หนูน้อยวัย 6 เดือน กินผักอะไรได้แล้วบ้าง คุณแม่มือใหม่ไปดูกัน
เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าสู่อายุ 6 เดือน พ่อแม่เริ่มตื่นเต้นไปกับการเลือกหาอาหารให้ลูกทาน หลายคนเริ่มปรึกษาคุณหมอ บางคนหันมาเปิดดูคู่มืออาหารสำหรับเด็ก และอีกบางส่วนอาจจะกำลังสนุกไปกับการฝึกทำอาหารสำหรับลูกน้อยตามคลิปต่างๆ อยู่ก็ได้ วันนี้เราจึงขอนำเอาผักที่เหมาะสำหรับลูกน้อยในวัย 6 เดือนมาแชร์ให้คุณแม่ได้ทราบ เพื่อที่จะได้นำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารให้ลูกวัย 6 เดือนได้ทานเพื่อสุขภาพแบบปลอดภัย ไม่อันตราย แถมยังบำรุงสุขภาพหนูน้อยในช่วงเจริญวัยได้อย่างเหมาะสม มาดูกันนะคะว่ามีผักชนิดใดบ้าง
1.ผักชนิดใบ
ผักชนิดใบที่แนะนำให้ลูกน้อยในวัย 6 เดือนทาน ได้แก่ ผักบุ้ง ผักโขม ตำลึง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดขาว ปวยเล้ง กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว และบ๊อคชอย เนื่องจากผักชนิดใบเหล่านี้ อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน คลอโรฟิลล์ โฟเลต โคลีน แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส และเกลือแร่ ซึ่งล้วนช่วยเสริมสร้างระบบต่างๆ ภายในร่างกายของลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้เป็นอย่างดี
2.ผักชนิดหัว
ในส่วนของผักชนิดหัวที่เหมาะสำหรับลูกน้อยในวัย 6 เดือน ได้แก่ มันม่วง มันหวานญี่ปุ่น แครอท มันเทศ มันฝรั่ง แตงกวา ฟักทอง และบร็อกโคลี ซึ่งผักชนิดหัวเหล่านี้อุดมไปด้วยวิตามิน สังกะสี เส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยพัฒนาระบบการมองเห็นโดยเฉพาะ นอกจากนี้แล้ว สารอาหารต่างๆ ที่ได้รับจากการทานผักชนิดหัวที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ยังมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ลูกน้อยท้องผูก และยังช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย
3.ธัญพืชและถั่วต่างๆ
สำหรับธัญพืชและถั่วต่างๆ ที่เหมาะสำหรับลูกน้อยในวัย 6 เดือนที่แนะนำให้คุณแม่ได้หามาให้ลูกได้ทาน เช่น ลูกเดือย ลูกบัว ถั่วเขียว ถั่วขาว ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วแขก ถั่วแดง ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว และถั่วชิกพี ซึ่งถั่วต่างๆ รวมทั้งธัญพืชทั้งหมดนี้อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ และไขมันดี ธัญพืชและถั่วเหล่านี้มีส่วนช่วยในการทำให้เจริญอาหาร ป้องกันท้องผูก ป้องกันภาวะโลหิตจาง และป้องกันโรคหัวใจได้ดี
คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพลูกน้อย
สำหรับการเอาผักต่างๆ มาทำเป็นอาหารให้ลูกน้อยในวัย 6 เดือนได้ทานนั้น แนะนำให้คุณแม่ใช้ผัก 1 ชนิด ซ้ำกันในทุกเมนู ประมาณ 4-5 วัน เพื่อสังเกตอาการแพ้อาหาร หากมีผื่น ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ก็ควรหยุดให้ทานผักชนิดนั้นทันที แต่หากไม่มีอาการแพ้ใดๆ สามารถเปลี่ยนไปใช้ผักชนิดอื่นต่อไปได้เลย
ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจในการทำความสะอาดผักแต่ละชนิดให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารตกค้างเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อยนั่นเอง ยังไงก็ขอให้คุณแม่สนุกกับการทำเมนูอาหารและการใช้ผักที่เหมาะสำหรับลูกในวัย 6 เดือนกันนะคะ