เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ปลอดภัยช่วงโควิด-19
สถานการณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ทำให้กลายเป็นช่วงเวลาที่ทรมานหัวใจที่สุดสำหรับคนต้องแยกกันอยู่กับคนรัก ครอบครัว เช่นเดียวกับ นาตาลี เจียรวนนท์ ภรรยาของ ฟลุค เกริกพล คุณแม่ป้ายแดงที่เพิ่งผ่าคลอดลูกสาว "น้องนาตาชา" ได้เพียงไม่กี่วัน แต่ก็ต้องแยกกับลูกเพื่อความปลอดภัย
"นาตาลี" ได้โพสต์ข้อความความรู้สึก เมื่อได้เจอลูก และแชร์ข้อมูลเมื่อคุณแม่ต้องให้นมลูกช่วงโควิดไว้
"กำลังใจของแม่ ดีใจมากหลังจากไม่เจอกันมาเป็นวันวันนี้ได้เจอได้อุ้มเป็นเวลา15 นาทีที่มีค่ามาก ได้ video call ให้พ่อเห็นหน้าหนูด้วยขอให้พ่อไม่เป็นไรมากนะ ตราบใดที่ผลยังเป็นลบทั้งคู่แม่จะมาเจอหนูได้วันละนิดก็ยังดี ขอให้ตรวจครั้งต่อต่อไปเป็นลบด้วยเถอะหนูจะได้ปลอดภัยและแม่จะได้มาเจอหนูได้อีก
หนึ่งความรู้ที่อยากแชร์คือน้ำนมต่อให้แม่เป็นโควิดก็สามารถเอาให้ลูกดื่มได้นะคะ น้ำนมแม่มีประโยชน์จะช่วยสร้างภูมิให้ลูกโดยปั๊มเก็บไว้ส่งให้ลูกทาน คุณพยาบาลบอกว่าหนูท่านเก่งมากเป็นพลังให้แม่ต้องแข็งใจกินเยอะเยอะจะได้มีน้ำนมให้หนูนะ *ทุกอย่างอยู่ในความดูแลของคุณหมอนะคะต่อให้ผลเป็นลบทั้งคู่ก็ต้องใส่ชุดมิดชิดรัดกุมป้องกันปลอดภัยที่สุดและจำกัดเวลา"
สำหรับคุณแม่ป้ายแดงในช่วงนี้ ควรดูแลตัวเองให้ดีเช่นกัน เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ นมแม่กับโควิด : ควรแยกแม่กับลูกหรือไม่ ? ไว้ดังต่อไปนี้
นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เนื่องจากพบหลักฐานจำนวนมากเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่ ทั้งในด้านโภชนาการ ภูมิคุ้มกันโรค และพัฒนาการทางสติปัญญา-อารมณ์ และที่สำคัญคือการช่วยส่งเสริมสายใยความรักความผูกพันที่ดีระหว่างแม่กับลูกผ่านการโอบกอดลูกไว้บนหน้าอก และได้สบตาลูกน้อยขณะที่ให้นมแม่
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คุณแม่อาจเกิดคำถามต่อไปนี้ว่าหากตนเองป่วยจากโรค COVID-19 จะส่งให้ตนเองต้องแยกจากลูกหรือไม่ สามารถให้นมลูกได้หรือไม่ และควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
เชื้อไวรัสโรค COVID-19 สามารถติดต่อไปยังลูกน้อยผ่านทางน้ำนมแม่หรือไม่?
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ผ่านทางน้ำนมแม่ พบเพียงรายงานที่ตรวจพบเศษซากของเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ในน้ำนมแม่ แต่ไม่ได้เป็นเชื้อไวรัสที่มีชีวิต ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดการติดโรค COVID-19 ในลูกที่กินนมแม่
สารภูมิคุ้มกันโรคในน้ำนมของแม่ที่ป่วยจากโรค COVID-19 สามารถป้องกันโรคในลูกน้อยได้หรือไม่?
ในปัจจุบัน พบรายงานการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ในน้ำนมแม่ที่เคยป่วยจากโรค COVID-19 แต่ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าสามารถป้องกันโรค COVID-19 ในลูกที่กินนมแม่ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าลูกที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในระยะ 6 เดือนแรก มีอัตราการเสียชีวิตจากโรค ปอดบวม โรคทางเดินอาหารอักเสบต่ำกว่าลูกที่ไม่ได้กินนมผสม 5-10 เท่า
ถ้าคุณแม่ป่วย หรือสงสัยว่าป่วยจากโรค COVID-19 คุณแม่ยังควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่?
กรณีนี้คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัดระหว่างอุ้มลูกเข้าเต้าเพื่อให้นมลูก ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ก่อนสัมผัสตัวลูกน้อย ระมัดระวังการไอหรือจามโดนหน้าอกของคุณแม่ การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่คุณแม่ได้ไปสัมผัส การทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมแม่ ภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์การป้อนนมทุกครั้งหลังจากใช้งาน หากคุณแม่มีอาการป่วยหนักจนไม่สามารถอุ้มลูกเข้าเต้าได้ ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องแยกแม่กับลูกไปก่อนชั่วคราว จนกว่าอาการป่วยของคุณแม่ดีขึ้นหรือพ้นระยะติดต่อของโรค ระหว่างที่ต้องแยกกับลูก ให้คุณแม่หาสมาชิกในครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรงมาเป็นผู้ช่วยดูแลทารก ร่วมกับใช้ทางเลือกอื่นในการให้ลูกได้กินนมแม่ เช่น การปั๊มนมแม่ แล้วป้อนให้ลูกดื่มด้วยแก้วหรือช้อนที่สะอาด หรือขอรับนมแม่จากธนาคารน้ำนม
การดูแลตัวเองของคุณแม่นั้นมีค่ายิ่งนัก เมื่อคุณแม่ดูแลตัวเองก็เป็นการดูแลลูกน้อยไปด้วยค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นะคะ
เรียบเรียง โดย : ผศ.พันโท นพ.ธานินทร์ พิรุณเนตร
ติดตามสาระดีๆ เพื่อคุณแม่ได้ที่ www.Thaibf.com
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือชุดทบทวนวรรณกรรม เล่มที่ 1 มีอะไรในน้ำนมแม่ และ เล่มที่ 2ทำไมเดือนแรกให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว โดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย