"โฮมโกรว์น" นิทรรศการที่จะให้คุณหยุดตาม "ฟาสต์แฟชั่น" แต่ก็อินเทรนด์ได้ไม่แพ้ใคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในวิกฤตการณ์ที่กำลังสร้างความเสียหายและเป็นภัยต่อมนุษย์มากที่สุดในปัจจุบัน คือภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) “แต่เชื่อหรือไม่ว่า เพียงแค่เปิดตู้เสื้อผ้า คุณก็สามารถช่วยลดโลกร้อนได้” ใครจะคิดว่าเสื้อผ้าในตู้ของคุณ จะเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะกว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าหนึ่งชิ้น ให้ได้เลือกซื้อ และสวมใส่ ต้องผ่านกรรมวิธีมากมาย จากผืนดินสู่ผิว จากไร่ฝ้ายถึงผืนผ้า และจากคนปลูกจนถึงคนใส่ ซึ่งกระบวนการผลิตเสื้อผ้า ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อทั้งผู้คน ธรรมชาติ และสภาวะโลกร้อนอย่างมหาศาล แต่เราในฐานะผู้บริโภคกลับถูกตัดขาดและไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่สวมใส่อยู่ มีผลกระทบต่อวิกฤตทางภูมิอากาศที่ใหญ่เกินกว่าตู้เสื้อผ้าของเราอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการสร้างการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านแฟชั่นของผู้บริโภค บริติช เคานซิล จึงร่วมกับ แฟชั่น เรฟโวลูชั่น ไทยแลนด์ (Fashion Revolution Thailand) ชวนทุกคนมาร่วมหาคำตอบว่า “แค่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านแฟชั่น จากการเลือกซื้อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ก็สามารถขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้จริงหรือไม่?”
ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสการเข้าสู่ปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่สหราชอาณาจักร และอิตาลี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ในช่วงปลายปี 2021 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เพื่อเป็นการตอบรับปีแห่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิล จึงได้ร่วมมือกับ แฟชั่น เรฟโวลูชั่น (Fashion Revolution) ประจำประเทศไทย เครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้อุตสาหกรรมแฟชั่นดีขึ้นทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยการทำงานของทั้งสององค์กร เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และผลักดันการปฏิวัติวิธีคิด จากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่มีการผลิต บริโภค และทิ้ง เป็นหัวใจหลัก สู่ ”เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านนิทรรศการ “โฮมโกรว์น” (Homegrown) โดยภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงสินค้าของกลุ่มศิลปินท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกับบริติช เคานซิล ในโครงการ ‘คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์’ อาทิ กลุ่มไทลื้อ วานีตา รวมถึงแบรนด์ภูคราม แมนคราฟท์ โฟล์กชาร์ม KH Editions ฝ้ายจ๋ายาใจ ซึ่งมีการผลิตสินค้าที่เป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนกิจกรรมเวิร์คช็อป “Circular design lab: closing the loops”
นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี หรือ คุณอุ้ง ผู้ประสานงานเครือข่ายแฟชั่น เรฟโวลูชั่น ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มว่า แฟชั่น เรฟโวลูชั่น ประจำประเทศไทย ได้เชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มศิลปินโครงการ ‘คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์’ ตลอดจนคนในวงการออกแบบ และผู้ที่มีความสนใจ ร่วมสร้างสรรค์ นิทรรศการ “โฮมโกรว์น” (Homegrown) ซึ่งมีแนวคิดหลักที่ง่ายและเชื่อมโยงกับเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เพียงเริ่มต้นที่การพิจารณาตู้เสื้อผ้าของตัวเอง โดยนิทรรศการได้เล่าเรื่องให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจถึงที่มาของเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่เป็นประจำทุกวัน รวมถึงตระหนักรู้ว่ากระบวนการ กว่าจะเป็นเสื้อผ้าหนึ่งชิ้น ต้องผ่านการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากมาย ทั้งดิน น้ำ อากาศ นอกจากนี้นิทรรศการได้นำเสนอผลกระทบที่เกิดจากฟาสต์แฟชั่น (Fast fashion) ไปจนถึงภาพของอนาคตในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการผลิตและบริโภคจากแบบเส้นตรง ที่ผลิต-ใช้-ทิ้ง โดยเน้นปริมาณและความรวดเร็ว มาเป็นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่ชุมชนระดับท้องถิ่นขนาดเล็กสามารถพึ่งพาตนเองและธรรมชาติ ในแนวคิด ‘farm to closet’ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่การสวมใส่เสื้อผ้าของเรามีต่อโลกได้ จากข้อมูลพบว่าทุก ๆ ปี ฟาสต์แฟชั่น (Fast fashion) ฝากขยะไว้ให้โลก 92 ล้านตัน และถ้าภายใน 10 ปีนี้เรายังผลิตและบริโภคแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โลกจะร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาซึ่งเป็นจุดที่ร้อนเกินกว่าระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตจะรับได้
นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีไฮไลท์คือกิจกรรมเวิร์คช็อป “Circular design lab: closing the loops” โดยคุณกมลนาถ องค์วรรณดี ซึ่งพัฒนาจากเวิร์คช็อปที่คุณอุ้งได้เข้าร่วมในโครงการ Circular Futures Lab กับบริติช เคานซิล ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2018 แนวคิดนี้มาจากบริษัท IDEO บริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมชื่อดัง ร่วมกับ Ellen MacArthur Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดในระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้สวมบทบาทเป็นดีไซเนอร์ ผ่านการลงมือทำกิจกรรมกลุ่ม ให้เลือกวัตถุดิบใกล้ตัว มาคิดใหม่ เรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคในการเลือกซื้อเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็น ความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ จากนั้นนำความต้องการในด้านต่างๆ มาระดมความคิดว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไร ผ่านวิธีคิดแบบ “การออกแบบหมุนเวียน” (Circular Design Methodology) ซึ่งมีหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ 1) การออกแบบกระบวนการผลิตทั้งวงจร โดยไม่ให้เกิดของเสีย หรือมลพิษ ที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ 2) วัสดุที่นำมาใช้ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากที่สุด หรือเมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้วจะต้องสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ และ 3) ใช้วัสดุในท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมใกล้ตัว ซึ่งวิธีคิดที่ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากการทำเวิร์คช็อปนี้ สามารถนำไปออกแบบหรือปรับปรุงสินค้าและบริการ อีกทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่จะรองรับกับความต้องการใหม่ของโลกหลังโควิด-19 ที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือทางรอด
“หัวใจหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่น คือ ‘การส่งมอบคุณค่า’ ที่จะทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การเลือกวัสดุ (raw material) ไปจนถึงปลายทางของการผลิต (end of life)” นางสาวกมลนาถ กล่าว
นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสใกล้ปีใหม่ คุณอุ้ง จึงชวนทุกคนมาตั้งปณิธานในการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านแฟชั่นในปี 2021 ซึ่งกำลังจะเป็นปีแห่งการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วย 5 เช็คลิสต์ง่ายๆ ดังนี้
1. ชั่งใจว่าสิ่งที่กำลังจะซื้อ จำเป็นจริงหรือไม่ - แน่นอนว่าการลดปัญหาโลกร้อนจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ดีที่สุดคือ การไม่เพิ่มเสื้อผ้าใหม่ๆ ในตู้ ที่สักวันจะกลายเป็นของเสียที่ถูกทิ้ง หรือหากว่าอยากซื้อเสื้อผ้าใหม่จริงๆ อาจจะต้องกลับมาคิดให้มากยิ่งขึ้น ว่ามันจำเป็นจริงๆ และเราจะใช้มันอย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่
2. กำหนดลิมิตตัวเองกับการซื้อเสื้อผ้า ในหนึ่งซีซั่น – ใครที่ไม่สามารถเลิกซื้อเสื้อผ้าได้จริงๆ วิธีนี้จะช่วยจำกัดปริมาณการซื้อเสื้อผ้าได้ โดยการทำสัญญากับตัวเองว่าในซีซั่นหนึ่ง จะซื้อเสื้อผ้าไม่เกินกี่ชิ้น
3. สร้างทางเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือแลกเสื้อผ้ากันใส่ เทรนด์ใหม่ที่ต้องรีบตาม! - นอกเหนือจากสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่น การผลักดันให้เกิดการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ (Creative consumption) ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือการแลกเสื้อผ้ากันใส่ ไปจนถึงการชวนกันมามิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้าเก่าๆ ให้ออกมาเป็นชุดใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องซื้อใหม่ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เราสนุกกับแฟชั่น ได้อย่างไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
4. มองคุณภาพการใช้งานที่ยาวนานต้องมาก่อนความทันสมัย - เพราะฟาสต์ แฟชั่น หรืออุตสาหกรรมแฟชั่นที่มาไวไปไว เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และด้วยความไวของกระแส ทำให้การผลิต การขนส่ง และจำหน่าย ต้องทำอย่างรวดเร็ว ในปริมาณมาก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคน และสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น การตัดสินใจซื้อที่คำนึงถึงคุณภาพ มาก่อนราคา และความทันสมัย จะช่วยยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้า และลดผลกระทบที่ฟาสต์ แฟชั่น ทำต่อโลกเราได้
5. สนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน – การสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น นอกจากจะทำให้เม็ดเงินกลับมาสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริง ยังเป็นการสนับสนุนกระบวนการผลิตขนาดเล็ก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากระบวนการผลิตของแบรนด์ใหญ่ๆ นอกจากนี้ การซื้อเสื้อผ้าในท้องถิ่น ยังเป็นอีกวิธีการสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมใกล้ตัวในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นฟูความมั่นคงและความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ บริติช เคานซิล ประเทศไทย โทร. 02-657-2211 และเว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th