การร่วมงานระหว่างเมซงกับ Younghee Suh ถ่ายทอดความงามของ Perlée
อีกครั้งกับการร่วมงานระหว่าง เมซงกับ Younghee Suh (ซู ยองฮี) บทรังสรรค์จากการถ่ายทอดความงามในอีกมุมมองใหม่ของ Perlée
อีกครั้งที่เมซงได้ร่วมงานกับ Younghee Suh (ซู ยองฮี) ศิลปินชื่อดังชาวเกาหลี มีอิสระเต็มที่ในการถ่ายทอดแนวคิดการออกแบบร่วมกับผลงานสร้างสรรค์ของเมซง เพื่อยกย่องคุณค่าความเป็นเลิศทางงานฝีมือของช่างทองอันก่อกำเนิดผลงานซึ่งครองตำแหน่งสัญลักษณ์แห่ง Van Cleef & Arpels ด้วยผลงานภาพถ่ายชุดใหม่ Younghee Suh (ซู ยองฮี) แสดงให้เห็นถึงไหวพริบทางการพลิกแพลงทักษะความชำนาญแขนงต่างๆ เบื้องหลังการสรรค์สร้างคอลเลคชันเครื่องประดับอันเป็นหนึ่งของเมซง นั่นคือแปรเล (Perlée) กับลูกปัดทองของงานออกแบบเครื่องประดับสไตล์นี้
Younghee Suh (ซู ยองฮี) กับ Van Cleef & Arpels
ในฐานะพันธมิตรผู้ผูกพันกับ Van Cleef & Arpels มายาวนาน Younghee Suh (ซู ยองฮี) จึงคุ้นเคย และเข้าใจในค่านิยมต่างๆ ตลอดจนเรื่องราวที่ดำเนินไปในอาณาจักรของผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีระดับตำนานแห่งนี้อย่างลึกซึ้ง ครบครันในทุกแง่มุม ความอ่อนช้อย ละเอียดลออ และงามสง่าในผลงานของเธอ ช่างกลมกลืนกับอัตลักษณ์ของเมซงได้อย่างลงตัว
ในปี 2018 เครื่องประดับสัตว์คู่รักจากคอลเลคชันเครื่องประดับชั้นสูง “เรือของโนอาห์” หรือ L’Arche de Noé racontée par Van Cleef & Arpels ได้ถูกนำเสนอผ่านงานจัดองค์ประกอบศิลป์สุดวิจิตรบรรจง แต่ละภาพถ่ายล้วนแสดงถึงเรื่องราวความเกี่ยวพันกับศิลปะ และวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างแยบคาย ส่วนปี 2019 Younghee (ยองฮี) ได้ออกแบบ สร้างสรรค์ผลงานภาพชุด ซึ่งหลอมรวมมรดกรกรากความเป็นเกาหลี เข้ากับเครื่องประดับคอลเลคชัน มรดกประจำเมซงหรือ Heritage collection และในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ เธอได้ให้กำเนิดผลงานภาพถ่ายเครื่องประดับสัตว์นำโชคหรือ Lucky Animals ที่แสนน่ารักและอ่อนโยน กับบรรดาเข็มกลัดผีเสื้ออันงามสง่า จินตนาการของเธอนำไปสู่งานออกแบบฉากหลังรองรับเครื่องประดับเหล่านี้ ด้วยการใช้งานฝีมือกระดาษฮันจิ (กระดาษหัตถศิลป์พื้นบ้านเกาหลี ทำจากเนื้อในของเปลือกไม้ต้นหม่อน) ร่วมกับดอกไม้งานฝีมือตามธรรมเนียมดั้งเดิมของเกาหลี และงานภาพวาด มอบบรรยากาศของเครื่องประดับมีชีวิตท่ามกลางพงไพรธรรมชาติได้อย่างแยบคาย
และนี่เป็นผลงานลำดับที่สี่ ซึ่งเธอใช้มุมมองศิลปะเฉพาะตัวในการตีความเครื่องประดับ และถ่ายทอดผ่านงานภาพเพื่อเล่าเรื่องราวของคอลเลคชันเครื่องประดับอันถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมซง
การร่วมงานครั้งใหม่เพื่อยกย่องความเป็นเลิศให้แก่งานฝีมือของช่างทอง
“สำหรับการร่วมงานกับ Younghee Suh (ซู ยองฮี) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ภาคพื้นเกาหลีในครั้งใหม่นี้ Van Cleef & Arpels ต้องการยกย่องความเป็นเลิศให้แก่ไหวพริบของการใช้ทักษะ ความชำนาญสองแขนง ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ทางงานออกแบบสร้างสรรค์ประจำเมซง นั่นก็คืองานสลักลาย guilloché (กวิโญเช) และงานลูกปัดทอง Younghee Suh (ซู ยองฮี) ได้จัดการถ่ายทอดรายละเอียดสำคัญในการก่อประกายสุกสว่างเป็นเงางาม และทรวดทรงโค้งเว้าของแต่ละเทคนิคได้อย่างน่าทึ่ง”
Nicolas Bos (นิโคลาส์ บอส), ประธาน และหัวหน้าคณะกรรมการผู้บริหาร Van Cleef & Arpels
งานประดับเลอค่ากับหินกรวด
ในฐานะส่วนหนึ่งของมรดกทางการออกแบบ และลูกเล่นการตกแต่งประจำ Van Cleef & Arpels มานับแต่ทศวรรษ 1920 ลูกปัดทองเติมความอ่อนโยน และประกายเงางามให้แก่ผลงานเครื่องประดับรุ่นต่างๆ ของเมซงมาอย่างต่อเนื่อง
นับจากปี 1948 เป็นต้นมา บรรดาลูกปัดทองคำเหลืองอร่ามถูกนำมาใช้ในการตกแต่งเครื่องประดับมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ, ต่างหู, สร้อยข้อมือ และนาฬิกาข้อมือในคอลเลคชัน “คูส์คูส์” (Couscous collection)
สำหรับทศวรรษ 1960 ในระหว่างที่เครื่องประดับ “สายเกลียว” หรือ Twist อาศัยการร้อยลูกปัดทองร่วมกับหินรัตนชาติ หรือหินปะการังเป็นสายยาวแล้วฟั่นเกลียวขึ้นรูปทรงเป็นโครงสร้างตัวเรือนหลัก เครื่องประดับ อัลลองบรา (Alhambra) ก็ทวีความงามสง่าด้วยการใช้ลูกปัดทองเหล่านี้เดินขอบตกแต่ง
ส่วนปี 2008 ลูกปัดทองสร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดความสุขเบิกบาน และความอ่อนช้อยแห่งอิสตรีผ่าน คอลเลคชัน “แปรเล” (Perlée collection) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมซง
หินและกรวดผิวเรียบต่างขนาด ต่างรูปทรง อาจถูกมองว่าเป็นวัตถุธรรมชาติที่แสนดาษตา ทว่า Younghee (ยองฮี)กลับเผยความเลอค่าของกรวดหินเหล่านี้ด้วยการใช้เป็นบทสะท้อนถึงเส้นสายโค้งมนของลูกปัดทองแปรเล
“รายละเอียดสำคัญของเครื่องประดับแปรเลอยู่ที่การใช้ลูกปัดทองขนาดเล็ก ซึ่งผ่านการขัดผิวเรียบเนียนจนขึ้นเงาเป็นจำนวนมาก ฤดูร้อนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปยังชายหาดมงด็อลบนเกาะกอเจ ที่นี่เต็มไปด้วยเม็ดกรวดผิวเรียบ ต้องแสงอาทิตย์อัสดงทอประกายเงางามวามวาวราวกับลูกปัดทองยามที่น้ำทะเลสาดซัดเข้าฝั่งคอลเลคชันเครื่องประดับแปรเลทำให้ดิฉันนึกถึงทัศนียภาพความงามของพื้นกรวดบนชายหาดแห่งนั้นในทันที
สำหรับศิลปินเอเชียนแล้ว กรวดหินในธรรมชาติถือเป็นวัสดุยอดนิยม คงเพราะกรวดหินเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกสงบสุข ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ดิฉันได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากผลงานศิลปินวิดิโอ ปาร์กฮยอนกี ที่ใช้ก้อนกรวดกระจัดกระจายอยู่ในงานชุด “แมนดาลา” (Mandala series) รวมถึงหอคอยก้อนกรวดในผลงานอื่นๆ อีกหลายชิ้นของเขา
ดิฉันอาศัยแรงบันดาลใจจากงานศิลปะของฮยอนกี และตัดสินใจวางเครื่องประดับแปรเลลงไปบนหินกรวดที่ดูเหมือนสงบนิ่ง เยือกเย็นเหล่านี้ ลูกปัดทองเจ้าของทรวดทรงโค้งมน กลมกลึง ทอประกายสุกสว่างตัดกับกรวดหินผิวเนียนที่พระแม่ธรณีบรรจงสร้าง และขัดเกลา ทว่าทั้งสองกลับอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เป็นสัมพันธภาพอันควรค่าแก่การยกย่อง”