เมนูอาหารลูกน้อย "ไข่หวานและซุปเต้าเจี้ยว" อร่อยแบบครบรส

เมนูอาหารลูกน้อย "ไข่หวานและซุปเต้าเจี้ยว" อร่อยแบบครบรส

เมนูอาหารลูกน้อย "ไข่หวานและซุปเต้าเจี้ยว" อร่อยแบบครบรส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

EP48 ไข่หวานและซุปเต้าเจี้ยว อาหารเช้าแบบญี่ปุ่นอร่อยแบบครบรส

ไข่ ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตไม่แพ้กัน โจทย์ติดตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กทานไข่วันละใบได้โดยที่ไม่เบื่อ วันนี้คุณแม่ปอม รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ เลยมาลงที่อาหารเช้าแบบญี่ปุ่นดูบ้าง ซึ่งจะประกอบไปด้วยไข่หวาน เสิร์ฟพร้อมกับซุปมิโซะอย่างง่ายๆ ไม่ต้องปรุงอะไรมากมาย ใช้อุปกรณ์เครื่องปรุงง่ายๆ ที่มีในบ้านได้

ในการทำอาหารของคุณแม่ ก่อนที่เราจะดัดแปลงสูตรอะไรเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเรา อย่างเวลาทำอาหารให้ลูกที่เน้นรสธรรมชาติและไม่หวานเพื่อสุขภาพที่ดีของเขา คุณแม่จะเริ่มจากไปศึกษาหาข้อมูลว่าแบบต้นตำรับเขาทำอย่างไร แล้วนำมาลองทำก่อน เมื่อทำแล้วเราจะรู้สาเหตุว่าเพราะอะไรเขาถึงต้องใส่เครื่องปรุงนั้นๆ จากนั้นเราถึงนำสูตรมาปรับให้เข้ากับรสชาติและรสสัมผัสที่เราอยากให้เป็นได้ถูกต้อง


สำหรับสูตรไข่หวานนี้ก็เช่นกัน คุณแม่ไปค้นหาสูตรที่เรียกได้ว่าดั้งเดิมที่สุดตามหลักของปรมาจารย์อย่าง อ.ชิซุโอะ ซึจิ ผู้เขียนตำรา Japanese Cooking A Simple Art (1980) สุดยอดตำราอาหารญี่ปุ่นที่คนรักอาหารควรต้องมีติดบ้านไว้ สูตรไข่หวานต้นฉบับของอาจารย์จะผสมน้ำซุปดาชิลงไปด้วยกับไข่ ปรุงรสด้วยเกลือ มิริน น้ำตาล แล้วก็ซีอิ๊วนิดหน่อย ไข่ที่ได้จะออกมาหนานุ่ม หวานเบาตรึงใจเด็กๆ ได้อย่างแน่นอน


สำหรับสูตรของริมาคุณแม่ดัดแปลงนิดหน่อย เพราะเราจะตัดใช้ความหวานจากน้ำตาลและมิรินที่ไม่มีอยู่ในตู้กับข้าวทั่วไปสักเท่าไหร่ โดยใช้น้ำผึ้ง (เป็นตัวให้ความหวานที่ปกติคุณแม่ใช้ปรุงแทนน้ำตาลทรายขาว เพราะน้ำผึ้งมีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ) และพริกหวานสีเหลืองที่มีวิตามินซีสูงมาแทนที่ คุณแม่จะซอยไส้กรอกเพิ่มรสเค็ม แล้วก็จะแอบใส่นมให้สาวที่ไม่ชอบนมอย่างริมาแทนน้ำซุปดาชิ เพิ่มพลังสมองด้วยผงเมล็ดแฟลกซ์ ส่วนอุปกรณ์ใครมีกระทะไข่ม้วนก็เตรียมงัดออกมา แต่ถ้าไม่มีใช้กระทะแบนธรรมดานี่ล่ะค่ะ คุณแม่ลองทั้งสองแบบแล้ว ใช้ได้เหมือนกันเป๊ะ


ส่วน มิโซะ หรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นนั้น นักเขียนเรื่องอาหารคนโปรดของคุณแม่อย่างคุณ M.F.K Fisher ได้เปรียบไว้ว่า “หากเปรียบมิโซะในอาหารญี่ปุ่นแล้ว มันคือเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้ เหมือนอย่างเนยของอาหารฝรั่งเศส น้ำมันมะกอกของชาวอิตาเลี่ยน” นอกจากประโยชน์ใช้ซอยที่มากโขแล้ว ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังระบุว่า การทานมิโซะหนึ่งถ้วย เท่ากับเราทานโปรตีนไปถึง 1ใน 6 ที่ร่างกายผู้ใหญ่ต้องการต่อวัน (บ้านไหนที่ขี้เกียจเคี้ยวเนื้อสัตว์หรือโปรตีนน่าจะฟังไว้) เรามาทำความรู้จักกับเจ้ามิโซะในเบื้องต้นด้วยการทำซุปมิโซะแบบง่ายๆ กันค่ะ

สำหรับซุปมิโซะแบบออริจินัล หรือที่เรียกกันว่า “มิโซะชิรุ” อ.ชิซุโอะ ซึจิ จะใช้น้ำซุปดาชิ ที่ได้จากการต้มสาหร่ายคอมบุกับปลาคัตสึโอะแห้ง ใส่มิโซะสีแดง แล้วก็ใส่เห็ดนาเมโกะ หรือจะใส่ เห็ดชิทาเกะสด (บ้านเราเรียกเห็ดหอม) พร้อมด้วยเต้าหู้ลงไป ซึ่งทำให้บ้านเรามักจะเรียกซุปแบบนี้ว่า “ซุปเต้าหู้” ไปโดยปริยาย

สำหรับซุปเต้าเจี้ยวของคุณแม่แบบลดทอน ก็เล่นกันง่ายๆ เลยค่ะ ตื่นเช้ามายังงัวเงียอยู่ น้ำสต๊อกปลาสาหร่ายไม่มี เราก็ใช้น้ำสุกหรือน้ำดื่มจากขวดนี่แหละค่ะ (ช่วงนี้งดใช้น้ำประปากันก่อนะคะ เพราะมันเค็ม) คุณแม่เลือกใช้มิโซะสีเหลืองที่ทำจากเมล็ดถั่วเหลืองหมักซึ่งใส่ตัวโคจิเข้าไปด้วย (โคจิ หรือ Aspergillus oryzae คือ เชื้อราที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ใช้ในการหมักอาหารต่างๆ) รสชาติก็จะเค็มน้อยออกหวานปะแล่มที่ปลายลิ้น คุณแม่เพิ่มรสชาติกลมกล่อมด้วยการต้มน้ำกับผักที่ให้ความหวานแบบง่ายๆ อย่าง หัวไชเท้า และแครอท ตบท้ายด้วยการโปรยต้นหอมซอยของโปรดลูกสาว เพียงแค่นี้เราก็จะมีบรรยากาศญี่ปุ่นในบ้านแล้วค่ะ ในการทำเราจะบริหารเวลาอันเร่งรีบตอนเช้าโดยทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันนะคะ ลองไปดูวิธีทำกันค่ะ


ไข่หวาน สำหรับเด็ก 2 คน

  • ไข่ 2 ใบ
  • นม ¼ ของปริมาณไข่
  • เมล็ดแฟลกซ์ป่น 1 ช้อนชา
  • ไส้กรอกอิบารากิ 1 ชิ้น
  • พริกหวาน ตามชอบ
  • น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา (ไม่แนะนำสำหรับเด็กต่ำกว่า 1ขวบ)
  • น้ำมัน (สำหรับ ทอด)
  • ซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น
  • น้ำสุก 2 ถ้วย
  • หัวไชเท้า 1/3 ถ้วย
  • แครอท 1/3 ถ้วย
  • ต้นหอมซอย ตามชอบ



วิธีเตรียม

ซอยหัวไชเท้าและแครอทเป็นเส้น การหั่นเป็นเส้นพวกเชฟในครัวจะเรียกว่า การหั่นแบบจูเลียน (Julienne Strips) นะคะ หั่นพริกหยวกและไส้กรอกเป็นเต๋าเล็กๆ จะได้ไม่ลำบากเวลาเราม้วน จากนั้นนำส่วนผสมไข่ทั้งหมดมาใส่ชามผสม ผสมและตีให้เข้ากันเบาๆ ไม่เอาฟองอากาศนะคะ เอาแค่ให้ไข่แดงกับไข่ขาวเข้ากันพอค่ะ

วิธีทำ

เริ่มจากตวงน้ำตั้งไฟใส่หม้อรอเดือด ระหว่างนั้นตั้งกระทะแบนธรรมดาทาน้ำมันบางๆ พอร้อนค่อยๆ เทไข่ลงตรงกึ่งกลาง ยกกระทะขึ้นมาเอนให้ไข่เสมอกันทั่วกระทะ พอไข่เริ่มสุกก็ม้วนจากขอบไปจรดอีกด้าน ทาน้ำมันเพิ่ม เทไข่ลงมาทำแบบเดียวกัน

ระหว่างรอไข่สุก น้ำในหม้อเดือด ใส่หัวไชเท้า แครทลงไป กลับมาที่เตาไข่ ทำซ้ำจนไข่หมดเป็นอันเสร็จ ตักขึ้นพักบนตะแกรงสักครู่ ก่อนนำไปตัด กลับไปที่หม้อซุปนะคะ พอหัวไชเท้าเริ่มใส เราจะใส่เต้าเจี้ยวลงไป คนให้เข้ากันรอเดือดอีกครั้งเป็นอันเสร็จ


วิธีรับประทาน

ตักข้าวสวย วางไข่ ถ้วยซุป เพิ่มเติมด้วยผักสลัดน้ำใสอีกหน่อย เมนูอาหารเช้าแบบญี่ปุ่นก็พร้อมเสิร์ฟค่ะ เราจะได้ความเค็มเบาๆ ของซุป มาชูรสไข่หวาน ตัดเลี่ยนด้วยผักสลัดน้ำใสรสอมเปรี้ยว คุณแม่ขอสรุปว่า ถ้าเราลองเสนออาหารที่มีครบรส อาจจะช่วยให้เด็กเจริญอาหารได้มากขึ้นค่ะ

พบกันใหม่เดือนหน้านะคะ ขอให้มีความสุขกับการเลือกทำอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการรับประทานอาหารของลูกน้อยในอนาคตค่ะ

(Rima’s Recipes เป็นสูตรอาหารของเด็กตั้งแต่หย่านมจนอายุครบ 1000 วัน โดยจะเน้นการปรุงรสโดยวัตถุดิบธรรมชาติ สมุนไพรและเครื่องเทศ แทนการใช้เกลือ น้ำตาลและซอสปรุงรสอื่นๆ โดยคุณแม่มีความตั้งใจหลัก คือ เนื่องจากในระยะดังกล่าวเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาเจริญเติบโตสูงสุด เราน่าจะสร้างความชอบเพื่อเป็นนิสัยในการรับประทาน ให้เขาจดจำในรสชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขาในอนาคตได้)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook