เช็ก 5 สาเหตุใกล้ตัวที่ทำให้เกิดอาการหลงลืม สัญญาณอันตรายของโรคอัลไซเมอร์
เคยไหมที่อยู่ดีๆ ก็ลืมว่าชั่วโมงที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง หรือเคยมีพฤติกรรมลืมกุญแจ ลืมมือถือ หรือลืมกระเป๋าตังค์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องติดตัวอยู่เป็นประจำหรือไม่ หลายคนอาจจะมองว่าอาการเช่นนี้ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร เพราะใครๆ ก็หลงลืมได้ แต่หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ก็ย่อมเสี่ยงต่อการทำให้คุณเผชิญอาการขี้หลงขี้ลืม จนอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงนำสาเหตุใกล้ตัวที่มีส่วนทำให้เกิดอาการหลงลืม ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ไม่ยากมาฝากกันค่ะ
1.พักผ่อนไม่เพียงพอ
โดยปกติคนเราควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงติดต่อกัน เพื่อให้สมองสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่ายและขี้ลืมได้ ดังนั้นใครที่มักมีอาการหลงลืม ควรสำรวจตัวเองว่าในแต่ละวันใช้เวลาไปกับการนอนหลับพักผ่อนกี่ชั่วโมง และหากมีอาการนอนไม่หลับต่อเนื่องหลายวัน แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาต่อไป
2.สมองทำงานหนัก
การที่สมองทำงานหนักจนเกินไป ไม่เพียงแต่ส่งผลทำให้เกิดภาวะความเครียดเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความรู้สึกทางลบอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวิตกกังวลหรือเผชิญภาวะเศร้า ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลต่อความทรงจำเช่นกัน เนื่องจากเมื่อสมองทำงานหนัก จะส่งผลทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทมากกว่าปกติ และทำให้เกิดปัญหาด้านความจำ
3.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากนั้น เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการสูญเสียความจำชั่วขณะ เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อสมองในส่วนของฮิปโปแคมปัสที่มีความเกี่ยวข้องกับความจำ และอาจทำให้การทำงานของสมองในส่วนนี้ลดลง จนก่อให้เกิดอาการหลงลืมในช่วงที่กำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง
4.เป็นโรคและใช้ยาบางชนิด
โรคบางชนิดก็มีส่วนต่อการทำให้เกิดอาการหลงลืม เช่น โรคอ้วน เนื่องจากระดับไขมันในเลือดที่สูงนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของสมองที่ผิดปกติไปจากเดิม อีกทั้งยังส่งผลต่อความจำอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อการทำงานของสมองด้วยเช่นกัน เช่น ยาลดไขมันในเลือด หรือยาระงับประสาท เป็นต้น
5.ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยนั่นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ความจำเริ่มมีปัญหาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ทั้งนี้การดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ และเหมาะสมตามช่วงวัย เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ยังสามารถรักษาร่างกายให้เสื่อมช้าลงได้
สำหรับใครที่มักมีอาการหลงลืมบ่อยๆ หรือรู้สึกว่าอาการเริ่มเรื้อรัง ให้บอกตัวเองไว้ก่อนเลยว่านั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคทางสมอง อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นจึงควรรีบดูแลตัวเองให้ดี พร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการยิ่งแย่ลงได้