5 เรื่องต้องรู้ เมื่อแม่ท้องออกจากงานประจำ จะได้ไม่เสียสิทธิ์

5 เรื่องต้องรู้ เมื่อแม่ท้องออกจากงานประจำ จะได้ไม่เสียสิทธิ์

5 เรื่องต้องรู้ เมื่อแม่ท้องออกจากงานประจำ จะได้ไม่เสียสิทธิ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิทธิตามกฎหมายไม่เพียงคุ้มครองเฉพาะคนท้องที่มีงานทำเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปยังแม่ท้องที่ออกจากงานประจำแล้วอีกด้วย ดังนั้นมาดูกันสิว่าสิทธิอันพึงมีที่คุณแม่ควรรู้ มีอะไรบ้าง เพื่อคุณแม่เองจะได้ใช้สิทธิของตนเองและลูกน้อยได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

แม่ท้องออกจากงานประจำ ต้องรู้อะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน  และยังเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม เมื่อตัดสินใจลาออกจากงาน จะยังคงได้รับสิทธิต่างๆ จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1.เงินชดเชยจากการว่างงาน

เมื่อคุณแม่ออกจากการทำงานประจำ ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน  โดยจะได้รับสิทธิจากประกันสังคม เนื่องจากเหตุลาออกหรือสัญญาสิ้นสุดตามกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนในช่วงที่ว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น ถ้าคุณแม่ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 10,000บาท ก็จะได้รับเงินทดแทน 3,000 บาท โดยคุณแม่จะสามารถใช้สิทธินี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ส่วนเอกสารสำคัญที่ใช้เพื่อรับผลประโยชน์ในการว่างงานมีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
  • สำเนาบัตรประชาชน พร้อมต้นฉบับ
  • รูปถ่าย 1 นิ้ว 1รูป
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก


2.ค่าคลอดลูก

แม้ว่าจะลาออกจากงานประจำแล้ว แต่คุณแม่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ ในอัตราเหมาจ่ายที่จำนวน 15,000 บาทต่อครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกคลอดบุตรที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองเลือก เพียงแต่ต้องสำรองเงินของตนเองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเตรียมเอกสารมาเบิกที่สำนักงานประกันสังคมดังต่อไปนี้

  • เอกสารคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุดพร้อมต้นฉบับ (ถ้าคลอดบุตรแฝดต้องใช้เอกสารของทั้งคู่)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก
  • ในกรณีที่ให้คุณพ่อเป็นผู้มาเบิกค่าคลอดบุตร จำเป็นต้องแนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนกัน ก็ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีที่ไม่มีทะเบียนสมรสมาแทน


3.ค่าฝากครรภ์

ก่อนคลอดคุณแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งค่าฝากครรภ์นี้ หากออกจากงานประจำขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับสำนักงานประกันสังคม พร้อมกับค่าคลอดบุตรก็ได้ โดยเบิกค่าฝากครรภ์ได้สูงสุดจำนวน 1,500 บาท ซึ่งแบ่งการจ่ายเงินเป็น 5 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จะได้รับเงิน 500บาท
  • ครั้งที่ 2 มีอายุครรภ์ระหว่าง 12-20สัปดาห์ จะได้รับเงิน 300บาท
  • ครั้งที่ 3 มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20-28สัปดาห์ จะได้รับเงิน 300บาท
  • ครั้งที่ 4 มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28-32สัปดาห์ จะได้รับเงิน 200บาท
  • ครั้งที่ 5 มีอายุครรภ์มากว่า 32 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับเงิน 200 บาท


สำหรับเอกสารที่ใช้เบิกค่าฝากครรภ์ มีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • ใบเสร็จรับเงินค่าเข้ารับบริการฝากครรภ์
  • ใบรับรองแพทย์ หรือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กประจำตัวของผู้ตั้งครรภ์



4.สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39

เนื่องจากเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 จากการทำ งานประจำ และส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ซึ่งถ้าคุณแม่ยังต้องการอยู่ในหลักประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แทนได้ โดยทำการยื่นคำขอเข้ามาตรา 39 ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้น คือ ผู้ประกันตนสมัครใจที่จะจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 432 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับนั้น คือ ความคุ้มครองใน 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร และเสียชีวิต โดยสามารถนำเอกสารที่จะใช้สมัครมาตรา 39 มายื่นแก่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งได้ทั่วประเทศ ดังนี้

  • แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
  • บัตรประจำตัวประชาชน


5.เงินชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

ในกรณีที่คุณแม่ออกจากงานประจำก็ยังสามารถใช้สิทธิเงินชราภาพในกองทุนประกันสังคมได้ โดยคุณแม่จะได้รับก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเงินที่จะได้รับนี้มี 2 แบบขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ กล่าวคือ ถ้าส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปีจะได้รับเงินในรูปแบบของเงินบำเหน็จ แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 15 ปีจะได้รับเป็นเงินบำนาญทุกเดือน ซึ่งต้องใช้เอกสารในการยื่นรับเงินชราภาพดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้าน
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก


นอกจากนี้ถ้าคุณแม่ออกจากงานประจำ และสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 แทนแล้ว ก็ยังจะได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรในแต่ละเดือน เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกันตนในมาตรา 33 โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 600 บาท ต่อ 1 คน ซึ่งจะจ่ายให้กับทารกแรกเกิดจนกระทั่งเด็กมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ส่วนเอกสารที่ใช้ยื่นในกรณีเงินสงเคราะห์บุตร มีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01
  • สำเนาสูติบัตรบุตรพร้อมต้นฉบับ
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก


สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นำมาฝากคุณแม่นั้น ล้วนเป็นสิทธิที่ควรรู้เมื่อออกจากงานประจำขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหวังให้คุณแม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในส่วนของข้อสงสัยต่างๆ คุณแม่สามารถติดต่อโดยตรงกับสำนักงานประกันสังคม หรือที่เบอร์โทรสายด่วนประกันสังคม 1506 ได้เลยค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook