รู้ทันอาการตั้งครรภ์เป็นพิษ อันตรายใกล้ตัวที่คุณแม่ควรรู้
ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะต้องเผชิญกับอาการคนท้องในหลากหลายรูปแบบ และก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บางอาการก็ทำให้คุณแม่เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่านไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยก็คือ อาการตั้งครรภ์เป็นพิษ เนื่องจากเป็นอาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ต่อทั้งทารกและตัวคุณแม่เองด้วย มาลองดูสาเหตุ สัญญาณเตือน รวมทั้งการป้องกันของอาการนี้กันดีกว่าค่ะ
ภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษคือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งในขณะตั้งครรภ์นั้นคุณแม่จะมีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือ ขา และเท้า บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และตาพร่ามัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการชักและมีเลือดออกในสมอง และบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ในส่วนของอาการตั้งครรภ์เป็นพิษนั้นพบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 10 เลยทีเดียว
สาเหตุของภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษ
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษนั้นอาจจะยังไม่มีความแน่ชัด แต่ก็มีสมมติฐานที่อาจเกิดมาจากสาเหตุดังต่อไป
1.เกิดจากไข่ขาวรั่วออกมาหรือภาวะโปรตีนปะปนอยู่ในปัสสาวะ
2.เกิดจากการที่รกทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีสารบางชนิดกระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้คุณแม่เกิดความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
3.เกิดจากการฝังตัวของรกที่ผิดปกติ เนื่องจากรกไม่ได้ฝังตัวบริเวณผนังมดลูกอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงรกได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจนและขาดเลือด ดังนั้นเมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยก็จะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ครั้งละน้อย และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมานั่นเอง
สัญญาณเตือนของภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษ
มาถึงสัญญาณเตือนของภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษที่คุณแม่สามารถสังเกตและตรวจสอบตัวเองได้ในขณะตั้งครรภ์ก็คือ
1.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่คุณแม่ไม่ได้กินอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายบวมน้ำ
2.บวมบริเวณหน้าแข็ง เมื่อกดจะมีรอยบุ๋ม รวมทั้งเปลือกตาบวม และรู้สึกคับบริเวณนิ้วที่สวมแหวน
3.มีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูงขึ้น
4.ความดันโลหิตสูงและวัดได้ที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
5.มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครง
6.ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงและขนาดของท้องไม่ค่อยโตตามอายุครรภ์ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงมดลูกได้น้อยลง
วิธีป้องกันภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษ
สำหรับการป้องกันภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษนั้น สามารถทำได้ด้วยการตรวจคัดกรอง เพราะสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ได้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการเจาะเลือดและการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อที่จะสามารถดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก วิธีเหล่านี้สามารถป้องกันภาวะอาการตั้งครรภ์เป็นพิษได้ประมาณ 60% เลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าภาวะอาการตั้งครรภ์เป็นพิษนั้นมีความรุนแรงและอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์อย่างมาก ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการของตัวเองที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิดกันด้วยนะคะ