Atelophobia หรือโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบกับแนวทางรักษาที่ควรรู้

Atelophobia หรือโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบกับแนวทางรักษาที่ควรรู้

Atelophobia หรือโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบกับแนวทางรักษาที่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แน่นอนว่าความสมบูรณ์แบบคือสิ่งที่มนุษย์เรามักหวังให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่บางครั้งการคาดหวังให้เกิดความสมบูรณ์แบบในชีวิตที่มากจนเกินไป ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ หรือที่เราเรียกว่า Atelophobia วันนี้เราจึงนำสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้ พร้อมทั้งแนวทางการรักษามาแชร์ให้ได้ทราบกันค่ะ


Atelophobia คืออะไร
Atelophobia คือโรคชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง ซึ่งคำว่า Atelophobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Atelo แปลว่า ความไม่สมบูรณ์แบบ และคำว่า phobia แปลว่า ความกลัว จึงรวมกันหมายถึง อาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง


สาเหตุที่ทำให้เป็นโรค Atelophobia
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เป็นโรค Atelophobia มักมาจากความกลัวที่ฝังใจในวัยเด็ก รวมทั้งการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ที่ไม่ส่งเสริมการจัดการความรู้สึกด้วยตัวเอง หรืออาจจะส่งเสริมได้ไม่ดีพอ และมักเกิดกับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ญาติพี่น้องมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งครอบครัวที่คาดหวังกับลูกมากจนเกินไป และแม้แต่การอยู่ในสภาพสังคมที่มักมีการชิงดีชิงเด่นกันก็ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นและวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรคชนิดนี้ด้วยเช่นกัน


อาการของโรค Atelophobia
ในส่วนของอาการโรค Atelophobia นั้น ผู้ป่วยมักมีความวิตกกังวลในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่บ่อยๆ กลัวว่าสิ่งที่ทำนั้น ผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร และหากทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาจนผลลัพธ์ที่ได้ไม่ตรงตามที่หวังไว้ จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว และทำให้เกิดความเครียด จนส่งผลต่อการมีภาวะซึมเศร้าได้ สำหรับอาการโดยทั่วไปของโรคชนิดนี้ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนก็คือ มักวิตกกังวลอย่างรุนแรง หายใจสั้น หายใจหอบ และหายใจถี่ การเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะ เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดสมาธิ อยู่ไม่เป็นสุข ตัวสั่น อ่อนแรง ปวดหัว เก็บตัว และมักสูญเสียการควบคุมอารมณ์และการกระทำ


Atelophobia กับ 3 แนวทางรักษาที่ควรรู้
สำหรับการรักษาโรค Atelophobia รวมทั้งโรคกลัวหรือ Phobia ชนิดต่างๆ มีแนวทางการรักษาดังนี้



1.รักษาตามแนวทางการหยั่งเห็น
การรักษาตามแนวทางการหยั่งเห็นนั้น เป็นการรักษาที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง พยายามให้ผู้ป่วยได้เข้าใจและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งนี้เพื่อสามารถควบคุมและปรับปรุงความคิดและพฤติกรรมของตนเองได้ดียิ่งขึ้น


2.รักษาตามแนวทางพฤติกรรมบำบัด
การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้แนวทางการลดความกลัวด้วยเงื่อนไข วิธีการต่างๆ จะเป็นไปตามระบบ และเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความกลัว ทั้งนี้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะปรับใช้วิธีการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน


3.รักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก โดยอาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดาได้ยาก ดังนั้นแพทย์จึงใช้ยาจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการของโรคร่วมด้วยนั่นเอง


จะเห็นได้ว่าโรคทางจิตเวช ล้วนมีผลต่อการสร้างผลกระทบในการใช้ชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคดังกล่าวก็คือ การพยายามทำความเข้าใจให้ผู้ป่วยยอมรับการรักษาตามกระบวนการของจิตแพทย์ เพราะจะช่วยให้โรคดังกล่าวได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติได้โดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook