3 คำที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อต้องตอบคำถามเด็กๆ

3 คำที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อต้องตอบคำถามเด็กๆ

3 คำที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อต้องตอบคำถามเด็กๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ้านไหนที่มีเด็กเล็ก คงจะเคยประสบปัญหาเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยช่างซักช่างถาม บางคำถามก็ไม่รู้จะตอบลูกอย่างไรดีจนต้องตอบแบบปัดๆ ไป แต่คุณโองาวะ ไดสุเกะ นักการศึกษาชาวญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ผู้ใหญ่มักจะเผลอใช้คำที่ทำให้เด็กๆ หยุดเรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัว มีคำพูดอยู่ 3 ลักษณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยง 3 คำนั้นจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

ช่วยกันคิด ดีกว่าการยัดเยียดความรู้
ก่อนจะไปดู 3 คำที่ควรหลีกเลี่ยง เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบคำถามเด็กๆ กันก่อนนะคะ ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้ฉลาด การร่วมด้วยช่วยกันคิดย่อมดีกว่าการยัดเยียดความรู้ให้โดยที่เด็กไม่ได้คิดตาม เช่น “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” “หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร” หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวถามคำถามเหล่านี้ โดยการให้คิดตามว่า “ทำไม” เด็กๆ จะมีโอกาสใช้มันสมองของตนเองมากขึ้นและเติบโตเป็นเด็กที่ฉลาดได้โดยธรรมชาติ

 

แต่หากตอบคำถามเด็กๆ ด้วยคำว่า “ไม่รู้” การเรียนรู้ของเด็กก็จะหยุดเพียงแค่นั้น เพราะสิ่งสำคัญคือ เมื่อรู้แล้ว จึงหาคำตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การคิดหาคำตอบว่า “ทำไม” เป็นการค้นหาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ หรือก็คือการหาเหตุและผลในเรื่องต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กถามว่า “ทำไมท้องฟ้าตอนเย็นถึงเป็นสีแดง” ก็สามารถให้เหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า “แสงแบ่งได้เป็นหลายสี ทั้งสีแดง สีฟ้า สีเขียว แต่สีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด จึงสามารถส่องมาจากที่ไกลๆ ได้มากที่สุด ในอากาศมีทั้งไอน้ำทั้งฝุ่นที่รบกวนความยาวคลื่นของแสง แสงสีอื่นๆ จึงถูกตัดออกไป ทำให้เหลือแต่สีแดง” การตอบคำถามแบบนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถคิดตามหลักเหตุผลได้มากขึ้น


ทำให้คำถามของเด็กๆ กลายเป็นเรื่องสนุก

ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะคำถามทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น คำถามง่ายๆ จากเด็ก เช่น “ทำไมมื้อเย็นวันนี้ถึงมีปลาซันมะ” ผู้ใหญ่บางคนได้ยินแล้วอาจจะรู้สึกอิหยังวะ ถามทำไม รีบๆ กินเข้าไปเถอะ แต่อย่างที่กล่าวไป การคิดเชิงเหตุและผลเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรตอบด้วยเหตุผลว่า “เพราะตอนนี้เป็นฤดูของมันและราคาก็ถูกด้วย”

 

เมื่อตอบคำถามแล้ว เด็กๆ อาจจะสงสัยและถามต่อว่าทำไมในฤดูของมันจึงราคาถูก ทำให้เกิดเป็นบทสนทนาในครอบครัวได้ การคิดหาสาเหตุของเด็กๆ ก็ถือเป็นวิธีการคิดทางวิทยาศาสตร์ในตัวเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถทำให้คำถามของลูกเป็นเรื่องน่าสนุกขึ้นได้อีก อย่างการถามในเชิงชี้นำว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เช่น “ตอนนี้มีปลาซันมะ เราจะทำอาหารอะไรดี” ก็จะยิ่งทำให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างความต่อเนื่องของเรื่องราว
การสร้างความต่อเนื่องในเรื่องราว กล่าวคือเป็นการจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากเรื่องที่มีอยู่ ว่าจะสามารถเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง ตัวอย่างเช่น การเล่านิทานก่อนนอนเรื่องกระต่ายกับเต่า แทนที่จะเล่าเรื่องทั้งหมดแล้วจบด้วยคติสอนใจ ลองถามคำถามเพิ่มกับเด็กๆ ดูว่า “คิดว่าหลังจากนี้ กระต่ายกับเต่าจะเป็นอย่างไร” เด็กๆ อาจจะคิดคำตอบที่หลากหลาย เช่น “จะเป็นเพื่อนรักกันตลอดไป” หรือ “กลับมาแข่งกันอีกครั้ง” คำถามปลายเปิดจะทำให้เด็กๆ ได้สนุกสนาน ใช้จินตนาการ ใช้มันสมองสมมติเรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

เด็กๆ พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งพ่อแม่ก็อาจจะเผลอพูดคำบางคำออกไปโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำให้ลูกหยุดการเรียนรู้ และคำพูดเหล่านั้นก็คือ..

“ไม่รู้”
คงจะมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่คิดว่า อย่าถามในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะไม่รู้จะบอกคำตอบที่ถูกต้องได้อย่างไร แต่รู้ไหมคะ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องบอกคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่ารู้หรือไม่รู้ แต่คือกระบวนการในการหาคำตอบ แทนที่จะตอบแค่ว่า “ไม่รู้” ก็เปลี่ยนเป็น “งั้นเราไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่า” “ไปอ่านหนังสือด้วยกัน” พ่อแม่ก็จะได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้นด้วย

 

“ช่างมันเถอะ ทำเร็วๆ เข้า”
เมื่อลองคิดดูดีๆ คำพูดแบบนี้เป็นคำที่พยายามจะให้เด็กทำตามกำหนดเวลา หรือเพื่อความสะดวกของตัวพ่อแม่เองแม้ว่าเด็กกำลังสนใจบางสิ่งบางอย่าง เป็นการถ่ายทอดว่าพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจว่าตอนนี้เด็กกำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ และหยุดความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจของเด็กไปโดยปริยาย หากผู้ปกครองสามารถจัดตารางเวลาที่ผ่อนคลายเพื่อให้ตัวคุณเองได้พักผ่อน ก็อาจจะไม่ต้องพูดคำเหล่านี้กับลูกเลยก็ได้

“ไม่มีความหมาย”, “ไม่มีประโยชน์”
หลีกเลี่ยงการใช้คำเหล่านี้ให้มากที่สุดโดยเฉพาะเมื่อเด็ก ๆ ยังอยู่ในวัยเรียนรู้ จากมุมมองของผู้ใหญ่ แม้จะรู้สึกว่าสิ่งที่เด็กกำลังทำนั้นจะมีประโยชน์อะไร แต่สิ่งเหล่านั้นแหละที่จะช่วยขยายตัวตนที่อยู่ภายในตัวเด็ก ยกตัวอย่างเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบแมลงมาก มักจะนั่งอยู่หน้ากรงแมลงทั้งวันและวาดแมลงออกมาอย่างละเอียด คุณแม่ก็มักจะบ่นว่า “อยากให้เอาเวลาไปฝึกวิชาคณิตศาสตร์มากกว่า” แต่ก็ยังคอยดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วงๆ

 

หลังจากนั้นเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตขึ้น เขากลายเป็นคนที่ชื่นชอบทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แถมยังเก่งในการใช้คำศัพท์ต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความชอบแมลงในวัยเด็ก ทำให้กลายเป็นคนช่างสังเกตและมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละเรื่องได้ดี เราจะยังไม่รู้ว่าความสนใจของเด็กจะนำไปสู่อะไรในภายหลัง ดังนั้นจึงไม่ควรไปหยุดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ไม่ควรไปตัดสินจากมุมมองของผู้ใหญ่ว่า “ไม่สำคัญ” “ไม่มีความหมาย” “ไม่มีประโยชน์” เพราะเราอาจจะพลาดสิ่งสำคัญไปก็เป็นได้

การเลี้ยงเด็กเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย การเลี้ยงให้เติบโตมาเป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข ก็ไม่ง่ายเช่นกัน เด็กจะเติบโตไปเป็นคนแบบไหน ก็อยู่ที่การส่งเสริมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กนะคะ ^^

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook