5 วิธีเฝ้าระวังภาวะ Over Feeding ในทารก ที่อาจส่งผลเสียได้มากกว่าอาเจียน
คุณแม่หลายท่านอาจจะทราบมาก่อนถึงภาวะ Over Feeding ที่เกิดขึ้นกับทารก ซึ่งอาการของภาวะนี้จะแสดงออกในหลายรูปแบบ เช่น มีเสียงร้องคล้ายเสียงแพะในขณะที่กำลังนอน มีเสียงครืดคราดในลำคอ ซึ่งเป็นเสียงของนมที่ล้นออกมาถึงคอหอย อาเจียนบ่อย แหวะนมออกทั้งทางปากและทางจมูก และพุงกางซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำเต้าตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว เราจึงชวนให้คุณแม่มารู้จักถึงวิธีการเฝ้าระวังภาวะ Over Feeding กันค่ะ
1.ให้ปริมาณนมที่เหมาะสม
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Over Feeding คุณแม่ควรให้นมลูกในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติแล้วทารกที่กินนมแม่นั้น มักมีความต้องการกินนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ส่วนทารกที่กินนมจากขวดนม มักมีความต้องการกินนมในปริมาณ 60-90 มิลลิลิตรในทุกๆ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้คุณแม่ควรสังเกตน้ำหนักของทารกให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามตารางดังนี้
2.หยุดให้นมทันทีเมื่อลูกอิ่ม
เมื่อลูกกินนมอิ่ม คุณแม่ควรหยุดให้นมลูกทันที ซึ่งอาการที่ลูกมักแสดงออกเมื่อรู้สึกอิ่มก็คือ เบือนหน้าหนีหรือปัดขวดนมทิ้ง หรือแม้แต่ระยะเวลาในการดื่มนมที่นานกว่าปกติ คุณแม่ก็ควรหยุดให้นมทันที จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Over Feeding ได้
3.ให้ลูกกินนมเป็นเวลา
เชื่อว่าคุณแม่หลายคนมักให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดภาวะ Over Feeding ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรให้ลูกกินนมเป็นเวลา เพื่อที่คุณแม่จะสามารถประเมินปริมาณนมที่ลูกกินในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญการที่ลูกร้องไห้หรืองอแง อาจจะไม่ได้เกิดจากการหิวนมแต่อย่างใด ซึ่งคุณแม่จำเป็นที่จะต้องสังเกตให้ดี
4.เบี่ยงเบนความสนใจลูกเมื่อกินเยอะ
เมื่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกกินนมเยอะกว่าปกติ หรือรู้สึกว่าปริมาณของนมที่ลูกกินเข้าไปนั้นมากจนเกินไป แนะนำให้คุณแม่ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจลูกทันที อาจจะใช้วิธีการอุ้มลูก ใส่เปลไกว หรือจะให้ลูกใช้จุกหลอกแทนก็ได้เช่นกัน แต่วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อลูกกินนมเยอะนั้น จะต้องใช้แค่ในช่วงที่ลูกมีอายุ 3-4 เดือนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ลูกติดการกินนมเยอะจนเป็นนิสัย
5.ประเมินอุจจาระของลูก
การประเมินอุจจาระของลูกก็คือหนึ่งในวิธีการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้ลูกเกิดภาวะ Over Feeding ซึ่งในแต่ละวันลูกควรอุจจาระให้ครบ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งปริมาณอุจจาระของลูกควรมีความกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร หรือปัสสาวะครบ 6 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากลูกอุจจาระหรือปัสสาวะมากกว่านี้ ก็หมายความว่าลูกเข้าสู่ภาวะ Over Feeding แล้วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการให้นมลูกนั้นถือเป็นบทเรียนสำคัญและมีความยากมากสำหรับคุณแม่ทุกคน โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับความกังวล ความเหนื่อย และมีอาการระบมเต้า รวมทั้งภาวะ Over Feeding ที่มักเกิดในช่วงที่ทารกมีอายุเข้าสู่ 3-4 เดือนแรก ซึ่งถือเป็นช่วงที่ทารกกำลังเข้าสู่การปรับตัวนั่นเอง