เมื่อลูกเป็นโรคแอลดี เลี้ยงอย่างไรให้มีความสุข
เด็กแอลดี อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ สายจินตนาการ สู่เส้นทาง นักเขียนนิยายออนไลน์
“เด็กทุกคนมีทางของตัวเอง หากเราเจอเขาได้เร็ว และรู้ชัดว่า เขาเป็นอะไร พ่อแม่หาทางช่วยอย่างถูกวิธี จากปัญหาที่คิดว่าหนักมันก็จะเบา เบาก็จะเป็นดี แม้จะเป็นเด็กแอลดี แต่ใครจะเชื่อว่า อเล็ก จะกลายเป็นนักเขียน มีโลกอีกใบที่เป็นโลกแห่งจินตนการอยากบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรแบบที่เราไม่คาดคิดว่า เด็กแอลดีจะสื่อสารได้ขนาดนี้”
ปัจจุบัน Learning Disabilities (LD) ความบกพร่องในการเรียนรู้ เริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากขึ้นในสังคมไทย แต่ก็ยังมีเด็กแอลดีจำนวนไม่มากนักที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างมีความสุข หนึ่งในนั้นคือ “อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” ที่วันนี้เติบโตเป็นหนุ่มน้อยวัย 15 ปี มีพัฒนาด้านอื่นๆ แทบไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป จะมีก็เพียงเรื่องการสื่อสารที่เป็นปัญหา หลายคงไม่คาดคิดว่าเด็กแอลดีที่มีสมาธิสั้นร่วมด้วยจะสามารถค้นพบเส้นทางความสุขของตัวเองจากการเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์
เปิดใจคุณแม่เมื่อค้นพบลูกเป็นเด็กแอลดี
“โสภี ฉวีวรรณ” คุณแม่ของอเล็กเล่าว่า ค้นพบว่าอเล็กเป็นเด็กแอลดีตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบ หรือเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ซึ่งก่อนหน้านั้นลูกเติบโตตามวัยเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่จากการสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดเริ่มเห็นความแตกต่าง เช่น การพูดสลับคำ การเล่าเรื่องมีความสับสนลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ และพูดคำบางคำไม่ชัด จึงพาไปพบคุณหมอให้ตรวจวินิจฉัย และได้บทสรุปว่าอเล็กเป็นเด็กแอลดี แถมมีสมาธิสั้นร่วมด้วย
“วินาทีแรกนั้นรู้สึกเสียใจ แต่ก็ดีใจที่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ลูกอย่างตรงจุด โดยคุณหมอแนะนำให้ลูกเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือโรงเรียนที่ตอบรับลูกของเรา เพราะหากอเล็กยิ่งโตขึ้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารจะชัดเจนและอาจจะเป็นอุปสรรคกับการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม หลังจากคุณพ่อคุณแม่ได้ปรึกษาหารือกันเพื่อมองหาโรงเรียนที่เหมาะสม ซึ่งตัดสินใจให้อเล็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่ามีความเข้าใจเด็กแอลดีและบุคลากรมีความพร้อมในการดูแล จนถึงวันนี้อเล็กกำลังจะเรียนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นปีที่ 3 ซึ่งต้องขอบคุณทางโรงเรียนในความใส่ใจและการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กแอลดี”
“ครอบครัว” จุดเปลี่ยนสำคัญในการก้าวเดินสู่อนาคต
สำหรับอนาคตของ “อเล็ก” ต่อจากนี้ คุณแม่โสภีมองเส้นทางไว้ว่า เมื่อเรียนจบระดับการศึกษาภาคบังคับคือ ม.3 แล้ว อยากให้ลูกเรียนต่อสายอาชีพตามความถนัด หรือหากโรงเรียนสาธิตบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังเปิดกว้างสามารถให้เรียนต่อในระดับมัธยมปลายได้ ก็คงให้ลูกเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนแห่งนี้ นอกจากเรื่องเรียนแล้ว การเปิดโอกาสให้ลูกค้นหาสิ่งที่ชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณแม่ให้อเล็กได้มีโอกาสลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ 5 ขวบ เริ่มต้นด้วยการพาไปเรียนยิมนาสติก เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะเด็กแอลดีมักมีปัญหาในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อมือและขา พาไปเรียนเปียโนด้วยคิดว่าดนตรีจะทำให้ลูกมีสมาธิ พาไปเรียนร้องเพลงเพื่อให้มีพัฒนาการด้านการพูดการฟังและการออกเสียงให้ชัดเจน สร้างความรู้สึกสนุก ไม่ใช่เฉพาะการฝึกพูดกับคุณหมอเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเรียนคุมองคณิตคิดเร็ว เพราะเชื่อว่าการฝึกฝนทำซ้ำจะช่วยให้ลูกมีการคำนวณที่ดีขึ้น
นอกจากความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่แล้ว คนอื่นๆ ในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ เป็นโชคดีของอเล็กอีกเช่นกันที่ทุกคนล้วนยอมรับและช่วยกันประคับประคอง โดยเฉพาะ “น้องเอิน” กรกานต์ พุกะทรัพย์ น้องสาวที่วัยห่างกัน 3 ปี จะคอยช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงแบบบัดดี้เมื่อต้องไปโรงเรียน ทำหน้าที่คอยเตือนและตามงานกับเพื่อนๆ ที่เรียนห้องเดียวกับอเล็ก ซึ่งคุณแม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้เลี้ยงลูกทั้งสองคนคู่กัน จึงทำให้น้องเอินเป็นคนที่เข้าใจอเล็กมากที่สุด เป็นพี่น้องที่สนิทสนมกันจนเป็นเหมือนบัดดี้ ซึ่งความเป็นเด็กช่างซักช่างถามของน้องเอินถือเป็นตัวช่วยที่ดียิ่ง เพราะทำให้อเล็กต้องคุยและพยายามสื่อสารให้น้องเข้าใจ จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้พูด ฝึกให้คิดอย่างถูกต้อง
ค้นพบความชอบ มีโอกาสลงมือทำ จุดประกายก้าวสู่โลกจินตนาการ
ที่สำคัญน้องเอินยังเป็นผู้จุดประกายให้อเล็กก้าวสู่โลกจินตนาการโดยไม่รู้ตัว จากการเป็นเด็กชอบฟังนิทาน มักรบเร้าให้คนในบ้าน รวมทั้งพี่อเล็กเล่านิทานให้ฟังเสมอ และบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานกลับบ้านดึก หน้าที่เล่านิทานก็ตกเป็นของพี่ชายแม้การสื่อสารจะกระท่อนกระแท่น และสุดท้ายก็เป็นการแต่งนิทานขึ้นเอง ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของน้องสาวจึงต้องเล่านิทานที่แต่งขึ้นเองให้ฟังทุกคืน และจากจุดนี้ทำให้อเล็กฝึกคิด มีจินตนาการมากมายเกิดขึ้นในคลังสมอง จนอยากลองเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเอง นั่นคือ การเขียนนิยายบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น Joylada “จอยลดา” แอพฯ อ่านนิยายแชทรูปแบบใหม่ กับผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ที่มีคนติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเป็นผลงานจินตนาการของเด็กแอลดี
“ตอนอยู่ ม.1 มีเพื่อนชื่อโมชิเป็นติ่งการ์ตูนญี่ปุ่น ผมก็เลยสนใจดูบ้าง ทำให้นึกถึงตอนเล่านิทานให้น้องเอินฟัง เลยปรึกษาว่าอยากเขียนนิยายจะทำได้มั๊ย ก็ได้รับแนะนำให้เข้าไปเขียนที่แอพฯ จอยลดา ตอนเขียนครั้งแรกรู้สึกเหมือนเราก๊อปปี้คนอื่นมาก็เลยไม่ได้เผยแพร่ หลังจากนั้นด้วยความที่ชอบเล่นเกม ชอบดูการ์ตูนก็เอามาผสมผสานจินตนาการเป็นเรื่องใหม่คือ เปเปอร์ ฮาร์ท หรือหัวใจกระดาษ เขียนมาได้ 19 ตอนแล้ว คิดว่าคงมีต่อเนื่องอีกหลายตอนกว่าจะจบ ซึ่งการเป็นเด็กแอลดีก็มีอุปสรรคพอสมควรในการเขียนหนังสือ เพราะบางคำก็เขียนผิด สะกดไม่ถูก ต้องให้น้องเอินมาช่วยดูให้” อเล็ก เล่าถึงที่มาของการเริ่มเขียนนิยายออนไลน์
พร้อมทั้งบอกว่า “แม้ผมจะพูดเล่าเรื่องไม่ได้ แต่การบอกเล่าผ่านตัวอักษรผมทำได้ เนื่องจากค่อย ๆ คิดเก็บไว้ในสมองก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งง่ายกว่าการบอกเล่าผ่านคำพูด ตอนนี้ดีใจมากที่ค้นพบสิ่งที่เราชอบและมีโอกาสลงมือทำ ตอนนี้ชีวิตมีความสุขกับการเล่นเกม ดูการ์ตูนและเขียนนิยายบอกเล่าจินตนาการของเรา ฝากถึงเพื่อนที่เป็นเด็กแอลดีว่าการจะมีความสุขได้ต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ค้นให้พบว่าความสุขของเราคืออะไร จริง ๆ ผมอยากวาดการ์ตูนด้วย แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง การเขียนนิยายน่าจะเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกว่า”
ขณะที่คุณแม่โสภีทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กแอลดีก็คือ ต้องไม่อายใคร เพราะหากไม่ยอมรับก็เท่ากับเก็บลูกไว้ไม่ให้ได้รับการแก้ไข การที่ได้รู้เร็วและยอมรับจะเป็นโอกาสทำให้เด็กแอลดีเติบโตมาเป็นเด็กปกติได้เร็ว แม้จะรักษาไม่หาย แต่การที่ครอบครัวยอมรับและเรียนรู้ เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี จะทำให้ปรับพฤติกรรมเด็กได้เร็ว มีความพร้อมในการใช้ชีวิตในสังคมได้ดีขึ้น