5 พฤติกรรมที่ควรหยุด หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไต
ทราบหรือไม่ว่าบางพฤติกรรมที่เราทำกันเป็นประจำทุกวัน มีผลต่อการเป็นโรคนิ่วในไตได้ ซึ่งโดยปกติแล้วโรคนิ่วสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การดำเนินชีวิต การทานอาหาร รวมทั้งระบบการเผาผลาญภายในร่างกาย แต่วันนี้เราขอนำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในไตมาแบ่งปันให้สาวๆ ได้ทราบ จะมีอะไรบ้างนั้นตามไปอ่านพร้อมๆ กันเลยค่ะ
นิ่วในไต คืออะไร
นิ่วในไตคือโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของสารชนิดต่างๆ ที่อยู่ในปัสสาวะ จนสารเหล่านั้นกลายมาเป็นผลึก เมื่อเกิดการสะสมนานๆ ก็จะทำให้เป็นก้อนนิ่วในที่สุด โดยจะอาศัยปัจจัยกระตุ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตีบแคบของทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่การที่มีสารชนิดนั้นๆ กรองมาในปัสสาวะมากจนเกินไป เช่น สารอ็อกซาเลต ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุหลากหลายชนิดด้วยกัน และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ รวมทั้งปัจจัยหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการทำให้เป็นนิ่วในไตดังนี้
1.ดื่มน้ำเปล่าน้อย
การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณน้อย ทำให้ปัสสาวะน้อยลง และส่งผลให้เกิดสารตั้งต้นในการเกิดนิ่วสะสมในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อมาก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในไตได้
2.ดื่มชาทุกวัน
การดื่มชาทุกวันไม่ว่าจะเป็นชาดำเย็น ชานม ชามะนาว หรือชาร้อน ก็ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วในไตได้เช่นกัน โดยเฉพาะการดื่มชาดำจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากชาดำเป็นเครื่องดื่มที่มีสารออกซาเลตในปริมาณที่สูงมาก เมื่อสารชนิดนี้เกิดการรวมตัวกับแคลเซียมก็จะกลายมาเป็นผลึกนิ่วได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ดื่มชาชนิดต่างๆ นานๆ ครั้ง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำเปล่าจะดีที่สุด
3.กินอาหารรสจัด
อาหารรสจัดโดยเฉพาะรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า หรือหน่อไม้ดอง จัดเป็นอาหารที่ส่งผลให้ไตทำงานหนักมาก และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย
4.กินเนื้อแดงและเครื่องในสัตว์
การทานเนื้อแดงและเครื่องในสัตว์ รวมทั้งดื่มเบียร์บ่อยเกินไป จะส่งผลให้เป็นนิ่วในไตได้ อีกทั้งยังเสี่ยงเป็นนิ่วยูริก ซึ่งเกิดจากการทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ส่งผลให้ร่างกายเกิดการสะสมของกรดยูริก สำคัญไปกว่านั้นก็คือกรดยูริกยังทำให้เป็นโรคเก๊าท์ได้อีกด้วย จึงแนะนำให้สาวๆ หลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทนี้ เพราะช่วยลดความเสี่ยงทั้งการเป็นโรคนิ่วในไต นิ่วยูริก และโรคเก๊าท์นั่นเอง
5.ไม่กินแคลเซียม
แม้ว่าองค์ประกอบโดยส่วนใหญ่ของนิ่วจะเป็นแคลเซียม แต่การทานแคลเซียมก็ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นให้เกิดนิ่วในไต ซึ่งตรงกันข้ามหากร่างกายได้รับแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ ก็จะยิ่งเร่งลำไส้ให้ดูดซึมแคลเซียมกลับเข้ามา ส่งผลให้เกิดนิ่วในไตตามมาได้ ดังนั้นจึงควรให้ร่างกายได้รับปริมาณของแคลเซียมในแต่ละวันให้เพียงพอ
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่เราได้กล่าวไปข้างต้นซึ่งมีส่วนต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วในไต ล้วนเป็นพฤติกรรมที่หลายคนทำกันเป็นประจำ และอาจจะยังคงทำมันอยู่ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว หวังว่าสาวๆ จะหันมาให้ความสำคัญกับโรคนิ่วในไตให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้ถูกต้องเป็นอันดับแรกเลยค่ะ