7 นิสัยเจ๋งๆ ที่บอกว่าคุณเป็นคนที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา

7 นิสัยเจ๋งๆ ที่บอกว่าคุณเป็นคนที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา

7 นิสัยเจ๋งๆ ที่บอกว่าคุณเป็นคนที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ดุเดือดขึ้น การรักษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของคนทำงานนับเป็นสิ่งที่ท้าทายคนทำงานอย่างมาก ทุกองค์กรกำลังวัดผลงานของคุณอยู่ตลอดเวลา และการที่คุณกำลังรู้สึกว่าถูกจับตามอง ถูกเพ่งเล็งนี้ ก็นำไปสู่ความวิตกกังวลได้

แล้วอะไรที่จำเป็นต่อการรักษาหรือเพิ่มขีดจำกัดของมาตรฐานการทำงานของคุณ คำตอบง่ายนิดเดียว คือการที่คุณจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าล้าหลังโลกหรือล้าหลังใคร เพราะความรู้ด้านทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้คุณอยู่รอดตลอดไป ตราบใดที่คุณก็รู้อยู่แค่ไหนแค่นั้น ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปทุกวัน

คนที่พร้อมที่จะพัฒนาอยู่ตลอดเวลา คือคนที่รู้ว่าอะไรคือข้อบกพร่องของตัวเอง อะไรคือช่องว่างที่ต้องไปหามาเติมให้เต็ม อะไรสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสัยที่ไม่ดีทั้งหลาย ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งกำจัดได้ยาก และกลายเป็นอุปสรรคปิดกั้นความสำเร็จอีก

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุณจะเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าต้องวางแผนการทำงานของตัวเองอย่างไร นี่คือ 7 นิสัยที่ถ้าคุณทำได้ จะสร้างความแตกต่างกับการทำงานและผลงานของคุณแน่นอน ซึ่งหากคุณนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณมีชีวิตการทำงานที่มีความสุขและได้ประสิทธิผลมากขึ้นด้วย

1. คุณรู้ว่าต้องวางแผนเป้าหมายประจำวัน
เตรียมพร้อมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งการเตรียมความพร้อมก็คือการวางแผนล่วงหน้า คุณต้องมีเป้าหมายในเช้าวันใหม่ รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในวันนั้น อาจกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ว่าวันนี้อย่างน้อยที่สุดงานนี้ต้องเสร็จ เริ่มแรกคุณไม่จำเป็นต้องเข้มงวดมาก จะได้ไม่เครียดจนเกินไป พอเริ่มชินค่อยปรับ ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ถึงเป้าหมาย อย่าเพิ่งรู้สึกแย่หรือกดดัน แค่พยายามให้มากขึ้น เพราะคุณจะเรียนรู้เองว่าการทำงานไม่เสร็จตามที่ตั้งเป้าไว้มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีเท่าไรนัก และอาจกระทบกับชีวิตส่วนตัวเมื่องานเร่งเข้ามา ถ้าคุณอยากให้ตัวเองสบายกายสบายใจคุณจะตั้งใจทำมันให้ดีเอง

2. พาตัวเองออกจาก Comfort Zone
คนเราจะไม่มีวันพัฒนาและไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ จากการทำสิ่งเดิม เดิมคุณอาจจะรู้สึกว่า Comfort Zone คือที่ที่อยู่แล้วอบอุ่นกายใจที่สุด และความอบอุ่นกายใจก็นำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำงาน แต่…มันเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะการทำแต่อะไรเดิม ๆ มันช่างน่าเบื่อหน่าย ความคิดตัน และไม่มีโอกาสได้มองเห็นโอกาสที่ลอยมาหาถึงหน้าประตู แต่ถ้าคุณก้าวออกมาจากโซนที่คุ้นเคย คุณจะได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ บรรยากาศใหม่ อัปเดตความเป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจช่วยสร้างไอเดียใหม่ ๆ วิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิม แน่นอนว่าผลลัพธ์ก็จะต่างออกไป

3. คุณรู้ว่าไม่ควรทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
เดิมคุณอาจคิดว่าการทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันมันทำให้ทุกอย่างเสร็จเร็ว และจะช่วยให้ก้าวหน้าเร็วขึ้น แต่นั่นคือความคิดที่ผิด เพราะการที่ไม่จดจ่อกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเลือกที่จะสลับไปสลับมาส่งผลเสียอย่างมากต่อคุณภาพของงาน เนื่องจากสมองของคุณต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวให้โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เปลี่ยนไปมาแบบนี้สมองคุณจะสับสนเอา อย่าหลงคิดว่านี่คือความสามารถพิเศษที่แปลว่าคุณเก่ง ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำเสร็จไปกี่งาน สิ่งที่สำคัญคืองานที่คุณทำเสร็จน่ะทำได้ดีแค่ไหนต่างหาก

4. คุณรู้ว่าต้องลงมือปฏิบัติถึงจะรู้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด
การมีความรู้ด้านทฤษฎีจะเปล่าประโยชน์ หากไม่รู้ว่าจะนำมันไปใช้อย่างไร เช่นเดียวกัน ต่อให้รู้ทฤษฎี รู้วิธีนำไปใช้ แต่ไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าทฤษฎีที่มีนั้นมันเอาไปใช้ได้จริงหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด ที่ไม่ใช่จากการคาดว่าหรือเดาสุ่มอย่างไร การทำให้ความคิด ซึ่งเป็นนามธรรมให้จับต้องได้ จะทำให้คุณเห็นภาพทุกอย่างชัดเจนในกระบวนการการทำงานตามขั้นตอนว่าจะทำอะไร พอทำเสร็จก็ต้องทดสอบว่าได้ผลจริงไหม หากไม่ได้ผลก็จะเห็นปัญหาที่ต้องตามแก้ไขกันในขั้นต่อไป ถ้าคุณติดนิสัยการทำงานแบบนี้ คุณจะมองว่างานต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก

5. มีวิธีที่จะโฟกัสกับงาน
การโฟกัสกับงานเป็นหนึ่งในสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก ไม่ง่ายที่จะดึงสมาธิตัวเองเข้าไปในจุดที่ถูกต้อง และไม่ถูกดึงให้เสียสมาธิได้ง่ายด้วย ซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องไม่เสียสมาธิไปเพียงเพราะเพื่อนร่วมงานเดินเข้ามาคุยงาน คำแนะนำเริ่มต้นที่อาจช่วยได้ เริ่มตั้งแต่ห้ามตัวเองไม่ให้เข้าไปในเว็บไซต์อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ปิดการแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ค่อยไปเปิดดูในเวลาพัก เปิดโหมดห้ามรบกวนในโทรศัพท์ เปิดไว้แค่การติดต่อฉุกเฉิน ใช้หูฟังเพื่อเข้าสู่โลกของตัวเอง หลีกเลี่ยงการเมาท์มอยในเวลางาน และเก็บรายละเอียดเวลาประชุมงานให้มากที่สุด

6. คุณรู้ว่าต้องแบ่งงานที่มีปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ
หากคุณเป็นคนที่ต้องแก้ปัญหานู่นนั่นนี่อยู่บ่อย ๆ จนกลายเป็นผู้ที่เจนจัดในเรื่องการแก้ปัญหา คุณจะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาโดยการแบ่งงานที่มีปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพราะจะทำให้คุณเห็นภาพชัดเจนกว่า และรู้ได้ทันทีว่าปัญหามันคืออะไร ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน จะได้แก้ได้ถูกจุด แล้ววิธีแก้ปัญหาก็จะตามมาเองด้วย ซึ่งวิธีนี้ง่ายกว่าการงมปัญหาจากภาพรวม ที่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มที่ตรงไหน ต้องไล่ดูไปถึงตรงไหน ทั้งยังอาจจะมองข้ามปัญหาที่เชื่อมโยงกันอยู่ก็ได้ กว่าจะเจอก็อาจจะเสียเวลาไปพอสมควร และทำให้การดำเนินการล่าช้าตามไปด้วย

7. ทำงานหนักแต่ต้องมีหยุดพัก
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนบ้างานหรือติดงานแค่ไหน แต่สมองคนเรามีขีดจำกัด หากคุณไม่พักเสียบ้าง ตัวคุณเองที่จะแย่ การลุกออกจากโต๊ะมาพักสัก 10 นาทีจะมีประโยชน์กับตัวคุณเองมากกว่าการดันทุรังทำต่อไปทั้งที่สมองไม่ไหวแล้ว งานเสร็จช้า หงุดหงิด และไม่มีประสิทธิภาพด้วย การหยุดพักช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วยลดความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ของสมอง กระตุ้นความจำ แถมยังได้เพิ่มพลังกายและสภาพจิตใจที่สดชื่นขึ้น แต่อย่าเพลิดเพลินกับการพักนานเกินไป ความขี้เกียจจะตามมา ซึ่งคุณจะรู้เวลาที่เหมาะสมของคุณเองว่าคุณจะพักได้นานแค่ไหน

ถ้าคุณพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุณก็จะรู้เช่นกันว่าอะไรที่ตัวเองต้องพัฒนา ซึ่งกว่าคุณจะพัฒนามาได้ถึงจุดนี้อาจต้องใช้เวลาสะสมประสบการณ์และฝึกฝน อย่างไรก็ตาม ถ้าทำได้ก็จะดีต่อการทำงานของคุณในระยะยาว ถ้าคุณตั้งใจคุณก็จะเห็นประโยชน์ได้ในไม่ช้า การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจะทำให้คุณมีจิตใจที่มั่นคงในการทำงานมากขึ้น ทำงานมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โลกแห่งการแข่งขันก็จะไม่น่ากลัวเท่าไรสำหรับคุณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook