เปิดใจ 2 แม่ลูก "นุตธิดา ไชยวสุ – ปวีณ์ธิดา ประกายรุ้งทอง" เซเลบบริตี้นางฟ้าของเจ้าเหมียว

เปิดใจ 2 แม่ลูก "นุตธิดา ไชยวสุ – ปวีณ์ธิดา ประกายรุ้งทอง" เซเลบบริตี้นางฟ้าของเจ้าเหมียว

เปิดใจ 2 แม่ลูก "นุตธิดา ไชยวสุ – ปวีณ์ธิดา ประกายรุ้งทอง" เซเลบบริตี้นางฟ้าของเจ้าเหมียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อครั้งที่เจอกันรอบแรก สองแม่ลูกใจอารี ‘คุณเป๋า-นุตธิดา ไชยวสุ และคุณเฟอร์-ปวีณ์ธิดา ประกายรุ้งทอง’ เล่าให้ HELLO! ฟังว่าเลี้ยงแมวจรไว้ 16 ตัว ผ่านไป 2 ปี ในการเจอกันอีกครั้ง เธอทั้งสองกลายเป็นคุณแม่และพี่สาวคนโตของเหล่าน้องแมวจรกว่า 40 ตัวที่บ้าน บวกกับแมวจรอีกหลายสิบชีวิตที่อุปการะไว้นอกรั้ว 

“เราเห็นแล้วก็ดูดายไม่ได้หรอกค่ะ” คุณเป๋าเล่าให้ฟังขณะเดินตามจับ ‘น้องลัคกี้’ แมวจรตัวแรกของบ้าน ที่ไปเจอขณะคุณเฟอร์ บุตรสาว อยู่ชั้นประถม บัดนี้ น้องลัคกี้กลายเป็นแมววัย 15 ปี พุงย้วยเกือบแตะพื้น และคุณเฟอร์เรียนจบปริญญาโทด้านกฎหมายที่ University of California, Los Angeles แล้ว “ตอนนั้นเราไปเจอตอนรถจอดติดไฟแดง แล้วเห็นน้องเขาอยู่ตรงเกาะกลางถนน ยังเป็นลูกแมวอยู่เลยนะคะ ก็เลยลงจากรถไปอุ้มเขากลับมาบ้านด้วย ตรงนั้นมีรถแล่นผ่านเยอะแยะ ถ้าไม่เอาเขากลับมาก็อาจโดนรถชนได้” แม่แมวขี้ใจอ่อนเล่า 


จากลัคกี้ในวันนั้น ตอนนี้ที่บ้านของเธอมีแมวจรที่เลี้ยงไว้ 40 กว่าตัวแล้ว “มีแมวเข้ามาในชีวิตให้เราช่วยอยู่เรื่อยๆ อย่างน้องแมวตัวหนึ่งโดนตีที่หัว แล้วมีคนพามาที่คลินิก หมอเล่าให้ฟังว่า ถ้าอาการเขาดีขึ้น คนที่เอามาส่งเขาเลี้ยงไม่ไหว จะเอาไปปล่อยที่เดิม เลยบอกหมอว่างั้นเราจะเป็นคนดูแลเขาเอง หมอยังตรวจเจอว่าเขาท้องและเป็นลูคีเมีย พอเขาคลอด ลูกเลยตายหมดค่ะ และบางตัวก็เจอหลังบ้านเราเองซึ่งเป็นโรงพยาบาลของคน เขาไม่ค่อยชอบสัตว์ ครั้งหนึ่งแม่บ้านของโรงพยาบาลจับแมวแม่ลูกได้ เพราะโดนกินยาให้หลับไป ตัวแม่ได้ยา ตัวลูกที่กินนมแม่เลยได้รับยาไปด้วย เราก็ช่วยเขาไว้ทั้งแม่ลูกค่ะ บางคนก็เจอแมวจรไปคลอดลูกที่บ้านเขา เขาก็เอาลูกแมวสอดใต้ประตูบ้าน หวังจะให้เราเลี้ยงไว้ แมวพิการที่บ้านก็มีอยู่ตัวหนึ่งชื่อน้องเปปเปอร์ ขาหน้าสองข้างเขาจะงอเป็นตัวรูปตัวแอลหันเข้าหากัน เขาเคลื่อนตัวได้ช้าหน่อย แต่เดินได้ ที่น่าสงสารที่สุดคือแมวโดนทำร้าย เห็นบ่อยเลยบางตัวโดนน้ำร้อนราด โดนสาดน้ำมัน ใจร้ายมาก ไม่ช่วย ไม่ชอบ ก็ไม่ต้องทำร้ายก็ได้”  

น้องลัคกี้ แมวตัวแรกในชีวิตที่เก็บได้น้องลัคกี้ แมวตัวแรกในชีวิตที่เก็บได้
แม้กระทั่งไปเยี่ยมคุณเฟอร์สมัยยังเรียนอยู่ที่ฮิวสตัน คุณเป๋าก็ยังไปช่วยแมวจร USA และนำตัวมาเลี้ยงที่ Thailand “ตอนนั้นเฟอร์ใกล้จะเรียนจบ ม.6 แล้วค่ะ ไปเจอแมวจรแถวบ้านเพื่อน แล้วแมวเดินตามคุณแม่คุณแม่เลยฝากเพื่อนเฟอร์ให้ช่วยดูแลให้ก่อน แล้ว

คุณแม่ก็ไปทำเอกสารเพื่อพาเขากลับเมืองไทย” แมว Made in USA ก็คือน้องมิจิและน้องมิวมิว  

“นอกจากแมวที่บ้าน แมวจรแถวบ้านเราก็เลี้ยงด้วย เราจะวางชามอาหารและน้ำไว้หน้าบ้าน ตัวไหนให้จับก็จะพาไปทำหมัน ตัวไหนเปรียวหน่อย ไม่ชอบอยู่บ้านกับคน พอทำหมันเสร็จ เราจะให้เขากลับไปอยู่ที่เดิม เพราะดูแล้วไม่อันตราย” คุณเป๋าพูดถึงภารกิจดูแลแมวให้ฟัง เลยถามต่อว่าแมว 40 กว่าตัวอยู่บ้านเดียวกันยังไง “ถ้าเป็นแมวพี่น้องกันหรือแม่ลูก เราจะทำบ้านให้อยู่ด้วยกัน แต่บางตัวอย่างน้องมิวมิว เขาเป็นโรคเอดส์แมว จะกินอาหารและน้ำปนกับแมวตัวอื่นไม่ได้ เราต้องแยกให้เขาอยู่ต่างหาก ส่วนแมวเป็นเบาหวานมี 3 ตัว ต้องกินอาหารเฉพาะสูตรเบาหวาน มี 2 ตัวที่ต้องฉีดอินซูลินทุกวันค่ะ มีบางตัวที่เราฝากเลี้ยงตามสถานที่รับฝากสัตว์ นอกนั้นเป็นแมวจรนอกบ้านที่ไม่อยากอยู่บ้านซึ่งเราจับทำหมันหมดแล้วค่ะ” 

 

ไม่ว่าจะไปที่ไหน พวกเธอจะมีสายตาไว้สอดส่ายมองหาแมวจรอยู่เสมอ บางครั้งก็ช่วยชีวิตไว้ได้ หากบางคราวความตายก็มาคร่าชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นไป “แมวตัวไหนที่ตายจากไป เราจะนำไปเผาและทำบุญให้เหมือนคนเลยค่ะ” คุณเฟอร์บอก 

คุณเฟอร์พูดเสริมคุณแม่ว่า “มีบางคนที่ชอบเล่นแมว ไม่ว่าจะเป็นแมวที่เลี้ยงที่บ้านหรือแมวจร แต่พอแมวป่วยก็ไม่พาไปรักษา ถ้าเราให้อาหารเขาแล้ว เล่นกับเขา เราไปทำให้เขารัก จนเขามองว่าเราเป็นเจ้าของไปแล้ว เราก็ควรจะดูแลรับผิดชอบ เพราะเขาก็อยู่ตัวคนเดียว เวลาเจ็บป่วยเขาก็พูดไม่ได้ เฟอร์เห็นหลายๆ คนเล่นแมวอย่างเดียว แต่เวลาป่วยก็ผลักภาระให้คนอื่น อย่างเช่นเราจะเห็นบ่อยๆ ที่ถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลขอระดมทุน แต่ไม่ยอมพาไปรักษา บางทีแมวป่วยมาก ใกล้จะตายอยู่แล้ว พาเขาไปหาหมอก่อนก็ได้ ถ้าเราต้องการให้คนช่วยจริงๆ ค่อยมาถามหาเงินช่วยทีหลัง บางคลินิกก็ยอมให้เราทำอย่างนั้นได้ แต่ถ้ายังไม่ได้พยายามอะไร ก็อย่าพูดเลยว่าตัวเองเป็นคนรักสัตว์ เท่าที่สังเกต คนที่เมืองนอกเขาชอบเก็บหมาแมวมาเลี้ยงและรู้ว่าต้องทำหมัน ทำวัคซีน”


คุณเฟอร์แพ้ขนแมว แต่เพราะรักแมวมากจึงยอมกินยาและฉีดวัคซีนภูมิแพ้อยู่เป็นปี จนความรักแมวเอาชนะอาการแพ้ได้ในที่สุด “คุณพ่อก็แพ้ค่ะ หมอเคยแนะนำว่าให้ยกน้องแมวให้คนอื่น คุณพ่อเลยบอกว่า งั้นเขากินยาแก้แพ้เอาแล้วกัน เพราะที่บ้านเราเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นลูก เหมือนเฟอร์เป็นลูกคนโตที่มีน้อง 40 กว่าตัว เฟอร์ยังพูดว่าคุณแม่รักน้องมากกว่าค่ะ

“การมีสัตว์เลี้ยงเราจะเพลินนะคะ สัตว์ก็มีความสุขด้วย เขาไม่เหงา เขาอายุสั้นกว่าเรา แต่ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตเขามีคนดูแลให้ความรัก ไม่ต้องไปนั่งทนหิวข้างนอก ต้องคอยหาอาหารกินไปวันๆ อย่างน้อยถ้าเราช่วยให้เขามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นตอนที่เขามีชีวิตอยู่มันน่าจะดีกว่า” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook