ปรับชีวิตหลังลูคิเมียอย่างเป็นสุข

ปรับชีวิตหลังลูคิเมียอย่างเป็นสุข

ปรับชีวิตหลังลูคิเมียอย่างเป็นสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครเป็นคอหนังซีรี่ย์เกาหลีตัวยง ก็คงคุ้นเคยกันดีกับซีรี่ย์ชื่อดังเรื่อง "รักนี้ชั่วนิรันดร์" (Autumn in my heart) ซึ่ง อุนโซ นางเอกของเรื่องต้องทุกข์ทรมานและสุดท้ายก็จึงจากไปด้วยโรคลูคีเมีย หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว นั่นเอง

คุณนุช ปิยะนุช เศรษฐวงศ์ (อายุ 26 ปี) สาวอารมณ์ดี ลูกสาวคนกลางของครอบครัว ก็เป็นคนหนึ่งที่รู้ตัวว่า ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute Lymphoblastic Leukemia ; ALL) เมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552
"อาการตอนนั้นมีแค่ไข้ต่ำๆ เป็นอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ค่ะ ก็ไม่ได้สงสัยอะไรนะคะ คิดว่าคงไม่สบายแค่นิดหน่อย จะมีอาการแปลกๆที่ทำให้เอะใจ คือ อาการปวดรุนแรง เหมือนปวดเข้าไปในกระดูกมากๆเลย พอดีกับที่คุณแม่ทักด้วยว่า ช่วงนี้หน้าตาเราค่อนข้างซีดซียว เหมือนมีเลือดน้อยค่ะ"

นับเวลาหลังจากที่เกิดอาการดังกล่าวไม่ถึง 2 สัปดาห์ คุณนุชก็ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล รัฐแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 5 เดือน เธอต้องเข้าคอร์สให้ยาเคมีอย่างรุนแรงรวมทั้งหมด 5 คอร์ส

อย่างไรก็ตาม ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ เธอสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายจากที่เคยลดลงเหลือเพียง 20 - 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร ให้กลับมาอยู่ในระดับ 5,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร (ระดับเม็ดเลือดของคนปกติจะอยู่ที่ 5,000-10,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร)

แต่หลายคนคงทราบว่า ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างหนึ่ง คือ การเสื่อมของ ข้อสะโพก เนื่องมาจากตัวยาเคมีไปทำปฏิกิริยาและกร่อนเนื้อเยื่อและกระดูก อาการคันตามเนื้อตัว ฯลฯ

ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นปัญหากับเธออีกต่อไป สาวน้อยสดใสใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มคนนี้จะมาบอกเคล็ดลับที่ทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตหลังผ่านพ้นโรคลูคีเมียได้อย่างเป็นสุข ดังต่อไปนี้



กายบำบัดฟื้นฟูข้อสะโพก
ปลายปีที่แล้ว คุณนุชต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนข้อสะโพกข้างซ้ายที่โดนกัดกร่อนจากการให้คีโม และผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนอีกข้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนนี้เธอจึงมีข้อสะโพกใหม่เอี่ยมรับชีวิตใหม่หลังจากผ่านมรสุมชีวิตมากว่า 4 ปี
"หลังจากเปลี่ยนข้อสะโพกแล้ว ชีวิตก็เริ่มดีขึ้นค่ะ นุชสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น เวลาเดินก็ไม่เจ็บแล้ว แต่คุณหมอก็ย้ำว่า ถึงจะเปลี่ยนเป็นข้อเทียมแล้ว แต่ก็ต้องทำกายภาพบำบัดไปด้วย ไม่เช่นนั้น อาจจะเกิดผังผืดบริเวณเนื้อเยื่อที่ทำผ่าตัดไปได้ค่ะ หลังจากที่ทำกายภาพแล้ว นุชสามารถเดินได้นานและไกลขึ้น ซึ่งทำให้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติได้เหมือนเดิมค่ะ"

ซึ่งคุณนุชต้องทำกายภาพบำบัดที่บ้านทุกวัน โดยท่ากายบริหารที่ทำนั้นเป็นท่าง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยการใช้การทรงตัวกับเก้าอี้ พร้อมกับกางขาไปข้างหน้า-หลัง และด้านข้าง ยกขึ้นลง สลับกันทั้งสองข้าง คุณนุชอธิบายว่าท่าเหล่านี้จะช่วยให้ข้อสะโพกเทียมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ซึ่งหลังการทำกายภาพบำบัดแล้ว การเดินของเธอดีขึ้น โดยสามารถเดินรอบบ้านได้ ซึ่งอีกประมาณ 3 เดือนเธอก็น่าจะสามารถก้าวขึ้นบันไดได้แล้ว

ปรับอาหารป้องกันโรคลูคีเมีย
เรื่องอาหาร คือสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคลูคีเมียทุกคน เพราะในช่วงที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด ตัวยาจะไปกดระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ลดต่ำลง เมื่อภูมิคุ้มกันเปราะบาง ร่างกายอ่อนแอ จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายขึ้น
คุณนุชจึงต้องใส่ใจกับเรื่องของอาหารเป็นอย่างมาก คุณแม่และเธอจึงต้องพิถีพิถันทุกอย่างที่กิน โดยคุณนุชเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ดูแลรักษาตัวในโรงพยาบาลว่า
"อาหารทุกอย่างที่นุชกิน จะคุมเข้มเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมากๆค่ะ อาหารทุกจานจะต้องนำไปทำให้สุกสุดๆ แบบเดือดปุดๆเลยค่ะ เรียกว่า จานอาหารจะต้องร้อนทุกจาน จะกินผักก็ต้องเป็นผักต้มเท่านั้น เนื้อสัตว์ก็จะต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายและนำไปปรุงให้สุก อย่างเช่น เนื้อปลาค่ะ"

ตอนนี้คุณนุชบอกว่า หลังจากที่ผ่านการให้คีโมแล้ว ระดับเม็ดเลือดของเธอก็ดีขึ้น
"การกินอาหารของนุชจะดูตามระดับเม็ดเลือดเป็นหลักค่ะ ช่วงไหนที่ระดับเม็ดเลือดต่ำมากๆ ของบางอย่างที่ไม่สุก เช่น ซูซิ ปลาดิบ ก็ต้องงดไปเลย แต่ตอนนี้ระดับเม็ดเลือดดีขึ้นมากแล้ว คืออยู่ที่ประมาณ 5,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร เพราะฉะนั้น เลยกลับมากินได้ตามปกติค่ะ เพียงแต่นุชก็ยังต้องระวัง อาหารบางอย่าง เช่น อาหารปิ้งย่างตามข้างทาง อย่างหมูปิ้ง ไก่ย่างก็ต้องงดเป็นการถาวรเลยค่ะ"

ธรรมะคลายความเจ็บปวด
หลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตมาแล้ว คุณนุชบอกว่า ต้องขอบคุณโรคลูคีเมียที่ทำให้เธอได้เห็นความรัก ความห่วงใยจากคนในครอบครัว และที่สำคัญคือโอกาสที่ทำให้คุณนุชได้กลับมาดูแลตัวเองอีกครั้ง
แต่กว่าจะรอดพ้นมาได้ เธอต้องผ่านความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ซึ่งในห้วงยามที่เธอต้องทุกข์ทนจากความเจ็บป่วย สิ่งเดียวที่ยึดเธอไว้ คือ การปฏิบัติธรรม และถึงแม้ว่าตอนนี้ความเจ็บป่วยจากร่างกายจะค่อยๆดีขึ้น แต่ก็ยังคงทิ้งอาการข้างเคียงไว้ให้อย่างอาการคันตามผิวหนัง

"นุชกับเพื่อนๆผู้ป่วยลูคีเมียคนอื่นๆมีอาการคันตามผิวหนังเหมือนกันค่ะ จะรู้สึกคันยิบๆตลอดเวลา เราอยากเกามาก แต่เกาไม่ได้ นุชก็เลยหันมาใช้การเจริญภาวนามาช่วยข่มจิตใจค่ะ จิตจะได้ไม่ไปจดจ่ออยู่กับอาการคัน ไม่อย่างนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเราจะอยากเกาตลอดเวลา"

เพราะฉะนั้น เธอจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันหมดไปกับการอ่านหนังสือธรรมะ ซึ่งหนังสือ ที่เธอเลือกอ่านมักเป็นหนังสือวิธีการเจริญสติอย่างง่าย หรือหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาส เพราะเป็นหนังสือที่พูดเรื่องะรรมมะให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปใช้จริงได้ และธรรมะยังช่วยผ่อนคลายจิตใจและทำให้เธอนอนหลับสบายอีกด้วย

นอกจากนั้น คุณนุชเล่าว่า จากที่เธอพูดคุยกับเพื่อนที่ป่วยเป็นลูคีเมียมาหลายต่อหลายคน ทำให้พบว่า ความเครียด คือสาเหตุสำคัญที่อาจจะทำให้อาการของโรคกลับมากำเริบซ้ำได้

"คือต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เราจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งเครียดว่า ทำไมโรคนี้ต้องเกิดกับเรา นุชเชื่อว่า เราเองจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด พยายามคิดในแง่บวกมากขึ้นกับทุกๆอย่าง นุชเองก็พยายามยิ้มกับตัวเองให้มากขึ้น มีความสุขกับการมีชีวิตในทุกๆวันค่ะ เราก็จะไม่เครียด ไม่วิตกกังวลกับโรคค่ะ"

ก่อนจากกัน คุณนุชทิ้งท้ายกับ ชีวจิต ถึงบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญนี้ว่า
"หลังจากที่เคยตกอยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นตลอด สิ่งเหล่านั้น ทำให้นุชรู้ว่า แค่วันนี้ ตื่นขึ้นมา แล้วล้างหน้าแปรงฟัน เดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง มันเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับนุชมากค่ะ

และทำให้รู้ซึ้งว่า ตลอดเวลาที่ป่วยจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ คนที่เคียงข้างและคอยดูแลเรามาตลอดคือ พ่อ แม่ และครอบครัว เขาเสียสละทุกอย่างได้เพื่อเราจริงๆ เพราะปกติพ่อ กับแม่นุชทำงานหนักมากค่ะ แต่ช่วงที่ไม่สบายทั้งสองทำงานแค่ครึ่งวันเท่านั้น เวลาที่เหลือเขาให้เราหมดเลย ครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง"

นี่จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้คุณนุชรู้ว่า ความเจ็บป่วยไม่ได้นำมาแต่เพียงความทุกข์ทรมานเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความสุขอีกด้วย

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook