก๊าซหุงต้มเป็นสิ่งที่ควรใช้อย่างประหยัด การเลือกซื้อนมกล่อง UHT ติดบ้านไว้จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนม UHT เป็นนมที่ปลอดเชื้อ สามารถเก็บได้นาน สะดวกสบายและมีความสะอาดปลอดภัยเพื่อให้ลูกรับประทาน โดยทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกนมที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม และฟอสฟอรัส รวมถึงวิตามินต่างๆ พ่อแม่ควรเลือกนมยูเอชที ที่มีกรดไขมันจำเป็น เช่น DHA ที่เป็นสารอาหารช่วยพัฒนาสมองและสายตา ซึ่งจริงๆ แล้วสารอาหารประเภทนี้สามารถหาทานได้ในปลา แต่หากอยู่ในช่วงน้ำท่วม อาหารสดหาได้ยากลำบาก การทดแทนด้วยนมกล่องก็ถือเป็นการช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารเพื่อการพัฒนาสมองอย่างครบถ้วน เพราะเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกสมองจะมีการเจริญเติบโตถึง 80%"


ถึงแม้ว่านมยูเอชทีจะเป็นนมที่ปลอดเชื้อ เก็บได้นาน แต่ก่อนซื้อควรสังเกตว่า ลักษณะกล่องต้องสะอาด ไม่บุบชำรุด ไม่มีรอยฉีกขาดหรือรั่วซึม หรือกล่องบวม ที่สำคัญอย่าลืมดูวันหมดอายุของกล่องนมด้วย

"ก่อนจะให้ลูกดื่มควรเขย่าก่อนทุกครั้ง และหากคุณแม่กังวลว่านมจะเสียก็สามารถเช็คเนื้อนมได้ โดยการเปิดกล่องดูและสังเกตที่สี กลิ่น และรสของนมว่ามีความผิดปกติหรือเปล่า เพียงเท่านี้แม้ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม การเสริมสารอาหารด้วยนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการก็จะช่วยเติมสารอาหารสำคัญให้กับเด็กๆ ได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน" ดร.ศุภรัตน์กล่าว

นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวถึงวิธีส่งเสริมพัฒนาการ ในสภาวะน้ำท่วม โดยให้พ่อแม่มองว่าเป็นโอกาสทอง

"ทุกๆ วินาทีในชีวิตเราได้เรียนรู้อะไรมากมาย และลูกๆ เราก็ควรได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดี ถ้ามันท่วมแล้วต้องทำให้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของลูกให้ได้ เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่กังวลมาก เครียดมาก หรือเศร้า ลูกก็จะรู้สึกกับพ่อแม่ไปด้วย จะกลายเป็นคนวิตกกังวล ซึมเศร้าง่าย และรับการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ถ้าพ่อแม่มองวิกฤตให้เป็นโอกาสว่า ไม่เป็นไร น้ำท่วมเรามาช่วยกันดู ถ้าตรงนี้ท่วมเราตักน้ำออกไป ช่วยกันมันก็จะแห้ง แต่ถ้าน้ำมีมากเกินไป เราทำไม่ไหวเราก็หาที่อยู่ใหม่ เช่น ช่วยย้ายของ แล้วขึ้นไปอยู่ข้างบนซะ ใช้ชีวิตให้ปกติเหมือนตอนที่มันไม่มีน้ำ ลูกจะได้เรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกับเรา เขาจะเรียนรู้การปรับตัว มองโลกในแง่ดี แต่ถ้าบ้านไหนพอน้ำมา เครียดทั้งบ้าน ทะเลาะกัน ลูกก็จะจดจำ กลายเป็นโอกาสที่ไม่ดีของการเรียนรู้"

โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ ยังแนะนำทริคการสอนให้ลูกเข้าใจภาวะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ตามช่วงวัย ดังนี้


1. วัย 1-3 ขวบ พ่อแม่ควรพูดสั้นๆ เพราะเด็กจะสามารถเข้าใจได้เพียงระดับหนึ่ง เช่น "น้ำท่วมละ ไม่เล่นตรงนี้" จากนั้นก็ให้ทำเป็นตัวอย่าง ไม่ไปเดินลุยน้ำให้ลูกเห็น เพราะการเสียเวลาไปอธิบายว่าน้ำมีเชื้อโรคมากมาย มีสัตว์มีพิษ อย่าไปเดิน เด็กไม่เคยรู้จักอยู่แล้วเขาก็จะไม่เข้าใจ เพียงทำให้ลูกเห็น พอถึงน้ำขังเราไม่ย่ำ ไม่เดินลุย ลูกจะได้เรียนรู้ ดังนั้นวิธีการสอนเด็กวัย 1-3 ขวบนี้ ก็คือ อธิบายให้เค้าฟังในระดับที่เค้าพอจะเข้าใจ บอกผ่านวิธีปฏิบัติของเราเอง ลูกจะเรียนรู้ได้โดยเห็นจากที่พ่อแม่ทำ

2. วัย 4-6 ขวบ เป็นวัยที่กำลังชอบเล่น และเด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน หากพ่อแม่เห็นว่าลูกสนใจอยากไปเล่นน้ำ ก็ไม่ต้องตกใจเกินเหตุ เราใช้วิธีสอนและทำพฤติกรรมให้ดู แต่หากยังไม่สามารถหยุดเขาได้ เราต้องใช้วิธีการกำกับด้วย เช่น บอกลูกว่าอย่าไปเล่น น้ำสกปรก แต่ลูกยังคงไปเล่น พ่อแม่ก็ควรหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจโดยการหาอย่างอื่นที่สนุกกว่าให้เขาเล่น เขาก็จะเพลินและลืมไปเอง หรือหาทางป้องกันไม่ให้ลูกเข้าถึงน้ำได้โดยพ่อแม่ไม่ทราบ เช่น ทำประตูปิดกั้นที่เด็กเปิดเองไม่ได้ต้องให้พ่อแม่เปิดให้เท่านั้น

"สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากคือเรื่องของอันตรายจากอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะเด็กในวัยต่ำกว่า 5 ขวบ พ่อแม่ควรดูแลอย่างดี ใกล้ชิดมากๆ อย่าละสายตาเพราะมีโอกาสเป็นอันตรายได้ทุกเมื่อ อย่าไปคิดว่าเขาเก่งแล้ว เขาฟังรู้เรื่อง เพราะจริงๆ เด็กรู้ คือรู้แค่ในระดับหนึ่ง แต่เด็กยังควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือ หากเด็กควบคุมตัวเองได้ เขาก็อาจจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" คุณหมอพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.


ขอบคุณข้อมูล : www.enfababy.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook